วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > นับถอยหลัง “ดีเซลคนละครึ่ง” มรสุมของแพงจ่อถล่มครั้งใหญ่

นับถอยหลัง “ดีเซลคนละครึ่ง” มรสุมของแพงจ่อถล่มครั้งใหญ่

ณ ขณะนี้คนไทยทั้งประเทศต้องนับถอยหลังสถานการณ์ราคาสินค้าจะวิกฤตรุนแรงหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศชัดเจนจะขยับราคาน้ำมันดีเซลจากเพดานที่กดไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม โดยช่วยอุ้มราคาส่วนเกิน 50% หรือ “ดีเซลคนละครึ่ง”

หลายฝ่ายหวั่นวิตกทันทีถึงผลกระทบต่างๆ เพราะข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุว่า หากพิจารณาจากข้อมูลราคาน้ำมันที่ขายในประเทศไทย ณ วันที่ 19 เมษายน 2565 ราคาแท้จริงอยู่ที่ลิตรละ 41.15 บาท ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยอุดหนุนลิตรละ 11.21 บาท เพื่อให้ราคาขายหน้าปั๊มไม่เกิน 30 บาท

ถ้าใช้แนวทาง “ดีเซลคนละครึ่ง” โดยนำราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท เป็นตัวตั้งและยึดราคาเมื่อวันที่ 19 เมษายน เท่ากับว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ราคาหน้าปั๊มจะอยู่ที่ลิตรละ 35.50 บาท นั่นยังไม่นับรวมภาวะตลาดโลกที่อาจพุ่งพรวดขึ้นอีก หากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเกิดเหตุปะทะรุนแรงและยืดเยื้อ

อย่างไรก็ตาม สกนช. เตรียมแผนช่วยเหลือหลายรูปแบบ เพราะหากน้ำมันดีเซลขึ้นเกือบ 6 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 29.94 บาท เป็น 35.50 บาท จะส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อการดำรงชีพของประชาชน ทั้งค่าขนส่ง ราคาสินค้า ค่าอาหาร และบริการต่างๆ โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ 3 แนวทาง

1. ทยอยขึ้นราคาเป็นขั้นๆ โดยปรับราคาเป็น 32 บาทต่อลิตรก่อน และดูสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่ออุดหนุนราคา แต่ขณะนี้กองทุนฯ ติดลบแล้ว 50,000 ล้านบาท กระแสเงินสดเหลือ 14,000 ล้านบาท โดยมีเงินเข้าเดือนละ 3,000 ล้านบาท

2. กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังจะขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอีกหรือไม่ หลังครบกำหนดการลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ซึ่งการลดภาษีช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565 ทำให้รัฐเสียรายได้ 17,000 ล้านบาท

3. การกำหนดราคาดีเซลในประเทศโดยอ้างอิงจากราคาของอาเซียน เช่น เวียดนาม เพื่อให้ราคามีความใกล้เคียงกัน โดยปัจจุบันเวียดนามราคาขายดีเซลลิตรละ 35-36 บาท

แต่ล่าสุด นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ออกมายืนยันว่า เมื่อรัฐบาลเลิกตรึงราคาที่ 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ผู้ประกอบการขนส่งจะปรับขึ้นค่าขนส่งทั่วประเทศขั้นต่ำ 15% หรืออาจมากกว่า 20% เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาดของราคาน้ำมันดีเซล โดยอ้างจุดคุ้มทุนต้องอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร และกรณีน้ำมันขึ้นทุก 1 บาท ผู้ประกอบการจะปรับค่าขนส่งเพิ่ม 3% ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลต่อผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามอย่างน้อย 20% และถ้าผู้ผลิตสินค้าไม่ยอมรับเรื่องการปรับขึ้นค่าขนส่งอาจต้องหยุดวิ่งรถบางส่วน เพื่อชดเชยต้นทุน

นอกจากนี้ สหพันธ์ต้องการให้รัฐบาลเร่งพิจารณาเพื่อเป็นทางออกแก้ปัญหาราคาพลังงานแพง ได้แก่ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงด้านขนส่งเหลือ 0.20 บาทต่อลิตร เท่ากับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน นำไบโอดีเซลที่ใช้ผสมน้ำมันออกจากระบบชั่วคราว ซึ่งช่วยลดราคาลงได้ 1.50-2.00 บาทต่อลิตร เพราะปัจจุบันราคาสูงกว่าน้ำมันดีเซลเท่าตัว และการเทียบราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์ ขอให้เลิกคิดค่าขนส่งรวมเข้าไปในต้นทุน

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลสำรวจการปรับราคาสินค้าและบริการในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และกลุ่มเอสเอ็มอี พบว่า ผู้ประกอบการ 27% มีการขึ้นราคาสินค้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนอีก 16% มีแนวโน้มจะปรับราคาในช่วง 3 เดือนข้างหน้าถึง 1 ปี และ 57% ยังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคา แต่ต้องติดตามแนวโน้มราคาวัตถุดิบที่อาจเพิ่มขึ้นอีก

ธปท. ระบุว่า แม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังแบกรับต้นทุนไว้ แต่มีแนวโน้มทยอยส่งผ่านต้นทุนสู่ผู้บริโภคมากขึ้นในระยะต่อไป โดยกลุ่มผู้ประกอบการที่จะทยอยปรับราคาช่วง 3เดือนข้างหน้าจนถึงปลายปี 2565ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่แบกรับรับต้นทุนได้น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนขนส่ง และต้นทุนพลังงาน โดยกลุ่มที่คาดว่าจะขึ้นราคาทันทีภายใน 1 เดือน คือ กลุ่มปิโตรเคมีและพลาสติก กลุ่มผลิตอาหาร และกลุ่มสินค้าที่ขาดแคลน เช่น กลุ่มอาหารทะเล

กลุ่มที่สามารถทยอยปรับราคาในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า คือ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามสัญญาซื้อขายกับซัปพลายเออร์ ทำให้ส่งผ่านราคาได้บางส่วน รวมถึงกลุ่มค้าปลีกค้าส่ง แม้กำลังซื้ออ่อนแอ แต่สินค้าอุปโภคเป็นสินค้าจำเป็น บางส่วนสามารถปรับราคาได้

ส่วนกลุ่มที่ยังไม่สามารถปรับราคาได้ คือ กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และจักรยานยนต์ เพราะปรับขึ้นได้เมื่อออกรุ่นใหม่ รวมถึงธุรกิจโรงแรมร้านอาหาร เนื่องจากกำลังซื้อต่ำ

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ตัดสินใจทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลจัดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ คนละครึ่งเฟส 5 หลังดำเนินผ่านมาถึง 4 เฟส โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการรวม 26.38 ล้านราย และยอดใช้จ่ายรวม 55,749.6 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินใช้จ่ายจากประชาชน 28,352.2 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 27,397.4 ล้านบาท เนื่องจากร้านอาหารและเครื่องดื่มมียอดใช้จ่ายผ่านโครงการสูงสุด 23,300.3 ล้านบาท และภาคธุรกิจร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการนี้มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติที่ไม่มีโครงการนี้อย่างชัดเจน

ขณะที่เมื่อโครงการนี้สิ้นสุดลง หรือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใช้จ่ายครบจำนวนเงินตามสิทธิ์ พบว่ายอดขายของร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการลดลงอย่างมากและเจอทั้งวิกฤตกำลังซื้อ วิกฤตต้นทุนต่างๆ ทำให้แต่ละร้านต้องหันไปลดจำนวนพนักงาน ลดปริมาณการซื้อวัตถุดิบ ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอีกครั้ง เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารถือเป็นภาคส่วนใหญ่และมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ลูกจ้าง กลุ่มธุรกิจดีลิเวอรี พนักงานไรเดอร์ รวมถึงประชาชนที่ต้องจ่ายค่าอาหารและบริการแพงขึ้น

ทั้งหมดล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในการจัดการปัญหา แม้อ้างเหตุวิกฤตรอบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทย ไม่มีรัฐบาลชุดไหนเคยเจอ เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ผลพวงจากพิษโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทุกประเทศต้องเผชิญวิกฤตเหมือนกันทั่วโลก

แต่นั่นคือ สิ่งท้าทายรัฐบาลทุกประเทศทั่วโลก การวัดฝีมือพลิกวิกฤตเพื่อลดความรุนแรง ซึ่งคงไม่ใช่แค่การให้ประชาชนประหยัดรัดเข็มขัดเอวกิ่วฝ่ายเดียวแน่.

ใส่ความเห็น