วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > On Globalization > อาชีพ โอกาส และการศึกษา

อาชีพ โอกาส และการศึกษา

 
Column: AYUBOWAN
 
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมของศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมา กำลังติดตามมาด้วยคำถามที่น่าสนใจมากประการหนึ่ง เป็นปัญหาพื้นฐานที่กำลังส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อโครงสร้างและการพัฒนาในอนาคตของศรีลังกาเลยทีเดียว
 
ศรีลังกาเป็นดินแดนที่มีเกียรติประวัติด้านการศึกษามาอย่างยาวนานนับย้อนกลับไปได้ไกลกว่า 2,000 ปี ขณะที่กระบวนการพัฒนาด้านการศึกษาสมัยใหม่ก็ส่งผลให้ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือในหมู่ประชากร (literacy rate) สูงถึงร้อยละ 98.1 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเกณฑ์ที่คาดหวังเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน
 
และเป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียใต้ หรือแม้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียแห่งอื่นๆ ศรีลังกาก็จัดเป็นประเทศที่มีพัฒนาการอยู่ในระดับแนวหน้าประเทศหนึ่งหากประเมินในมิติที่ว่านี้
 
การศึกษาของศรีลังกา มีบทบาทอย่างสำคัญในชีวิตของชาวศรีลังกาและแวดล้อมมิติทางวัฒนธรรมของสังคมศรีลังกาไว้อย่างแนบแน่นนับเนื่องตั้งแต่สมัยพุทธกาล และเมื่อผนวกรวมให้เข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ในช่วงที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ก็ยิ่งเป็นการเปิดพื้นที่กว้างให้กับนักคิดนักเขียนและนักวิชาการชาวศรีลังกาให้ได้แสวงหาองค์ความรู้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น
 
ภายใต้พื้นฐานการศึกษาสมัยใหม่ตามแบบของระบบจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ มิได้จำกัดความอยู่เฉพาะความได้เปรียบจากความสามารถในการสื่อสาร อ่านเขียนภาษาอังกฤษได้เท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงรูปแบบการจัดระบบการศึกษาที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน และปกป้องให้อาชีพครูไม่ตกอยู่ภายใต้ค่าตอบแทนราคาต่ำหรือจากการบริหารที่ไม่เป็นธรรม
 
ระบบโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา หรือระดับมหาวิทยาลัย ได้รับการจัดตั้งและสถาปนาอย่างเป็นระบบระเบียบ และสามารถสร้างเสริมชื่อเสียงโดดเด่นในแวดวงวิชาการได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตชนชั้นนำ เพื่อสนองตอบต่อพัฒนาการทางสังคมในเวลาต่อมา
 
พัฒนาการด้านการศึกษาในช่วงหลังจากที่ศรีลังกาได้รับเอกราช ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจากผลของความตื่นตัวว่าด้วยสิทธิ และแนวทางการพัฒนาที่ระบุให้การศึกษาเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่ต้องจัดสรรให้กับประชาชนทุกคน พร้อมทั้งบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้รัฐสร้างเสริมหลักประกันในการบริหารจัดการเพื่อให้ทรัพยากรที่ว่านี้กระจายสู่หมู่ชนทุกระดับ
 
เมื่อการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในทรัพยากรที่รัฐต้องบริหารจัดการ ความสามารถในการกระจายโอกาสจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมาศรีลังกาพยายามที่จะส่งมอบโอกาสอย่างไม่จำกัดให้กับประชาชน โดยเยาวชนในระดับประถมและมัธยมศึกษาจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐให้การศึกษาดำเนินไปอย่างไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย
 
ขณะที่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นกว่านั้น เป็นการแข่งขันที่พิสูจน์ทราบกันด้วยความสามารถในการสอบแข่งขัน ภายใต้เงื่อนไขและข้อเท็จจริงที่ว่าทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจะได้รับการจัดสรรไปสู่บุคคลที่มีความสามารถในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการนี้ได้อย่างเต็มที่ และสามารถหนุนนำการพัฒนาให้กับสังคมในกาลอนาคต
 
การแข่งขันเพื่อเบียดชิงทรัพยากรการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัดในระดับที่สูงขึ้นนี้ ได้ส่งผลให้เกิดสถาบันกวดวิชาเพื่อหนุนส่งความสามารถในการสอบได้คะแนนดีในหลายระดับชั้น ซึ่งธุรกิจสถานกวดวิชาเหล่านี้กลายเป็นธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ทางสังคมอย่างหนักว่าเป็นการทำร้ายความสดใส สุขภาพและจิตวิญญาณวัยเด็กของเยาวชน
 
อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของสถาบันกวดวิชาในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงของศรีลังกาที่อนุญาตให้เฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐเท่านั้นที่มีสิทธิเปิดการเรียนการสอนและประสาทปริญญาบัตร ขณะที่ความพยายามที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยเอกชนได้รับการคัดค้านด้วยเหตุผลที่ว่า การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเอกชนจะทำให้ระบบการศึกษามีสถานะไม่แตกต่างจาก สินค้าชนิดหนึ่ง ที่สามารถใช้เงินตราและความสามารถทางเศรษฐกิจซื้อหามาได้โดยง่าย ซึ่งเป็นการทำลายคุณภาพการศึกษาทั้งระบบของศรีลังกาในระยะยาว
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีอยู่ 15 แห่งสามารถรองรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อได้เพียงร้อยละ 16-20 ของนักเรียนจากชั้นมัธยมปลายเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาพยายามขยายโอกาสทางการศึกษาออกไปด้วยการจัดตั้ง Open University of Sri Lanka เมื่อปี 1978 เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการศึกษาระดับปริญญาบัตร รวมถึงจัดตั้งสถาบันและวิทยาลัยเพื่อให้การศึกษาในระดับประกาศนียบัตรด้วย
 
แต่ปัญหาว่าด้วยการศึกษาของศรีลังกามิได้จำกัดอยู่เฉพาะโอกาสในการศึกษาต่อเท่านั้น เพราะด้วยเหตุที่พลวัตทางเศรษฐกิจสังคมและปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เกิด unemployed graduates หรือภาวะบัณฑิตตกงานในบางสาขาวิชาไปโดยปริยาย และกำลังเป็นประเด็นปัญหาที่สั่นคลอนสังคมศรีลังกาไม่น้อย
 
รายงานของธนาคารโลก หรือ World Bank ระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศรีลังกาเผชิญกับภาวะการว่างงานในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี (Youth Unemployment) หรือกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ในสัดส่วนที่เพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีคุณสมบัติทางการศึกษาและทักษะทางวิชาการ แต่กลับไม่สามารถแสวงหางานที่ต้องการได้
 
สาเหตุหลักของการว่างงานตามรายงานของ World Bank ระบุว่า เกิดจากความคาดหวังว่าด้วยรายได้ที่สวนทางกับข้อเท็จจริงในตลาดแรงงาน ขณะที่องค์กรธุรกิจและบรรษัทขนาดใหญ่ก็ไม่เพิ่มอัตราการจ้างงานมากนัก และพยายามลดทอนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้างงานเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตไว้อยู่ตลอดเวลา
 
กรณีดังกล่าวเปิดช่องทางให้สถาบันการศึกษาเอกชนหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายสาขาของสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศ ที่แม้จะมีข้อจำกัดไม่สามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งมอบการศึกษาระดับปริญญาบัตรได้ แต่กลับใช้ประเด็นโอกาสในอาชีพมาเป็นจุดเสริมในการประชาสัมพันธ์ความโดดเด่นของสถาบันแทน
 
ถ้อยความโฆษณาในท่วงทำนอง “Become a globally employable graduate at the age of 21” ของสถาบันการศึกษาเอกชนบางแห่งที่กำลังรุกคืบเข้ามาในสังคมศรีลังกา ดูเหมือนจะให้ภาพที่น่าสนใจและดึงดูดความใฝ่ฝันถึงอนาคตในการประกอบอาชีพสำหรับเยาวชนได้ไกลกว่าการแสวงหาองค์ความรู้จากการศึกษาแบบเดิมที่คนรุ่นก่อนคุ้นเคยอย่างไม่อาจเทียบ
 
ศรีลังกาเคยได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างความสำเร็จในการสร้างเสริมรัฐสวัสดิการที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่ง แม้ว่าจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ความท้าทายใหม่ที่ศรีลังกากำลังเผชิญอยู่นี้ ดูจะสอดคล้องและสะท้อนภาพความเป็นไปของระบบการศึกษาในยุคสมัยแห่งทุนนิยมตลาดเสรีไม่น้อยเลย
 
และดูเหมือนว่าศรีลังกาจะไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่เยาวชนกำลังถูกกระทำให้เป็นเพียงทรัพยากรบุคคล ที่พร้อมจะถูกผลักให้เป็นเพียงกลไกอีกชนิดหนึ่งของระบบเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่กำลังดูดซับและ
ลดทอนความเป็นมนุษย์ให้ค่อยๆ เหือดหายไปพร้อมๆ กัน