วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > รัฐ-สถาบันการเงิน เร่งออกมาตรการ สกัดหนี้ครัวเรือนพร้อมเสริมสภาพคล่อง

รัฐ-สถาบันการเงิน เร่งออกมาตรการ สกัดหนี้ครัวเรือนพร้อมเสริมสภาพคล่อง

รัฐและสถาบันการเงินเร่งออกมาตรการเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจและสกัดหนี้ครัวเรือนที่กำลังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันเริ่มลดลง แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังคงยืดเยื้อและต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ไตรมาส 3/2564 ตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้อัตราการว่างงานสูงสุดตั้งแต่มีโควิด โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 2.25%

ในขณะที่หนี้ครัวเรือนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 2/2564 เติบโตต่อเนื่อง ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 2/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDP ชะลอลงจากระดับ 90.6% ต่อ GDP สูงสุดในรอบ 18 ปี ที่ทำไว้ในไตรมาส 1/2564 สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ ซึ่งนั่นย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและสภาพคล่องทางเศรษฐกิจโดยตรง

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ที่ถือเป็นการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงภาครัฐ ต่างเร่งออกมาตรการเพื่อให้การช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อเพิ่มติม พักชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการกำหนดเงื่อนไขให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และการรวมหนี้ (Debt Consolidation)

ซึ่งมาตรการต่างๆ ข้างต้นได้ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงต้นปีและส่วนใหญ่กำลังจะครบกำหนดระยะเวลาภายในสิ้นปี 2564 ที่จะถึงนี้ แต่ดูเหมือนว่าความเป็นไปทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ยังคงน่าเป็นห่วง สถานะทางการเงินของครัวเรือนและธุรกิจมีความเปราะบาง และยังต้องการมาตรการช่วยเหลือตลอดจนการกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากภาครัฐและสถาบันทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ให้กับธนาคารออมสินเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพเป็นเงินทุนเริ่มต้นในการประกอบอาชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพื่อลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหรือสินเชื่อนอกระบบ

กลุ่มเป้าหมายของสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพได้แก่ 1. ผู้เริ่มประกอบอาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ผ่านการอบรมวิชาชีพ “ช่าง” ทุกประเภท เช่น ช่างปูน ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมอุปกรณ์ รวมถึงวิชาชีพเสริมสวย ตัดแต่งทรงผม ขายของออนไลน์ เป็นต้น โดยผู้ที่จะยื่นขอสินเชื่อต้องมีใบประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนหรือเอกสารอื่นๆ ตามประเภทของอาชีพ หรือมีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพดังกล่าว

2. ผู้ประกอบการขนาดย่อมที่มีสถานที่จำหน่ายแน่นอน เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง โชวห่วย แฟรนไชส์ โดยมีทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนการค้า สัญญาแฟรนไชส์ หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของอื่นๆ ประกอบ

3. ผู้ขับขี่รถสาธารณะ เช่น ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รถตู้สาธารณะ รถขนส่งสินค้า รถบรรทุก โดยต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะหรือเอกสารอื่นๆ ตามประเภทของอาชีพ

โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 300,000 บาท ผ่อนได้นาน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3.99 ต่อปี สำหรับ 6 งวดแรก จะปลอดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบคือ 23 พฤศจิกายน 2564 – 30 กันยายน 2565

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีการจัดฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินและยกระดับทักษะในการประกอบอาชีพ รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การค้าและสถานที่จำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าเพิ่มเติมด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ประมาณ 60,000 ราย

ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาปรับเกณฑ์ “รวมหนี้” เพื่อสกัดหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย ธปท. ได้ปรับปรุงมาตรการรวมหนี้จากเดิมที่เน้นการรวมหนี้เฉพาะหนี้ที่เกิดจากสถาบันการเงินเดียวกัน สู่การรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงิน เพื่อเอื้อในการวางกรอบการชำระหนี้อย่างเป็นระบบ

พร้อมกำหนดเกณฑ์เพิ่มเติม คือ 1. ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่เรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) เช่น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมใดๆ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ทั้งจำนวนหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อลดข้อจำกัดในการรีไฟแนนซ์ (refinance) และสนับสนุนการรวมหนี้ ทั้งนี้ให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

2. ปรับแนวทางการรวมหนี้ระหว่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ โดยขยายขอบเขตให้สามารถรวมหนี้ระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจได้

3. ให้คิดดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่นำมารวมหนี้ได้ไม่เกินดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้าน โดยบวกเพิ่มได้ไม่เกิน 2%/ปี

4. ธนาคารที่รวมหนี้ตามเงื่อนไขจะได้รับการผ่อนปรนเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง และคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต โดยสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่นำมารวมหนี้ตั้งแต่วันที่กำหนดจนถึง 31 ธันวาคม 2566 สามารถใช้น้ำหนักความเสี่ยงที่ 35% ได้ตลอดอายุสัญญา

ที่ผ่านมามาตรการรวมหนี้ทำภายในสถาบันการเงินเดียวกันจึงไม่เกิดการแข่งขันและไม่จูงใจให้ลูกค้าทำการรวมหนี้ ธปท. จึงได้ผ่อนปรนเกณฑ์เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินทำการรวมหนี้ข้ามสถาบันได้ เช่น การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการปิดสินเชื่อก่อนกำหนดเป็นเวลา 2 ปี โดยคาดว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะทยอยเสนอผลิตภัณฑ์การรวมหนี้ได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2564

แต่ในอีกแง่หนึ่งการรวมหนี้ข้ามธนาคารอาจไม่ง่ายนัก แม้ว่า ธปท. จะปรับเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เกิดการรวมหนี้ก็ตาม เนื่องจากธนาคารมองว่ามาตรการรวมหนี้เป็นการนำลูกหนี้จากธนาคารหนึ่งไปไว้กับอีกธนาคารหนึ่งทำให้ต้องแบกรับภาระและความเสี่ยงสูงขึ้นตามไปด้วย

ด้านธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ได้ออกมาตรการพิเศษสำหรับลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้ขาดสภาพคล่องและต้องการลดค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน

สำหรับมาตรการช่วยลูกค้าบุคคลนั้น ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 (สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน) ลดค่างวด โดยขยายระยะเวลาชำระหนี้สูงสุด 12 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยบางส่วน สูงสุด 12 เดือน หรือ พักชำระเงินต้นและชำระเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน

มาตรการที่ 2 (สินเชื่อบุคคลแบบกำหนดระยะเวลา) ลดการผ่อนชำระลง 30% สูงสุด 6 เดือน

มาตรการที่ 3 (สินเชื่อบุคคลประเภทวงเงินหมุนเวียน) เปลี่ยนเป็นวงเงินกู้ แบบกำหนดระยะเวลา 48 งวด

ในส่วนของลูกค้าธุรกิจ ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ ดอกเบี้ยพิเศษเฉลี่ย 2 ปี ไม่เกิน 2%/ปี ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี, มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 6 เดือน หรือ ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 24 เดือน, สำหรับวงเงินกู้ 20-500 ล้านบาท สามารถพักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้สูงสุด 12 เดือน

ซึ่งมาตรการจากธนาคารกรุงไทยครอบคลุมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย, ลดค่างวดชำระหนี้แบบ Step Up, เปลี่ยนประเภทหนี้วงเงินกู้หมุนเวียน (Revolving Loan) เป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) และการปรับโครงสร้างหนี้ โดยธนาคารจะเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้า

นอกจากนั้น ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการขยายตัวของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ซึ่ง ธปท. คาดว่าในปี 2565 ระดับ NPL จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น แต่ยังอยู่ในวิสัยที่สถาบันการเงินและลูกหนี้บริหารจัดการได้ โดยที่การช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปจะไม่เน้นมาตรการพักชำระหนี้ซึ่งเป็นมาตรการเฉพาะหน้า แต่จะเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงจุดและให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในแต่ละรายแตกต่างกันเป็นการเฉพาะมากกว่า

คงต้องติดตามกันต่อว่ามาตรการต่างๆ จากทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินที่ทยอยออกมา จะสามารถเยียวยาภาวะ Long COVID ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยได้มากน้อยเพียงใด

ใส่ความเห็น