วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Life > Aged Society เมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

Aged Society เมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

เมื่อไม่นานมานี้ “มิวเซียมสยาม” ได้จัดการประชุม Museum Forum 2021 ภายใต้หัวข้อที่น่าสนใจอย่าง “มิวเซียมสายตายาว มองการณ์ไกลเพื่อสังคมสูงวัย Far-sighted Museum: Sighting forward to Aging Society” เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และปฏิบัติการด้านพิพิธภัณฑ์สำหรับผู้สูงวัย เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทย

ความจริงแล้วไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยมีประชากรผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 10.4% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึง ณ ปัจจุบัน ปี 2564 ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยมีประชากรผู้สูงวัยในสัดส่วน 20% จากประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2578 อาจจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 30%

องค์การสหประชาชาติแบ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึงมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ, ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ และระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เกิดขึ้น ทำให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และกิจการต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไป พิพิธภัณฑ์แม้จะอยู่ในฐานะสถาบันทางสังคมที่รองรับประชากรทุกกลุ่มวัย แต่ที่ผ่านมานิทรรศการตลอดจนกิจกรรมส่วนใหญ่กลับเน้นไปที่กลุ่มเยาวชน วัยเรียน และสาธารณชนทั่วไป

แต่เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไปเช่นนี้ และหลายประเทศก็เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้พิพิธภัณฑ์จึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น เพื่อสร้างกิจกรรมเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มประชากรผู้สูงวัย เช่น ลดค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงวัย ปรับปรุงขนาดตัวอักษรและแสงในนิทรรศการที่จัดแสดงเพื่อช่วยในการอ่าน รวมถึงสร้างกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม

ในการประชุมดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัยจากทั้งในและต่างประเทศ มีการนำเสนอกรณีศึกษาและบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในการทำงานด้านผู้สูงวัย

โดยพิพิธภัณฑ์จะพัฒนาบริการสำหรับผู้ชมที่เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น ด้วยการสำรวจและทำความเข้าใจอย่างจริงจังทั้งในเรื่องกายภาพ จิตวิทยา และพัฒนาการทางสังคม เพื่อให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริง ตลอดจนสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้สูงอายุในการใช้บริการของพิพิธภัณฑ์ ในขณะเดียวกันยังค้นหาวิธีที่จะกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเข้าพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้จากนิทรรศการและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การทำงานกับผู้สูงอายุยังคงเป็นเรื่องใหม่ในบริบทของพิพิธภัณฑ์ไทย การที่จะผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ปรับตัวเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทาย และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ แต่ถึงกระนั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับตัวเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยที่เกิดขึ้นในสังคม

ไม่เพียงพิพิธภัณฑ์เท่านั้นที่เริ่มปรับตัว แต่การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุยังถือเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

ธุรกิจด้านการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่เป็นที่ต้องการและมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างดี ทั้งในรูปแบบการดูแลสุขภาพทั่วไป การรักษาอาการเจ็บป่วย และบริการโฮมแคร์หรือ Nursing Home ที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลถึงบ้าน เพราะสุขภาพและการดูแลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงวัย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงธุรกิจด้านยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย เพราะลักษณะโรคของกลุ่มผู้สูงอายุจะมีลักษณะเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะสมองเสื่อม เบาหวาน กระดูกพรุน ข้อเสื่อม ดังนั้นการพัฒนายา เทคโนโลยี ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการแพทย์เพื่อช่วยยืดอายุและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยดีขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ธุรกิจอาหารสุขภาพ อาหารการกินถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุที่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะกับช่วงวัยจะช่วยให้สุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาว ดังนั้นอาหารสุขภาพจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีช่องทางในการเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้คนหันมาใส่ใจในสุขภาพและอาหารที่ดีมากขึ้น

ธุรกิจการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่เป็นที่โปรดปรานของหลายๆ คน รวมถึงผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน เพราะการออกเดินทางท่องเที่ยวถือเป็นการเติมพลังชีวิตได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เช่น จัดเส้นทางนำเที่ยวที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ไม่ต้องใช้พละกำลังมาก เดินทางไม่ยากนัก จัดกิจกรรมในทริปที่เอื้อต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เช่น การฝึกโยคะ นวดแผนโบราณ ฝึกสมาธิ เพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยชูจุดเด่นที่การออกแบบบ้านให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือและการสร้างคอมมูนิตี้สำหรับผู้สูงอายุ บางแห่งยังได้ร่วมมือกับบริการทางการแพทย์ ร้านอาหาร ร้านค้า สถานที่ออกกำลังกาย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรง

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ เนื่องด้วยสภาพร่างกายที่เริ่มเสื่อมถอย ทำให้ผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ดังนั้นผู้ผลิตและผู้ประกอบการในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์รวมถึงเครื่องใช้ในบ้านต่างๆ สามารถใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาและออกแบบเฟอร์นิเจอร์รวมถึงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกายภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุโดยเฉพาะได้ เช่น เตียงนอนปรับระดับ เก้าอี้ที่เหมาะกับกายภาพของผู้สูงวัย ก๊อกน้ำที่ผู้สูงอายุถนัดแบบปัดไปด้านข้างมากกว่าจะเป็นแบบหมุนหรือแบบกด เป็นต้น

ธุรกิจด้านการวางแผนทางการเงินหลังเกษียณ การเก็บออมในวัยทำงานเพื่อใช้ดูแลตัวเองหลังเกษียณเพื่อไม่เป็นภาระของลูกหลานคือสิ่งที่วัยทำงานหลายคนให้ความสำคัญ ธุรกิจวางแผนการเงิน ทั้งการให้คำปรึกษาในด้านการออม การลงุทน และประกันหลังเกษียณอายุ จึงเป็นธุรกิจที่น่าจับตาและมีแนวโน้มการเติบโตสูง

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับสังคมผู้สูงอายุ แต่แน่นอนว่าการปรับตัวยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป

ใส่ความเห็น