วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > บิ๊กซีเร่งสปีด “ฟู้ดเพลส” รีโนเวตเพิ่มจุดขาย-จุดแข็ง

บิ๊กซีเร่งสปีด “ฟู้ดเพลส” รีโนเวตเพิ่มจุดขาย-จุดแข็ง

“บิ๊กซี” กำลังเร่งเสริมทัพรับสมรภูมิค้าปลีกปี 2565 โดยเฉพาะการรีโนเวตสาขา เพื่อขยายโมเดลใหม่ Big C FoodPlace หลังคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี เข้ามาเปิดศึกชนิดยกแพ็กเจาะทุกตลาด ทุกช่องทาง ทั้งโลตัส แม็คโคร ซีพีเฟรชมาร์ท และเซเว่นอีเลฟเว่น

แหล่งข่าวจากบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยว่า บริษัทปรับแพลตฟอร์ม บิ๊กซี ฟู้ด เพลส (Big C Food Place) ซึ่งเปิดตัวสาขาแรกเมื่อปี 2562 ในศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เปลี่ยนบางรายละเอียดให้เข้ากับทำเลและกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ แต่ยังเน้นจุดแข็งหลัก คือ การปรับโฉมด้านหน้าให้ทันสมัยแตกต่างจากบิ๊กซีที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มซูเปอร์เซ็นเตอร์ กลุ่มมาร์เก็ตและมินิบิ๊กซี การชูจุดเด่นกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานและอาหารออร์แกนิก เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆของลูกค้า

ล่าสุด บิ๊กซีขยายสาขาฟู้ดเพลสแล้ว 5-6 สาขา และอยู่ระหว่างรีโนเวตอีกหลายสาขา โดยเน้นสาขาขนาดกลาง และเจาะทำเลชุมชนย่านชานเมืองที่มีการขยายตัวสูง มีกำลังซื้อ หรือพื้นที่ที่มีหมู่บ้านเกิดใหม่จำนวนมาก

หากย้อนกลับไปดู บิ๊กซี ฟู้ดเพลส สาขาแรกในสามย่านมิตรทาวน์ บริษัทตั้งเป้าหมายเป็น Food Store รูปแบบครบวงจรใกล้บ้านและเปิดตลอด 24 ชั่วโมง เน้นพื้นที่จำหน่ายแผนกอาหารสดใหญ่กว่าทุกแพลตฟอร์ม มุ่งจับกลุ่มลูกค้าในเมือง 5 กลุ่มหลัก

ได้แก่ 1. กลุ่มนักเรียน นิสิต อาจารย์ เนื่องจากสามย่านเป็นศูนย์กลางของสถานศึกษา 2. กลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่ทำงานบริเวณสามย่าน หรือต้องเดินทางกลับด้วยรถไฟใต้ดิน 3. กลุ่มผู้พักอาศัยในสามย่านและใกล้เคียง 4. กลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อน และ 5. กลุ่มฟรีแลนซ์ ที่ต้องเดินทางไปนอกสถานที่ และทำงานไม่เป็นเวลา

ไฮไลต์หลักประกอบด้วยมุม Grab & Go โซนอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งซื้อกลับบ้านหรือพร้อมรับประทานใน Dining Station ทั้งอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เนื้อวัวนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย เคาน์เตอร์อาหารทะเล ซูชิและปลาดิบ โซนเบเกอรี่ระดับพรีเมียมสไตล์ฝรั่งเศส มากกว่า 30 ชนิด และร้านกาแฟออร์แกนิก WAWEE นอกจากนี้ มีโซนสุขภาพความงามและร้านขายยา Pure โฉมใหม่

ต้องถือว่าสาขาในสามย่านมิตรทาวน์ เป็น Flagship store และมีการขยายสาขาใหม่ๆ ได้แก่ บิ๊กซี ฟู้ดเพลส สาขาเกตเวย์ สาขาสุขาภิบาล 5 สาขาเคหะร่มเกล้า โดยมีสาขาหนามแดง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และสาขาท่าอิฐ อ.เมือง จ.นนทบุรี อยู่นอกกรุงเทพฯ และกลายเป็น Destination ใหม่ของกลุ่มลูกค้า

ขณะเดียวกัน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ในฐานะบริษัทแม่ พยายามเร่งต่อยอดอัดกลยุทธ์ใหม่ๆ โดยล่าสุดเปิดตัวกลุ่มสินค้า “We Are Fresh” (วี อาร์ เฟร็ช) ภายใต้สโลแกน คัดสรรคุณภาพเพื่อความสด อร่อย ส่งตรงจากเกษตรกรท้องถิ่น ปลูกด้วยวิถีธรรมชาติ ปลอดภัยจากสารเคมี 100% ในราคาเข้าถึงได้ ส่งจำหน่ายในบิ๊กซีทุกสาขาทั่วประเทศ และจัดกลุ่มสินค้ามากกว่า 2,000 รายการ เช่น สินค้ากลุ่มผัก มีให้เลือก 3 ชนิด ได้แก่ ผักเกษตรอินทรีย์ (Organic) 100% ผักไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponic) และผักปลอดสารพิษ (Hygienic) สินค้ากลุ่มผลไม้ กลุ่มไข่ไก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ไร้สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตและปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ

กลุ่มอาหารทะเล ปลาน้ำจืด-น้ำเค็ม กุ้งขาว และอาหารทะเลแห้ง ซึ่งส่งตรงจากฟาร์มเพาะเลี้ยง ปลอดสารพิษตกค้าง รวมถึงกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) อาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) และกลุ่มขนมปัง

นอกจากนี้ ประกาศทุ่มงบปลุกปั้นสินค้าในชีวิตประจำวันแบรนด์ Besico (เบสิโค) ซึ่งครอบคลุมทุกหมวดหมู่กว่า 3,000 รายการ ตั้งแต่ของใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์กีฬาและสันทนาการ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชุดชั้นในบุรุษและสตรี เสื้อผ้าบุรุษ เสื้อผ้าสตรี เสื้อผ้าเด็กและเครื่องประดับต่างๆ เน้นการออกแบบเป็นคอลเลกชันที่มีความหลากหลาย ดีไซน์เรียบง่ายและผลิตจากนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อขยายฐานเจาะลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นและน่าสนใจมาก คือ การแตกแบรนด์ธุรกิจร้านขายยา “สิริฟาร์มา” จำหน่ายยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ มีมาตรฐานรับรองและบริการคำแนะนำจากเภสัชกรตลอดเวลาทำการ เน้นราคาคุ้มค่า ทั้งขายปลีกและขายส่ง โดยประเดิมสาขาต้นแบบร้านเดี่ยวนอกห้างบิ๊กซีตรงข้ามตลาดพรานนก เพื่อจับกลุ่มลูกค้าชุมชนและลูกค้าที่ไม่สะดวกเดินทางไปร้าน Pure ในบิ๊กซี

ดร.มลฤดี เลิศอุทัย รองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการค้าปลีกขนาดเล็ก บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บิ๊กซีเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจร้านขายยา เนื่องจากโครงสร้างประชากรของประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่าง ๆ ทำให้คนไทยมีความต้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และบริโภคยามีอัตราสูงขึ้น ทั้งนี้ วางแผนขยายสาขาสิริฟาร์มาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 เตรียมเปิดอีก 2 สาขาในกรุงเทพฯ และตั้งเป้าผุดเพิ่ม 11 สาขาทั่วประเทศภายในปี 2569

ค่ายบิ๊กซียังซุ่มเงียบลุยโปรเจกต์ร้าน “โดนใจ” เจาะกลุ่มเจ้าของร้านโชวห่วยที่ต้องการยกระดับธุรกิจแข่งขันกับกลุ่มร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 3 แสนบาท ไม่ต้องหักแบ่งรายได้และยังเป็นเจ้าของกิจการ 100% ซึ่งถูกกว่าการทุ่มเงินซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อหลักล้านบาท เนื่องจากเป็นการปรับโฉมจากร้านค้าเดิม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนเงินค่าหลักประกันจะจ่ายคืนภายหลัง

หรือในกรณีเปิดร้านใหม่ ผู้ค้าลงทุนโครงสร้างร้านและให้ทีมงานโดนใจเข้าตกแต่งภายในพร้อมวางระบบทั้งหมดได้เช่นกัน แต่มีเงื่อนไขเดียว คือ ต้องสั่งซื้อสินค้าทุกชิ้นจากบิ๊กซี

ดังนั้น หากตรวจแนวรบเครือข่ายค้าปลีกของบิ๊กซี ประกอบด้วยกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า มีสาขารวม 153 แห่ง กลุ่มบิ๊กซี มาร์เก็ต บิ๊กซี ฟู้ดเพลส และบิ๊กซีดีโป้ รวม 60 แห่ง กลุ่มมินิบิ๊กซี 1,300 สาขา ร้านขายยาเพียว 145 สาขา ส่วนเครือข่ายโชวห่วย “โดนใจ” ล่าสุดมีมากกว่า 100 แห่ง

นักวิเคราะห์หลายคนในวงการธุรกิจค้าปลีกต่างมองการปรับตัวอย่างเข้มข้นของบิ๊กซีมาจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เพิ่งเปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 3 ปี 2564 เติบโตลดลง 3.4% หรือมียอดขายรวม 36,922 ล้านบาท ลดลง 1,317 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของยอดขายในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ การลดลงของรายได้ค่าเช่าในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากต้องยกเว้นค่าเช่าและเพิ่มส่วนลดค่าเช่าให้กลุ่มผู้เช่าใน 29 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม ที่จำเป็นต้องปิดร้านค้าในบางช่วง

เมื่อรวมรายได้ 9 เดือนของปี 2564 อยู่ที่ 109,640 ล้านบาท ลดลง 9,470 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.0 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลดลงของยอดขายในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

คิดคำนวณแล้วบริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทงวด 9 เดือน เท่ากับ 2,202 ล้านบาท ลดลง 446 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.8 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเก้าเดือนของปีก่อน

การรุกสู้ศึกค้าปลีกในปี 2565 ด้วยการสร้างเครือข่ายอย่างแข็งแกร่งจึงมีรายได้เป็นเป้าหมายสำคัญ ยิ่งล่าสุดเกิดการแพร่ระบาดไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” เข้ามาในประเทศไทย ยิ่งทำให้สงครามการช่วงชิงยอดขายรุนแรงมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่เกมการตลาดแข่งขันกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ แต่ต้องต่อสู้กับวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตกำลังซื้อที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนเมื่อใด

ใส่ความเห็น