วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2024
Home > New&Trend > มิวเซียมสยามกับการปรับตัวในยุคสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทย

มิวเซียมสยามกับการปรับตัวในยุคสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากมีประชากรสูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทั้งในระบบบริหาร ระบบสุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับความต้องการพื้นฐานและการพัฒนาประชากรกลุ่มใหม่นี้ ประเทศหลายประเทศไม่ได้พัฒนาเพียงแค่การรองรับความต้องการทางกายภาพของประชากรสูงวัย แต่รองรับความต้องการทางสังคม จิตใจ และการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง มีความเคารพและพึ่งพาตนเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคมจนส่งผลให้กลายเป็นผู้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

มิวเซียมสยาม ในฐานะหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี และเห็นว่าสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ จึงได้จัดการประชุม Museum Forum 2021 Online ภายใต้แนวคิด มิวเซียมสายตายาว มองการณ์ไกลเพื่อสังคมสูงวัย Far-sighted Museum: Sighting forward to Aging Society เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และปฏิบัติการด้านพิพิธภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัย พร้อมเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านผู้สูงวัยพิพิธภัณฑ์ นักปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ นักการศึกษาพิพิธภัณฑ์ และผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ ถือเป็นการสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานพิพิธภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัยในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ รวมถึงจุดประเด็นเรื่องบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในสังคมผู้สูงวัยให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ทั้งนี้ มิวเซียมสยาม ได้จับมือ พันธมิตรพิพิธภัณฑ์ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ นำเสนอ 27 กรณีศึกษาในมิติการทำงานด้านผู้สูงวัยของพิพิธภัณฑ์ งานประชุมครั้งนี้มีปาฐกถาจากผู้สูงวัยและจากองค์กรพิพิธภัณฑ์จาก 4 ประเทศ คือ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฟินแลนด์ และประเทศไทย

สำหรับมุมของการทำงานกับผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยนั้น พิพิธภัณฑ์จะพัฒนาผู้ชมที่เป็นผู้สูงอายุ ด้วยการสำรวจ และทำความเข้าใจอย่างจริงจังในเรื่องชีวภาพ กายภาพ จิตวิทยา พัฒนาการทางสังคม ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของประชากรกลุ่มสูงวัย พิพิธภัณฑ์ควรจะค้นหาและตระหนักในความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงวัย เพื่อจะหาข้อบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ และอุปสรรคที่ขัดขวางการเรียนรู้หรือกันผู้สูงอายุออกจากการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ควรค้นหาวิธีที่จะกระตุ้น ให้ผู้สูงอายุเข้าพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้จากนิทรรศการและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ

อย่างไรก็ตามการทำงานกับผู้สูงวัยถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในบริบทของพิพิธภัณฑ์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเป้าหมายที่จะขยายผลผลักดันให้องค์กรพิพิธภัณฑ์ให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนตัวเองในการทำงานรองรับสังคมสูงวัยนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การสำรวจองค์ความรู้ การรวบรวมปฏิบัติการ การแบ่งปันความรู้ และการนำความรู้ไปขยายผล

แม้ว่าพิพิธภัณฑ์จะเป็นสถาบันทางสังคมที่นิยามตัวเองว่ารองรับประชากรทุกกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่แล้วนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ กลับเน้นไปที่กลุ่มเด็กในวัยเรียน คนรุ่นเยาว์ สาธารณชนทั่วไป กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆ แต่ยังคงให้ความสนใจน้อยกับกลุ่มประชากรสูงวัย กระทั่งไม่กี่ปีมานี้ เมื่อโครงสร้างประชากรในโลกเปลี่ยนแปลงและชี้ชัดถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งจึงได้หันมารองรับความต้องการของผู้สูงอายุมากขึ้น เป็นต้นว่า มีการลดค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุ ปรับปรุงขนาดตัวอักษรและแสงในนิทรรศการเพื่อช่วยในการอ่าน มีการสร้างกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น

ใส่ความเห็น