วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > อัด “คนละครึ่ง” ดันเรตติ้ง ฝ่าสิงหาฯ อันตราย ปมนายกฯ 8 ปี

อัด “คนละครึ่ง” ดันเรตติ้ง ฝ่าสิงหาฯ อันตราย ปมนายกฯ 8 ปี

เข้าสู่เดือนสิงหาฯ อันตราย ทั้งปมการเมืองกรณีถกเถียงระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ ซึ่งฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความขั้นเด็ดขาด ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลและกระแสเรตติ้งของผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกท้าทายด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาค่าครองชีพสูงลิบลิ่ว

ที่ผ่านมารัฐบาลมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทุ่มเม็ดเงินมหาศาลแบบไม่ตรงจุด ไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องได้อย่างยั่งยืน สินค้ายังแพงขึ้นทุกวัน น้ำมัน ค่าไฟฟ้าจ่อพุ่งขึ้นอีกชนิดทุบสถิติต่อเนื่อง

แต่อีกด้านหนึ่งหลายโครงการโดนใจประชาชนและปั่นกระแสความนิยมตัวนายกฯ ถล่มทลาย โดยเฉพาะกลยุทธ์แจกเงินเข้ากระเป๋าชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “เราชนะ” โครงการ ม. 33 เรารักกัน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนผู้ถือบัตรคนจน โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งต่อมาตรการยาวถึงเฟส 5 แถมมีแนวโน้มขยายเพิ่มเติมอีก

แน่นอนว่า ในช่วงเรตติ้งผู้นำถูกคู่แข่งแซงหน้า กลยุทธ์ทุ่มเม็ดเงินงบประมาณช่วยเหลือชาวบ้านถือเป็นอาวุธชิ้นสำคัญ แม้รัฐบาลพยายามปฏิเสธว่า ไม่ใช่เป้าหมายหลักก็ตาม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้โควิด-19 ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 อนุมัติวงเงิน 27,427 ล้านบาท ลุย 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีผู้ได้รับสิทธิ 26.5 ล้านคน จะได้รับสิทธิประโยชน์โดยภาครัฐช่วยจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้า และบริการที่กำหนด อัตรา 50% ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน รวมไม่เกิน 800 บาทต่อคน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-31 ต.ค. 2565 ใช้เงินทั้งสิ้น 21,200 ล้านบาท

2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 จำนวนไม่เกิน 13.34 ล้านคน โดยช่วยเหลือ 200 บาทต่อคน ระยะเวลา 2 เดือน รวม 400 บาทต่อคน ใช้เงินทั้งสิ้น 5,336 ล้านบาท

3. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ระยะที่ 3 จำนวนไม่เกิน 2.22 ล้านคน ช่วยเหลือ 200 บาทต่อคน ระยะเวลา 2 เดือน รวม 400 บาทต่อคน ใช้เงินทั้งสิ้น 890 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลายฝ่ายร้องไชโยกับมาตรการคนละครึ่ง เพราะมีผู้ได้สิทธิ์มากกว่า 26.5 ล้านคน โดยเปิดให้ผู้ที่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งเฟส 4 และผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. ให้เป็นที่ฮือฮาก่อนวันถกเถียงปมนายกฯ 8 ปี เพียงไม่กี่วัน และเริ่มใช้จ่ายตั้งแต่เดือน ก.ย. ในช่วงจังหวะเวลาที่รัฐบาลกำลังต้องการกระตุ้นเรตติ้งอย่างเร่งด่วน

หากย้อนรอยมาตรการอัดฉีดกำลังซื้อ “คนละครึ่ง” เริ่มต้นเมื่อช่วงปลายปี 2563 ขณะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 หนักหน่วง และถ้านับรวม 5 เฟส ใช้วงเงินรวม 234,500 ล้านบาท โดยเปิดเฟสแรกช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2563 ใช้วงเงิน 30,000 ล้านบาท ประเดิมเปิดลงทะเบียน รับเงิน 3,000 บาท บนเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com กำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 10 ล้านสิทธิ

เฟส 2 เดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 วงเงิน 22,500 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 15 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มที่ขยายต่อจาก “คนละครึ่ง” เฟสแรก จำนวน 10 ล้านสิทธิ ซึ่งคนส่วนใหญ่ใช้จ่ายไม่ทัน และได้รับเงินเพิ่มมาอีก 500 บาท รวมทั้งเปิดลงทะเบียนเพิ่มเติมอีก 5 ล้านสิทธิ เข้ามาลงทะเบียนรับเงิน 3,500 บาท

เฟส 3 เดือน พ.ย.-ธ.ค. 2564 อนุมัติวงเงิน 84,000 ล้านบาท และอนุมัติเพิ่มอีก 42,000 ล้านบาท รวม 126,000 ล้านบาท โดยให้ประชาชนที่เคยได้รับสิทธิแล้วทั้งเฟส 1 และ 2 สามารถกดรับสิทธิได้เลยผ่านแอปเป๋าตัง จำนวน 3,000 บาท และให้ลงทะเบียนเฉพาะผู้ที่ไม่เคยรับสิทธิเท่านั้น

เฟสนี้รัฐบาลยังใจป้ำเพิ่มเงินอีก 1,500 บาท หรือเรียกว่า “คนละครึ่ง” เฟส 3 พลัส หวังสร้างแรงส่งการใช้จ่ายในช่วงปลายปี 2564 รวมกลุ่มเป้าหมาย 28 ล้านคน และทิ้งช่วงไม่นาน รัฐบาลตัดสินใจเปิดเฟส 4 อัดต่อเนื่องในเดือน ก.พ.-เม.ย. 2565 อนุมัติวงเงิน 34,800 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 29 ล้านคน รับคนละ 1,200 บาท

กระทั่งเฟส 5 อนุมัติวงเงิน 21,200 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 26.5 ล้านคน รับเงินคนละ 800 บาท จะให้จับจ่ายตั้งแต่เดือน ก.ย.-ต.ค. 2565

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลากว่า 4 เดือนที่รัฐบาลยึกยักไม่สรุปการขยายเฟส 5 มีเสียงเรียกร้องต่อเนื่อง โดยเฉพาะนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทุ้งหลายรอบ และยืนยันว่ารัฐบาลควรเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจระยะต่อไป แม้ปัจจุบันประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ยังต่ำกว่าสถานการณ์ปกติ

เพราะการคำนวณเบื้องต้นหากโครงการคนละครึ่งเฟส 5 จ่ายให้คนละ 1,500 บาท รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยคำนวณจากผู้มีสิทธิ 30 ล้านคน แต่จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเงินเข้าระบบสูงถึง 9 หมื่นล้านบาท ทำให้ตัวเลข GDP ดีขึ้นได้ถึง 0.63-0.65% ช่วยให้การเติบโตของ GDP ไทยในปีนี้เกิน 3% อย่างแน่นอน

แม้ในที่สุด ครม. ไฟเขียวเฟส 5 ให้ประชาชน 26 ล้านคน เพียงคนละ 800 บาท ไม่มากตามเป้า แต่ถือเป็นวงเงินที่ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อและช่วยพยุงเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3 ให้เติบโตขึ้นอีกร้อยละ 0.2-0.4 สร้างแรงส่งต่อไปจนถึงไตรมาส 4 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้จากช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวในช่วงไฮซีซัน จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัว 3.5% โดยเฉพาะเครื่องจักรเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้าไทยกว่า 8 ล้านคน ปรับเพิ่มขึ้น จากเดิมคาดว่าจะเข้า 6.7 ล้านคน เนื่องจากไทยผ่อนปรนมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งตัวเลขช่วงครึ่งปีแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยกว่า 2.08 ล้านคน และหลังจากยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส ตั้งแต่ 1-16 ก.ค. เข้ามากว่า 5.5 แสนคน สูงมากเมื่อเทียบกับทั้งปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 4 แสนคน รวมทั้งรายได้จากนักท่องเที่ยวจะสูงถึง 0.43 ล้านล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 53,000 บาทต่อคน

ทางการยังมั่นใจด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ตัวเลขจีดีพีจะขยายตัวได้ที่ระดับ 4.2% ซึ่งหลักๆ มาจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง

แต่ที่แน่ๆ จังหวะนี้ต้องลุ้นว่า อาวุธหนักมูลค่ากว่า 2.7 หมื่นล้านจะส่งผลบวกต่อรัฐบาลได้ตามเป้าหรือไม่.

ใส่ความเห็น