วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > โหมกระแสอาหารต้านโควิด ดันท่องเที่ยวสไตล์ “ไทยเทสเทอราปี”

โหมกระแสอาหารต้านโควิด ดันท่องเที่ยวสไตล์ “ไทยเทสเทอราปี”

โครงการไทยเทสเทอราปี (Thai Taste Therapy) เตรียมลุยแผนเฟสที่ 2 ดันเส้นทางท่องเที่ยว หลังเปิดโปรเจกต์สร้างจุดขายใหม่ให้อาหารไทย ไม่ใช่แค่ความอร่อย แต่เน้นสรรพคุณเป็นยาและเป็นยาที่อร่อยที่สุดในโลก เพื่อปลุกกระแสดึงดูดคนทั่วโลก โดยคัด 50 เมนู 3 กลุ่ม 3 สรรพคุณ ไม่ว่าจะเป็นเมนูบำรุงสุขภาพ เมนูกัญชารักษาโรค และเมนูต้านโควิด-19 ที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง

เบื้องต้นคาดว่า เส้นทางท่องเที่ยว “ไทยเทสเทอราปี” จะเผยโฉมในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ภาครัฐกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งในตลาดนักท่องเที่ยวไทยและเร่งดึงดูดชาวต่างชาติ เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นปลายปีต่อเนื่องจนถึงปีใหม่

ที่สำคัญ โครงการต้องการผลักดันเมนูอาหารทั้ง 50 รายการ เป็นแม่เหล็กสร้างการรับรู้ถึงอาหารไทยอีกรูปแบบ เพิ่มเติมจากการเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ขึ้นทะเบียนไว้ 20 รายการ ได้แก่ ต้มยำกุ้ง แกงเผ็ด สำรับอาหารไทย ข้าวหลาม น้ำตาลมะพร้าว น้ำปลาไทย น้ำพริก กระยาสารท อาหารบาบ๋า มังคุดคัด ผัดไทย ปลาร้า ขนมเบื้อง แกงพุงปลา เมี่ยงคำ แกงเขียวหวาน ส้มตำ ข้าวยำ ข้าวต้มมัด และปลาดุกร้า

สำหรับ 50 เมนู ประกอบด้วยกลุ่มเมนูเสริมสร้างภูมิต้านทานโควิด (Immune Booster) จำนวน 22 เมนู กลุ่มเมนูอาหารจากกัญชา (Culinary Cannabis) รวมถึงใบกระท่อม จำนวน 10 เมนู และกลุ่มเมนูสมุนไพรเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) อีก 18 เมนู

ไอริณ ฤกษะสาร ผู้บริหารโครงการไทยเทสเทอราปี เปิดเผยว่า เฟสที่ 1 ของโครงการเน้นการรับรู้อาหารไทยภายใต้แนวคิดเรื่องคุณประโยชน์ทางยา ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม โดยเชิญเชฟชื่อดังระดับเวิลด์คลาส เช่น เชฟมาดามนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ เจ้าของร้านอาหารบลู เอเลเฟ่นท์ ร้านอาหารไทยที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก เชฟแอนดี้ ยังเอกสกุล เชฟมิชลินสตาร์อาหารไทย 1 ดาว คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลมิชลินสตาร์อาหารไทยจากสหรัฐอเมริกา เชฟอรรถพล ไนโต ถังทอง อดีตรางวัลเหรียญทองเชฟโอลิมปิก Executive Chef โรงแรมแมริออท เดอะ สุรวงศ์ และสุดยอดเชฟในเครือแมริออททั่วโลก รวมทั้งเชฟชื่อดังอีกหลายคนมาร่วมสร้างสรรค์เมนูอาหารไทยจานพิเศษ

เช่น กุ้งซอสมะขามสมุนไพร ข้าวขยำมันกุ้ง ข้าวยำสมุนไพร ต้มยำกุ้งแม่น้ำ ปลาจุ่มบ้านเดื่อ สปาเกตตีน้ำพริกอ่อง และข้าวมันตะไคร้หน้าหมูย่างราดซอสพริกไทยดำไข่ดองน้ำปลา โดยจัดบูธแสดงการปรุงและวัตถุดิบต่างๆ ด้านหน้าโรงแรมแมริออท เดอะ สุรวงศ์ ซึ่งผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมพร้อมสั่งอาหาร Thai Taste Therapy และสินค้าสุขภาพจากสมุนไพรไทย สินค้าพื้นถิ่นที่เข้าร่วมโครงการผ่านทางไลน์ @thaitastetherapy

นอกจากนี้ จับมือกับร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ เปิดขายเมนูอาหารไทยเทสเทอราปี เปิดตัวแพลตฟอร์ม ThaiTasteTherapy.com จัดคอร์สสอนทำอาหารไทยเป็นยาผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อส่งต่อสูตรอาหารและส่งออกวัตถุดิบเครื่องปรุงสมุนไพรไทยต่างๆ ให้ทั่วโลกสั่งซื้อได้ทางออนไลน์

ส่วนโครงการเฟสที่ 2 จะเป็นแผนการประชาสัมพันธ์เปิดเส้นทางท่องเที่ยวรูปแบบไทยเทสเทอราปี ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถแพ็กกระเป๋าไปได้อย่างสะดวกสบาย โดยจะนำเสนอในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ โครงการไทยเทสเทอราปีเป็นความพยายามของภาครัฐที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมอาหารไทยในมิติต่าง ๆ แม้สถาบันอาหารคาดการณ์แนวโน้มการส่งออกอาหารในปี 2564 จะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2563 แต่หากมีจุดขายใหม่ ๆ ย่อมมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นกว่านั้น

จากข้อมูลพบว่า การส่งออกในอุตสาหกรรมอาหารช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมา มีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มขยายตัวหลังการกลับมาเปิดเมือง (Reopening) ทำให้สินค้าที่มีช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม จัดเลี้ยง (HORECA) ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ากุ้งและอาหารทะเลสดแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มะพร้าวและกะทิสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน

ขณะที่กระแสนิยมดูแลรักษาสุขภาพโดยวิถีธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีของผู้บริโภค ส่งผลให้สมุนไพรกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบจากธรรมชาติที่แวดวงธุรกิจ Health and Wellness ทั่วโลกต้องการ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินว่า ปี 2563 ธุรกิจ Health and Wellness ที่นำสมุนไพรไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น เครื่องสำอาง ยาและอาหารเสริม มีมูลค่าตลาดรวมกันราว 91,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะขยับไปสู่ระดับ 166,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในปี 2573 เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ต่อปี

ในส่วนประเทศไทยตามนโยบายสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจสมุนไพรของไทยผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2560-2564 ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้ 3.6 แสนล้านบาทภายในปี 2564 และผลักดันไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรอันดับ 1 ของอาเซียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า มูลค่าของพืชสมุนไพรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 พันล้านบาทต่อปี แต่หากถูกส่งต่อไปยังตลาดค้าส่งในลักษณะการซื้อขายแบบ B2B ในรูปแบบผลสด-ผลแห้ง-แบบบดผง เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มูลค่าตลาดจะขยับขึ้นเป็น 21,800 ล้านบาท

หากพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เช่น ในกลุ่มอาหารและยา เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สปา และสามารถเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคได้ในลักษณะการซื้อขายแบบ B2C จะไต่ระดับมูลค่าตลาดไปได้สูงถึง 91,000 ล้านบาท สะท้อนศักยภาพที่ชัดเจนจากจุดเริ่มต้นเพียง 1,200 ล้านบาทต่อปี สู่ระดับ 91,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นมูลค่าเพิ่ม 73 เท่า

ขณะเดียวกันหากสามารถต่อยอดจากธุรกิจอาหารและสมุนไพรสู่ธุรกิจท่องเที่ยวจะสามารถกระจายเม็ดเงินเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งนอกจากเส้นทางท่องเที่ยวไทยเทสเทอราปีแล้ว ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมพิจารณาปัดฝุ่นเส้นทางท่องเที่ยวกัญชาและกัญชงเพื่อสุขภาพ หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย โดยจัดการท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ภายในประเทศ พาเที่ยวแหล่งปลูกและโรงพยาบาลที่เอากัญชามาผลิตเป็นยาแผนไทย มีบริการโฮมสเตย์ ใน 8 จังหวัดนำร่อง คือ สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชลบุรี สมุทรสงคราม ลำปาง แม่ฮ่องสอน และพัทลุง

ดังนั้น ถ้าทุกฝ่ายจับมือกันผลักดันโครงการทั้งหมด ต่อยอดจากภูมิปัญญาและสรรพคุณการรักษาโรคตามเทรนด์ใหม่ของคนทั่วโลก แนวคิดเรื่องการกินอาหารเป็นยา เลิกกินยาเป็นอาหาร สมุนไพรไทยและอาหารไทยสามารถเป็นจุดแข็งและจุดขายแข่งขันกับทุกชาติในโลกได้อย่างชัดเจนที่สุด

ใส่ความเห็น