วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > ปัจจัยเสี่ยงใหม่ ทำส่งออกไทย 2565 สะดุด?

ปัจจัยเสี่ยงใหม่ ทำส่งออกไทย 2565 สะดุด?

ยังคงรักษามาตรฐานการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมการส่งออกของไทยที่เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 แม้ว่าจะมีอุปสรรคในช่วงแรกของการระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่บ้าง ทว่า ตัวเลขการขยายตัวสามารถการันตีได้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลกส่งผลดีต่อภาคการส่งออกไทย

แน่นอนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโต ทว่า อีกเหตุผลสำคัญน่าจะมาจากการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) นับตั้งแต่ปี 2564

โดยตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2565 มีการขยายตัว 8% มูลค่า 21,258.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 708,312 ล้านบาท แม้ว่าจะยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องและสูงถึง 16.2% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ รัสเซีย 33.4% อาเซียน5 31.5% ฮ่องกง 29.8% เกาหลีใต้ 28.9% และสหรัฐอเมริกา 27.2%

นั่นทำให้เห็นว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่สร้างผลกระทบมากนัก อาจเป็นเพราะว่าสงครามเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

การขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทำให้ศูนย์วิจัยและวิเคราะห์เศรษฐกิจมองและประเมินทิศทางการค้าระหว่างประเทศของไทยไปในทิศทางเดียวกันว่า ปี 2565 การส่งออกและนำเข้าของไทยจะขยายตัวได้มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แม้จะมีภาวะสงครามระหว่างประเทศเกิดขึ้นในบางพื้นที่ของโลกก็ตาม

หากมองปัจจัยบวกที่จะมาหนุนให้ส่งออกของไทยมีภาษีดีขึ้น น่าจะเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ที่คณะกรรมการอาหารและยาของซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้นำเข้าไก่จากไทย และเริ่มมีการส่งออกไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสที่จะเจาะตลาดสินค้ากลุ่มอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ในอนาคต

แม้ในข้างต้นจะดูเหมือนว่าการส่งออกไทยดูทีท่าว่าจะเติบโตอย่างไหลลื่นไม่มีสะดุด แต่ปัจจัยลบที่น่าจะส่งผลต่อภาคส่งออกของไทยยังมี เมื่อประเทศคู่ค้าคนสำคัญอย่างจีน ที่กำลังประสบกับปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ และมีคำสั่งปิดเมืองในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยมุ่งหวังจะสะกัดกั้นการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด

แต่มาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยในอนาคต แม้จะยังไม่ชัดเจน เมื่อยังต้องพิจารณาปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแบบรอบด้าน ทั้งช่วงเวลาของการล็อกดาวน์ของบางเมืองในจีน และความพร้อมของการกลับมาดำเนินกิจการหลังจากทางการจีนอนุมัติให้ดำเนินกิจการตามปกติ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ทางการจีนประกาศล็อกดาวน์หลายเมืองในจีน เปิดความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยไปจีน เนื่องจากทุกวันนี้ไทยส่งออกสินค้าไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนถึง 53% ขณะที่การปิดเมืองในครั้งนี้เป็นเมืองสำคัญในภาคการผลิตและเศรษฐกิจ จึงอาจกระทบต่อการส่งออกของไทย

โดยล่าสุดทางการจีนเพิ่มการล็อกดาวน์พื้นที่เซี่ยงไฮ้ระหว่างวันที่ 1-5 เมษายน ในฝั่งตะวันตก ขยายเวลาล็อกดาวน์ในฝั่งจะวันออก จากเดิมอยู่ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-1 เมษายน และก่อนหน้านั้นได้ล็อกดาวน์เซินเจิ้นและตงก่วนในมณฑลกวางตุ้ง เมืองฉางชุนและจี๋หลินในมณฑลจี๋หลิน เมืองหลวงฟางและถังซานในมณฑลเหอเป่ย

สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนับว่าเป็นการระบาดหนักที่สุดตั้งแต่ระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ในปี 2562 อีกทั้งพื้นที่ระบาดครั้งนี้ล้วนเป็นเมืองที่กุมหัวใจสำคัญทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ของจีนไว้ โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ที่มีบทบาทสำคัญในแง่ขนาดเศรษฐกิจและบทบาทศูนย์กลางทางการเงินของประเทศ บวกกับเมืองเซินเจิ้นแม้จะเป็น 1 ใน 21 เมืองของมณฑลกวางตุ้ง แต่ในเชิงเศรษฐกิจกลับใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน เป็นรองเพียงเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกว่างโจว (เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง) ทั้งยังเป็นฐานการผลิตสมาร์ตโฟนและยานยนต์ระดับโลก ศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางตอนใต้ที่มีท่าเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญอันดับ 2 ของจีน และใหญ่ติดอันดับ 3 ของโลก ขณะที่มณฑลจี๋หลินก็มีฐานการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น และมณฑลเหอเป่ยก็เป็นแหล่งผลิตเหล็กที่สำคัญของจีน

นอกจากนี้ พื้นที่ที่ถูกล็อกดาวน์ล้วนอยู่ในฝั่งตะวันออกที่ติดทะเลและเป็นเมืองท่าสำคัญของจีน ในภาพรวมอาจทำให้การค้าระหว่างไทยกับจีนเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นจากความล่าช้าของการขนส่ง ซึ่งโดยปกติสินค้าไทยต้องผ่านเมืองดังกล่าวถึง 55% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทยไปจีน

ขณะเดียวกันการผลิตที่หยุดชะงักชั่วคราวในบางพื้นที่อาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในพื้นที่ โดยในแต่ละปีไทยส่งออกสินค้าขั้นกลางกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และผลิตภัณฑ์ยางไปยังมณฑลกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ เหอเปย และจี๋หลิน ประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564) หรือคิดเป็น 11.6% ของการส่งออกไทยไปจีน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทางการจีนคงมีวิธีการจัดการตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์และมาตรการกระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนในภาพรวมเดินหน้าต่อไปได้ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาภาคการผลิตได้เตรียมพร้อมสต็อกสินค้าและมีแผนรับมือกับวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

โดยในเบื้องต้นประเมินว่าหากการล็อกดาวน์ทั้งมณฑลกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ เหอเป่ย และจี๊หลินเป็นระยะเวลา 1 เดือนจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทย คิดเป็น 0.97% ของการส่งออกไทยไปจีน ซึ่งในขณะนี้การล็อกดาวน์ยังมีผลแต่บางพื้นที่ของแต่ละมณฑล ผลกระทบจึงยังค่อนข้างจำกัด ทำให้คงมองการส่งออกไทยไปจีนทั้งปี 2565 จะยังขยายตัวที่ 4.8% มีมูลค่าการส่งออก 38,917 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์บานปลายและลากยาวคงต้องมีการประเมินผลกระทบอีกรอบ

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่เกิดขึ้นในบางมณฑลของจีนยังคงต้องจับตามองกันต่อไปว่า จีนจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่ เพราะการล็อกดาวน์แม้จะทำเพียงบางพื้นที่ แต่กลับส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่เพียงเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอีกด้วย

นอกจากนี้ การคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ดูจะสอดคล้องกับสถานการณ์ของจีนในห้วงเวลาปัจจุบัน เมื่อเอดีบีปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย ลงสู่ระดับ 5.2% ในปีนี้ จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.3% และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวในปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 6.9%

โดย เอดีบี เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย ระบุว่า สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะซ้ำเติมเศรษฐกิจเอเชียซึ่งได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียในปีนี้ ได้แก่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นอย่างมาก เสถียรภาพทางการเงินที่อาจเผชิญความเสี่ยงเนื่องจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

ทั้งนี้ เอดีบี คาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพียง 5% ในปีนี้ ซึ่งลดลงอย่างมากจากปี 2564 ที่มีการขยายตัว 8.1% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศจีน

นอกจากนี้ เอดีบี ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอชียขึ้นสู่ระดับ 3.7% ในปีนี้ จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.7% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 3.1%

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ปัจจัยเสี่ยงภายนอกจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยมากน้อยเพียงใด เมื่อปัจจัยเหล่านั้นอยู่นอกเหนือการควบคุม.

ใส่ความเห็น