วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > ปั่นตามกระแส ดันตลาดจักรยานโต

ปั่นตามกระแส ดันตลาดจักรยานโต

 
การออกกำลังกายไม่ใช่เพียงกิจกรรมที่แสดงออกถึงการเป็นคนใส่ใจและรักสุขภาพเท่านั้น ในปัจจุบันการออกกำลังกายกำลังเป็นเทรนด์แฟชั่นที่คนรุ่นใหม่วิ่งตามจนกลายเป็นกระแสสังคม ไล่เรียงตั้งแต่โยคะ พิลาทิส T25 กระทั่งล่าสุด จักรยาน พาหนะสองล้อที่อาศัยแรงมนุษย์ คือเทรนด์ใหม่ที่มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และยังมีนักปั่นหน้าใหม่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
จักรยานเริ่มได้รับความสนใจเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ช่วงเวลาที่พีคสุดคือเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา จักรยานที่เรียกกันว่าฟิกเกียร์เริ่มเป็นที่นิยมจากกลุ่มเซเลบ ศิลปินนักแสดง และขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันรูปแบบของจักรยานถูกพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปตามไลฟ์สไตล์ความชอบของแต่ละบุคคล
 
โดยจักรยานในตลาดไทยแบ่งได้เป็นสองประเภท 1. จักรยานบ้าน 2. จักรยานทางเลือก ซึ่งประเภทหลังนี่เองที่มีส่วนทำให้ตลาดจักรยานในไทยโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะจักรยานทางเลือกสามารถแบ่งย่อยได้อีก 5 กลุ่ม 1. จักรยานเสือภูเขา 2. จักรยานเสือหมอบ  3. จักรยานทัวริ่ง  4. จักรยานซิตี้ไบค์  5. จักรยานแบบพับได้ 
 
ความหลากหลายของจักรยานในปัจจุบันและกระแสความชื่นชอบของนักปั่นส่งผลให้ตลาดจักรยานในไทยมีมูลค่าการตลาดสูงถึง 6,500 ล้านบาท โดย 70 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดมาจากภูมิภาค 30 เปอร์เซ็นต์เป็นของตลาดจากภาคกลาง และธุรกิจนี้ยังเติบโต 10 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 แม้กระแสความนิยมจะยังไม่ตกและยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีการจัดสร้างเลนจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ รวมถึงการออกข้อบังคับไม่ให้มีการจอดรถทับเลนสำหรับจักรยาน 
 
กระนั้นการเติบโตของตลาดจักรยานปีนี้ก็ยังน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่มีการเติบโต 15-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความกังวลของผู้บริโภคต่อสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ และอาจมีการปรับอัตราการเก็บภาษีนำเข้าสำหรับจักรยานในอนาคต 
 
จากรายงานของกรมศุลกากรปี 2556 ไทยมีการนำเข้าจักรยานจากต่างประเทศมูลค่าสูงถึง 4,300 ล้านบาท และช่วงเวลา 3 เดือนแรกของปี 2557 กว่า 1,000 ล้านบาท โดยอัตราการจัดเก็บภาษีจักรยานแบ่งเป็น 3 พิกัดอัตราตามลักษณะของสินค้า นำเข้าแบบประกอบเพื่อการแข่งขัน เสียในอัตรา  1 เปอร์เซ็นต์  แต่หากไม่ได้นำเข้าเพื่อการแข่งขันจะเสียในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ และ 10 เปอร์เซ็นต์หากนำเข้ามาแบบชิ้นส่วนประกอบ 
 
ซึ่งหากตลาดจักรยานยังมีการเติบโตที่ต่อเนื่อง อุปสงค์ทวีตัวสูงขึ้น มีความเป็นไปได้ที่บรรดาธุรกิจที่รับนำเข้าจักรยานหรืออุปกรณ์ อาจอาศัยช่องโหว่นี้นำเข้าสินค้าโดยอ้างว่านำเข้าแบบประกอบเป็นคันเพื่อการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้หลบเลี่ยงภาษีได้อย่างหนึ่ง ทำให้กรมศุลกากรต้องจับตาดูเป็นพิเศษ
 
ตลาดรถจักรยานไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพราะได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ซึ่งสินค้าจากสหรัฐฯ เข้ามาทำตลาดในไทยเป็นเวลามากกว่า 10 ปี แม้ฐานการผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประเทศจีนและไต้หวันกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม 
 
กระแสความนิยมจักรยานที่แรงไม่หยุดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ นีโอ หรือ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด โหนกระแสนี้ด้วยการจัดงาน International Bangkok Bike ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 พร้อมแผนบุกตลาดการจัดงานจักรยาน ทั้งงานแสดงสินค้าและการจัดการแข่งขันจักรยานทางเรียบในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 
 
งาน “International Bangkok Bike 2015” ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ภายในงานได้รวบรวมจักรยานเอาไว้หลากหลายแบรนด์ รวมไปถึงอุปกรณ์ชุดแต่งจักรยาน และเสื้อผ้าสำหรับนักปั่น มาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงาน ทำให้มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 วัน ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ากระแสความนิยมในพาหนะสองล้อนั้นยังแรงดีไม่มีตก
 
แม้จักรยานจะขับเคลื่อนด้วยล้อเพียงสองล้อเท่านั้น หากแต่ตลาดจักรยานในไทยถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มหลักๆ กลุ่มที่ 1 คือ ผู้รักสุขภาพต้องการออกกำลังกาย และเลือกใช้จักรยานเป็นอุปกรณ์หนึ่งในการสร้างกล้ามเนื้อเผาผลาญแคลอรี กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ที่เลือกจักรยานไว้เป็นพาหนะสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำ ซึ่งมีสัดส่วนน้อยมาก และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ปั่นจักรยานไปตามกระแส หรือเลียนแบบคนดัง ซึ่งกลุ่มนี้นับเป็นผู้บริโภคส่วนใหญ่และมีกำลังซื้อสูง
 
กระนั้นเป้าหมายของนักการตลาดจะอยู่ที่นักปั่น 3 กลุ่มหลักที่กล่าวมา แต่ปัจจุบันตลาดใหม่ของพาหนะสองล้อกำลังเปิดประตูต้อนรับเป้าหมายใหม่ที่เป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่น และกลุ่มผู้หญิง ที่เริ่มให้ความสนใจและศึกษาถึงความคุ้มค่าของการออกกำลังกายโดยใช้จักรยาน
 
ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลาดจักรยานใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี สร้างมูลค่าการตลาดสูงถึงพันล้านบาท นั่นเพราะค่าใช้จ่ายสำหรับผู้บริโภคในการเป็นนักปั่นนั้นเฉลี่ยเริ่มต้นอยู่ที่ 8,000-12,000 บาท สำหรับจักรยานหนึ่งคัน และหากเป็นจักรยานออกกำลังกายที่มีคุณภาพสูง ราคาอยู่ที่ 40,000 บาท ถึงหลักแสน ยังไม่นับรวมอุปกรณ์เสริมที่จำเป็น เช่น ไฟหน้า ไฟท้าย กระดิ่ง หมวก เสื้อผ้า ที่มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 10,000 บาท 
 
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ อย่าง ททท. ให้ความสนใจและเข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวกับจักรยานมากขึ้น โดยวางแผนที่จะเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวด้วยจักรยานทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น และหวังให้จำนวนนักปั่นเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 25% จาก 320,000 คน เป็น 400,000 คน จะนำมาซึ่งรายได้ด้านการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน 1,350 ล้านบาทต่อปี 
 
นอกเหนือจาก ททท. ที่เห็นโอกาสในกระแสของวงล้อที่หมุนอย่างต่อเนื่องของจักรยานแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมคงไม่อาจอยู่เฉยได้เมื่อคนไทยฮิตปั่นจักรยานกันมากขึ้น แต่จักรยานส่วนใหญ่ที่กำลังแล่นอยู่บนท้องถนนไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงพยายามจะพัฒนามาตรฐานจักรยานไทยหวังสกัดสินค้านำเข้าที่แม้จะราคาถูกแต่ไร้คุณภาพ โดยการจับมือกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) เรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินทางและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
 
โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วย 1. ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาระบบการส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมจักรยานและอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ 2. การประสานด้านการประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำต่อคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันตลอดจนคนพิการ และ 3. การส่งเสริมอุตสาหกรรมตามแผนงานสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การเดินและจักรยาน รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่คนพิการ 
 
แม้จะเป็นการทำงานภายใต้กระแสของสังคม แต่ยังนับได้ว่า MOU ฉบับดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยที่ผลิตจักรยานเพื่อการส่งออก ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศที่จะบวกขึ้นด้วยเช่นกัน
 
การเติบโตของธุรกิจจักรยานที่เกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด แน่นอนว่าย่อมส่งผลดีทั้งต่อบรรดาผู้ขี่จักรยานที่จะได้สุขภาพดีกลับมา และบรรดานักธุรกิจค้าขายจักรยานที่มีผลกำไรต่อปีเพิ่มมากขึ้นด้วย นับเป็นธุรกิจที่มี Market Share สูงจนทำให้นักลงทุนหน้าใหม่อยากจะเข้ามาร่วมทริปจักรยานในครั้งนี้ด้วย 
 
วงล้อของจักรยานที่กำลังขับเคลื่อนไปด้วยแรงมนุษย์นั้น ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญมากกว่าโอกาสที่จะสร้างตัวเลขทางธุรกิจ หากแต่ในมิติของรูปแบบสภาพการจราจรในเมืองไทย รวมไปถึงวินัยของผู้คนที่มีต่อพื้นที่สาธารณะและเพื่อนร่วมทาง จะดำเนินไปในแบบวิถีไทยที่ตามใจฉัน หรือเราจะหาหนทางสร้างจิตสำนึกและวินัยที่ดีร่วมกัน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นให้แก่สยามประเทศ