วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ปตท. พลังที่ยั่งยืน ในห้วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน

ปตท. พลังที่ยั่งยืน ในห้วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน

 
ช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีหน่วยงานหรือวิสาหกิจแห่งใดได้รับความสนใจและกล่าวถึงมากเท่ากับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยบทบาทและทิศทางขององค์กรแห่งนี้ว่าจะเป็นไปด้วยท่วงทำนองอย่างไร
 
ขณะเดียวกัน การถกแถลงเพื่อหาหนทางจัดการกับอนาคตของ ปตท. กลับทำให้ภาพอดีตขององค์การเชื้อเพลิง ในสังกัดกรมการพลังงานทหารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และ “สามทหาร” ที่เป็นประหนึ่งต้นทางก่อนการก่อร่างสร้างอาณาจักรพลังงานของไทยในนาม ปตท. ผุดพรายขึ้นมาในห้วงกระแสสำนึกของผู้คนอีกจำนวนหนึ่งไปโดยปริยาย
 
ประวัติการณ์และความเป็นไปของ ปตท. ในวันนี้ในด้านหนึ่งดำเนินไปท่ามกลางอุดมการณ์ที่สวนทางและเป็นคู่ขนานระหว่างการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นส่วนใหญ่โดยรัฐ พร้อมกับหน้าที่ในการประคับประคองให้สามารถพึ่งพาตัวเองในเชิงพลังงานและเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนส่วนใหญ่
 
แต่ในอีกบริบทหนึ่งของ ปตท. ในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนระดมทุนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สถานภาพดังกล่าวกลับทำให้ ปตท. ต้องแสวงหารายได้รับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ตามหลักสากลของการประกอบกิจการในเชิงธุรกิจ
 
ความขัดกันในเรื่องผลประโยชน์ในการดูแลส่วนได้ส่วนเสียให้กับประชาชนทั่วไปและผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะเช่นว่านี้ จึงกลายเป็นวาทกรรมที่อยู่คู่และครอบงำความเป็นไปขององค์กรแห่งนี้มาเกือบตลอดระยะเวลาของการดำรงอยู่ของ ปตท. เลยก็ว่าได้
 
หากในความเป็นจริงไม่ว่า ปตท. จะมีทิศทางในอนาคตอย่างไร ดูเหมือนว่าผู้มีความสามารถและเชี่ยวชาญซึ่งได้ถูกสถาปนาให้เป็นผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท กลับกลายเป็นกลุ่มบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับการดูแลจาก ปตท. เป็นพิเศษตั้งแต่ต้น
 
และนั่นเป็นเหตุให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างมุ่งหมายที่จะได้เข้ามามีบทบาทและตำแหน่งใน ปตท. อย่างต่อเนื่องไม่ต้องนับรวมเรื่องผลประโยชน์รายทางอื่นๆ ที่ยังอภิปรายและหาข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ระบุความถูกผิดได้อย่างชัดเจน
 
มิติที่ว่านี้ ดูจะเป็นเรื่องราวที่สะสมและเป็นรากของปัญหาสำหรับ ปตท. มาเนิ่นนาน แม้ว่าจะไม่ใช่ประเด็นทางยุทธศาสตร์ของการพัฒนาธุรกิจก็ตาม
 
ย้อนกลับไปปี 2521 “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” หรือ “ปตท.” ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์และลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนพลังงานในช่วงวิกฤตน้ำมันโลก ครั้งที่ 2 ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ตลอดจนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติในเวลานั้น
 
สถานภาพของ ปตท. จึงยึดโยงอยู่กับการเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ บนปณิธานและพันธกิจหลักต่อประเทศ ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว ด้วยการจัดหาปริมาณพลังงานที่เพียงพอ มีคุณภาพได้มาตรฐาน และราคาเป็นธรรม
 
เพราะในความเป็นจริงประเทศไทยยังต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้ามากถึงกว่าร้อยละ80-90 ของความต้องการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ ขณะที่การคาดการณ์ถึงแหล่งพลังงานที่มีอยู่รอบตัวไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ปริมาณน้ำมันสำรองของโลก หรือแม้กระทั่งปริมาณถ่านหินทั่วโลก ที่มีเหลือให้ใช้ได้ไม่อีกกี่สิบปีเท่านั้น
 
กิจการทางยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศอย่าง ปตท. จึงเป็นเสมือนแขนขาของรัฐบาลในการจัดหาพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ระดับหนึ่ง และสามารถสร้างหลักประกันความมั่นคงต่อการเติบโตของประเทศ
 
ขณะเดียวกัน การสรรหาและพัฒนาพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้ นอกจากจะเป็นยุทธศาสตร์ในการลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ ยังนับเป็นอีกมาตรการในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งแนวทางนี้ยังถือเป็นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่อาจนับรวมให้เป็นอีกพันธกิจหนึ่งของ ปตท. ด้วย
 
อย่างไรก็ดี ในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชน ปตท. ยังต้องมีพันธกิจต่อผู้ถือหุ้น ในการสร้างกำไรเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีและให้มีการเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ซึ่งในมิติที่ว่านี้ ปตท. ถือเป็นองค์กรทางธุรกิจที่มีภารกิจในการพัฒนาองค์กรให้สามารถแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ได้ทั้งในเวทีประเทศไทยและสังเวียนโลก
 
วิสัยทัศน์ของ ปตท. ในช่วงที่ผ่านมาจึงยึดโยงอยู่ที่การก้าวขึ้นเป็นบริษัทพลังงานข้ามชาติชั้นนำ ที่มีเกณฑ์ในการวัดความสำเร็จ ด้วยการก้าวขึ้นสู่อันดับ TOP 100 ของนิตยสารฟอร์จูน โดยในการสำรวจของนิตยสารฟอร์จูน ในปี พ.ศ. 2555 บริษัท ปตท. ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับที่ 95 จาก 500 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก และในปี พ.ศ. 2555 ปตท. ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้สูงสุดของไทย รวมมูลค่ารายได้ 1,930,852 ล้านบาท
 
นั่นหมายความว่า ปตท. และบริษัทในเครือต้องดำเนินการในหลายด้าน แต่ด้วยลักษณะของ ปตท. ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นองค์กรพลังงานแห่งชาติ ความคล่องตัวและความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทลูกจึงมีความจำเป็น โดยที่บริษัทแม่เป็นผู้ควบคุมเฉพาะเป้าหมายและนโยบายสำคัญ เพื่อลดความเสียเปรียบทางการแข่งขันบนเวทีโลก
 
บนเส้นทางที่ดูเหมือนผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ปตท. และบริษัทในเครือ ย่อมต้องมีหน้าที่รักษาสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงานของชาติกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
 
ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทลูกของ ปตท. แต่ละแห่ง ต่างก็มีอิสระในการบริหารธุรกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวเอง ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่เชื่อมโยงประโยชน์ระหว่างกัน เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ของบริษัทแม่ และบริษัทในเครือบางแห่งยังจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์และมีมูลค่าหลักทรัพย์ทางการตลาดขนาดใหญ่อีกด้วย
 
ประเด็นสำคัญที่ ปตท. ตระหนักและพยายามนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการเป็นผู้นำในการค้าปลีกน้ำมันของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. พยายามรุกเข้าไปเปิดสถานีบริการน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง
 
ขณะเดียวกัน ปตท. ก็พยายามที่จะพัฒนาธุรกิจให้ไปไกลกว่าและก้าวข้ามการเป็นเพียงผู้ประกอบการด้านพลังงานและปิโตรเคมี ที่เป็นวัตถุประสงค์ของการเริ่มต้นตั้ง ปตท. เมื่อปี 2521 ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil business) ซึ่งดูเหมือนว่า ปตท. ได้ก้าวข้ามเข้ามาสู่พรมแดนของธุรกิจค้าปลีกอย่างมีนัยสำคัญด้วย
 
ความร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ 7-11 เพื่อเปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงการเปิดตัวร้านกาแฟ Cafe Amazon ในช่วงปี 2545 ถือเป็นจังหวะก้าวไปสู่ non-oil business ในลำดับแรกๆ ก่อนที่ ในปี 2550 ปตท. จะขยายไปสู่การจัดตั้งบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด ควบคู่กับการเข้าซื้อกิจการสถานีบริการน้ำมัน JET และร้านสะดวกซื้อ JIFFY จำนวน 146 แห่ง 22 จังหวัด จากบริษัท คอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด
 
การได้โครงข่ายสถานี JET และร้าน Jiffy เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร แม้จะทำให้ ปตท. สามารถเตรียมตัวสำหรับการขยายเข้าสู่ธุรกิจ non-oil ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่การขยายบริบททางธุรกิจของ ปตท. กลับต้องเผชิญกับแรงเสียดทาน จากเสียงเรียกร้องให้มีการทวงคืน ปตท. ให้กลับมาเป็นของรัฐอีกครั้ง
 
ห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนับจากนี้จึงเป็นห้วงเวลาที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่งว่า จะมีผลเปลี่ยนผ่าน ปตท. ให้มีสภาพอย่างไร และจะสามารถเป็นพลังที่ยั่งยืนสำหรับสังคมไทยได้นานเพียงใด
 
ทิศทางทางธุรกิจและบทบาทของ ปตท. ในอนาคตมีความสำคัญ ไม่เฉพาะในมิติทางเศรษฐศาสตร์หรือต่อยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศเท่านั้น แต่กำลังจะเป็นบททดสอบพิสูจน์สติปัญญาและความสามารถในการบริหารจัดการผลประโยชน์ของประเทศไทยไปในคราวเดียวกัน
 
Relate Story