วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > MAKRO บนยุทธศาสตร์ค้าปลีก CP

MAKRO บนยุทธศาสตร์ค้าปลีก CP

 
หากมองย้อนกลับไปนับตั้งแต่ MAKRO กลายเป็นข่าวใหญ่และ talk of the town จากการถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้ดีลที่มูลค่าสูงมากเป็นประวัติการณ์วงการธุรกิจไทยเมื่อกว่าหนึ่งขวบปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ข่าวคราวของ MAKRO ห่างหายไปจากการนำเสนอในหน้าสื่อต่างๆ พอสมควร
 
ในด้านหนึ่งเนื่องเพราะภาพลักษณ์และแนวคิดหลักของการขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนยุทธศาสตร์หลักของผู้นำองค์กรที่โดดเด่นและเข้มแข็งอย่างธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นด้านหลัก ขณะเดียวกัน MAKRO ยังต้องดำเนินการปรับโครงสร้างและจัดวางเข็มมุ่งใหม่ให้แหลมคมและสอดรับกับเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ไปด้วยในคราวเดียว
 
การเปิดตัวฉลองครบรอบ 25 ของสยามแม็คโคร เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเป็นประหนึ่งการประกาศตัวและตอกย้ำแนวทางการรุกรบครั้งใหม่ในธุรกิจค้าปลีกไทย ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในมิติของการเพิ่มจำนวน outlet ในลักษณะของการเพิ่มจำนวนสาขาอีกต่อไป หากหมายรวมลึกซึ้งไปถึงทุกช่องทางการจำหน่าย ที่ยังเปิดกว้างให้เข้าครอบครองด้วย
 
การต่อสู้แข่งขันในสมรภูมิค้าปลีกไทย ไม่เพียงแต่จะอุดมด้วยข่าวความเคลื่อนไหวเปิดตัวสถานที่ตั้งของสาขาที่ขยายไปใหม่เท่านั้น หากยังอุดมด้วยวิสัยทัศน์ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์ทางธุรกิจให้เข้าสู่บริบทใหม่ ที่มีความหนักหน่วงรุนแรงและส่งผลกระเทือนต่อทุกระนาบในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย
 
ตลอดปี 2013 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ของธนินท์ เจียรวนนท์ ได้วางเข็มมุ่งที่จะปักหมุดและครอบครองพื้นที่สำหรับการขยายอาณาจักรค้าปลีกของกลุ่มซีพีไว้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรุกของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ทุ่มทุนกว่า 188,000 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นแม็คโครจากกลุ่มบริษัท เอสเอชวี โฮลดิ้ง เอ็นวี (เอสเอชวี) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และบริษัทในเครือเมื่อช่วงต้นปี 2013
 
กรณีดังกล่าวถือเป็น “จิ๊กซอว์” ตัวสำคัญของธนินท์ เจียรวนนท์ ในการขยายอาณาจักรธุรกิจอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ “ซีพี” อย่างครบวงจรโดยเฉพาะการปรับกระบวนทัพยึดทุกช่องทางค้าปลีก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจำนวนมหาศาล
 
แม้วงการค้าปลีกมองดีลครั้งนี้เป็นการลงทุนที่แพงมาก แต่สำหรับซีพีถือเป็นการลงทุนที่สามารถต่อยอดหลายชั้น เนื่องจากเป็นทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบครอบคลุมตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า การแปรรูปเนื้อสัตว์ เนื้อดิบๆ กึ่งปรุงสุก ปรุงสุก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และการเปิดหน้าร้าน ทั้งร้านค้าปลีกและร้านอาหาร
 
การซื้อหุ้นแม็คโครจึงเท่ากับการขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการให้ซีพีทันที เฉพาะในประเทศไทยเกือบ 3 ล้านคน ยอดขายมากกว่า 100,000 ล้านบาททันที ไม่รวมตลาดต่างประเทศ ซึ่งสามารถขยายสาขาภายใต้แบรนด์ “แม็คโคร” ได้ทันที เป็นการแก้ปัญหาการขอไลเซนส์กับ “เซาท์แลนด์” บริษัทแม่เซเว่น-อีเลฟเว่น ที่ดูเหมือนต้องรอเวลาอีกนานหลายปี
 
ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าวก็คือ ก่อนหน้าที่จะมีการตกลงซื้อขายในดีลนี้ บริษัทแม่แม็คโคร ตั้งบริษัทที่ปรึกษาเพื่อขายกิจการแม็คโครในประเทศไทย มีการติดต่อทาบทามผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย ทั้งซีพี เครือเซ็นทรัลของกลุ่มจิราธิวัฒน์ เบอร์ลี่ยุคเกอร์ของเจริญ สิริวัฒนภักดี และบิ๊กซีที่มีบริษัท Casino Guichard-Perrachon ประเทศฝรั่งเศส ถือหุ้นร่วมกับกลุ่มจิราธิวัฒน์
 
ความเคลื่อนไหวก่อนหน้าที่จะมีการปิดดีล ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้สันทัดกรณีต่างพุ่งเป้าไปที่ “บิ๊กซี” เนื่องจากแนวทางการขยายธุรกิจต้องการบุกทุกช่องทางการจำหน่ายและเครือเซ็นทรัลเพิ่งซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” จากบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่น กระโดดเข้าสู่สงครามคอนวีเนียนสโตร์ ท้าทายผู้นำตลาดอย่าง “เซเว่น-อีเลฟเว่น” อย่างร้อนแรง
 
ดีล “แม็คโคร” จึงมีนัยสำคัญที่ดูเป็นประหนึ่งบทเริ่มต้นของสงครามครั้งใหม่ในสมรภูมิค้าปลีกไทย ที่ไม่เพียงแต่จะต้องมีสายป่านและเม็ดเงินหนาแน่น หากแต่ยังต้องประกอบส่วนด้วยโครงข่ายสายสัมพันธ์เป็นปัจจัยในการประกอบกิจการด้วย
 
แต่แล้วผู้สันทัดกรณีตัวจริงเสียงจริงก็ปรากฏ เมื่อธนินท์ เจียรวนนท์ ใช้สัมพันธ์อันแนบแน่นกับอดีตประธานเอสเอชวีที่เคยให้สัญญากันไว้ว่า หากแม็คโครต้องการขายหุ้นหรือกิจการให้นึกถึงซีพีออลล์เป็นรายแรก และทำให้ “แม็คโคร” ถูกผนวกเข้ามาอยู่ในอาณาจักรธุรกิจแสนล้านของซีพี เฉือนชนะคู่แข่ง ชนิดที่หลายฝ่ายประเมินว่านี่คือปฏิบัติการกินรวบตลาดโชวห่วย กวาดยอดขายมากกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ยักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัลที่มีเครือข่ายหน้าร้านไม่แพ้กัน คงไม่อยู่เฉย ปล่อยชัยชนะในสงครามค้าปลีกรอบใหม่ไปง่ายๆ แน่
 
แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะประสบกับภาวะถดถอยและเป็นขาลงที่อาจดำเนินต่อเนื่องยาวนาน แต่สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกไทย การแข่งขันในสมรภูมินี้คงไม่มีใครยอมถอยให้กับใครอย่างแน่นอน และกำลังทำให้ปี 2014 เป็นปีที่ธุรกิจค้าปลีกไทยมีสีสันมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
 
เป็นการแข่งขันเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อและส่วนแบ่งการตลาดที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อการต่อยอดและหล่อเลี้ยงองคาพยพทางธุรกิจ ท่ามกลางวิกฤตที่รอคอยอยู่รอบด้าน หากแต่ฝ่ายใดจะฝ่าพ้นสมรภูมินี้ไปได้ คงต้องรอการประเมินอีกสักระยะ เพราะมหาสงครามนี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
 
ธนินท์ เน้นย้ำผ่านทุกเวทีที่มีโอกาสแสดงทัศนะเสมอว่า “โลกเปลี่ยนแปลง เราต้องเตรียมใจและต้องเปลี่ยนแปลงตามโลกให้ทัน” ซึ่งแน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่อยู่ในความสนใจของธนินท์ ย่อมหมายถึง “มูลค่าธุรกิจ” ที่จะส่งผลต่ออนาคตและทิศทางของธุรกิจในเครือซีพีทั้งหมด
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาจากทัศนะว่าด้วย “ธุรกิจการเกษตรไปจนถึงธุรกิจอาหารสัตว์ และต่อยอดไปถึงธุรกิจอาหารมนุษย์ ทั้งหมดนี้จะเป็นธุรกิจที่จะอยู่คู่กับมนุษย์ ฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่ไม่มีมนุษย์ เมื่อนั้นธุรกิจซีพีถึงจะอยู่ไม่ได้” ซึ่งสะท้อนออกมาในเกือบจะทุกครั้งที่ธนินท์มีโอกาสกล่าวถึงอนาคตและทิศทางของเครือซีพี ย่อมเป็นความเด่นชัดในบริบทของการขยายตัวของมหาอาณาจักรธุรกิจแห่งนี้
 
หากประเมินจากจังหวะก้าวของกลุ่มซีพี ที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกเมื่อ 25 ปีก่อน ปัจจุบันกลุ่มซีพีมีรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย โดยโครงสร้างการจัดแบ่งร้านค้าปลีกในเครือ CPF แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มร้านอาหาร เช่น เชสเตอร์กริลล์ ธุรกิจห้าดาว ร้านอาหารจานด่วน “ซีพีคิทเช่น” เป็นต้น และกลุ่มค้าปลีกอาหาร ได้แก่ “ซีพีเฟรชมาร์ท” หรือ “ตู้เย็นชุมชน” “ซีพีฟู้ดมาร์เก็ต” และ “ซีพีฟู้ดเวิลด์” อีกทั้งยังมี ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ของกลุ่มซีพีออลล์และแม็คโคร ซึ่งถูกวางให้เป็นผู้ขายสินค้าอาหารป้อนภัตตาคาร รองรับทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น ยังหมายถึงการรุกไปสู่ตลาดต่างประเทศด้วย
 
“เราซื้อธุรกิจค้าปลีก ไม่ใช่เพื่อทำธุรกิจนั้นให้เจริญ แต่เราซื้อเพื่อใช้เป็นเครือข่ายจำหน่ายสินค้าเราเข้าสู่ประเทศนั้น เพราะถ้าจะเป็นครัวของโลก แต่ไม่มีเครือข่ายช่องทางขายก็ยากที่จะโต เพราะเราต้องไปขอวางสินค้าตามร้านพวกนี้ซึ่งจะช้ามาก หรือจะสร้างเองก็ช้าเกินไป แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของห้างเอง เราก็ระบายสินค้าได้อย่างรวดเร็วและทันที”
 
แม้ธนินท์จะเคยระบุถึงขอบเขตทางธุรกิจของซีพีไว้อย่างน่าฟังว่า “ตลาดทั่วโลกเป็นตลาดของซีพี” แต่เขาก็ยอมรับว่า การทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศ ณ วันนี้ ไม่ง่าย และไม่อาจค่อยเป็นค่อยไปได้อีกต่อไป ซึ่งธนินท์ถึงกับระบุในปาฐกถาพิเศษเมื่อครั้ง CPF ฉลองครบรอบ 60 ปีว่า “วันนี้ ผมก็อายุมากแล้ว แต่ก่อนอาจจะใช้เวลามองการลงทุน “อะไร” ล่วงหน้าเป็น 20 ปี แต่เดี๋ยวนี้แค่ 3 ปีก็พอ”
 
เป็นบทสรุปแห่งวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล แต่มีเข็มมุ่งไปสู่เป้าหมาย ที่กระชับชัดเจน และกำลังดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
 
Relate Story