วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Life > ระวัง 3 ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ

ระวัง 3 ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ

 
Column: Well – Being
 
แม้ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จะยอมรับว่า การระบุให้ชัดเจนถึงสาเหตุการเกิดโรคหัวใจนั้น ไม่สามารถทำกันได้ง่ายๆ แต่ Giovanni Campanile อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดแห่ง Rutgers New Jersey Medical School เตือนให้พึงระวังเกี่ยวกับปัจจัยซ่อนเร้นในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้อย่างไม่คาดคิด
 
กาเฟอีน 
สำหรับคนทั่วไปแล้ว การดื่มชาหรือกาแฟที่มีคาเฟอีนถือว่าเป็นคุณต่อหัวใจด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณดื่มมากกว่าหนึ่งถ้วย แล้วมีอาการใจสั่น คุณอาจจัดอยู่ในประเภท “เผาผลาญกาเฟอีนได้ช้า”
 
ในกรณีนี้ การดื่มชาหรือกาแฟเพียงวันละ 2–3 ถ้วย สามารถเป็นตัวเร่งให้คุณเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายได้ !
 
คุณป้องกันได้ด้วยการขอให้แพทย์เจาะเลือดเพื่อตรวจดูว่า ร่างกายคุณสามารถเผาผลาญสารกระตุ้นคือกาเฟอีนได้เร็วแค่ไหน หรือถ้าคุณรู้ตัวว่าเป็นคนไวต่อกาเฟอีน ต้องยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน โดยจำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเพียงหนึ่งถ้วยต่อวันเท่านั้น
 
นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งมักมีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบมากเกินไป ทั้งยังมีสารกระตุ้นสังเคราะห์และน้ำตาลที่ล้วนเป็นโทษต่อร่างกาย จากสถิติพบว่า ทุก 1 ใน 5 คนที่ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเหล่านี้ ล้วนเกิดอาการใจสั่นทั้งสิ้น
 
ไขมันทรานส์ที่แฝงในอาหาร 
แม้อาหารที่มีฉลากโภชนาการระบุว่า มีไขมันทรานส์ (trans fat) 0 กรัมนั้น จริงๆ แล้วอาจมีไขมันร้ายตัวนี้เป็นส่วนประกอบในปริมาณเล็กน้อยก็ได้ แต่มีผลทำให้ระดับไขมันเลว (LDL) สูงขึ้น และเชื่อมโยงกับการเกิดโรคหลอดเลือดและสมองและโรคหัวใจได้
 
นั่นเป็นเพราะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ไม่ถึง 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค อ้างได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีไขมันทรานส์ 0 กรัม
 
แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า ไขมันทรานส์ปริมาณเพียงเล็กน้อยนี้ สามารถสะสมและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว หากคุณบริโภคอาหารเหล่านี้เพียงวันละ 3 หรือ 4 หน่วยบริโภค นั่นหมายความว่า ร่างกายได้รับไขมันทรานส์รวม 1 กรัมหรือมากกว่านั้น
 
Giovanni Campanile จึงแนะนำให้อ่านรายละเอียดทั้งในส่วนของส่วนประกอบที่สำคัญและฉลากโภชนาการอย่างถี่ถ้วน ให้หลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่มีส่วนประกอบของน้ำมันผ่านกรรมวิธี (partially hydrogenated oil) หรือเนยขาว (shortening) ซึ่งเป็นรูปแบบแฝงของไขมันทรานส์นั่นเอง
 
การระเบิดอารมณ์โกรธ
วารสาร European Heart Journal ตีพิมพ์การค้นพบว่า คุณมีความเสี่ยงจากอาการหัวใจวายเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากระเบิดอารมณ์โกรธออกมา
 
เมื่อมีอารมณ์โกรธ ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตจะพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งหลอดเลือดเกิดการแข็งตัว ซึ่งทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นได้ 
 
หากคุณเป็นคนหงุดหงิดขี้โมโหอยู่เป็นนิจ คุณมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ระเบิดอารมณ์โกรธเป็นครั้งคราวอย่างแน่นอน เพราะภาวะความโกรธเรื้อรังทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอล ออกมามากมาย อันเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นปัจจัยเสี่ยของโรคหัวใจ
 
เพียงฝึกทำสมาธิเพียงวันละไม่กี่นาที สามารถช่วยให้จิตใจคุณสงบภายใต้ความเครียดได้ และเมื่อไรที่คุณเริ่มรู้สึกตัวว่าความโกรธกำลังมาเยือน ให้พยายามหายใจเข้า–ออกอย่างช้าๆ และลึก ซึ่งช่วยให้จิตใจสงบลงได้เช่นกัน
 
 
ที่มา: นิตยสาร Shape   
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว