วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > การส่งออกไทยกระเตื้อง สัญญาณดีหรือภาพลวงตา

การส่งออกไทยกระเตื้อง สัญญาณดีหรือภาพลวงตา

สัญญาณว่าด้วยการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้น หลังจากที่ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.59 ซึ่งนับเป็นการขยายตัวมากที่สุดในรอบ 11 ปี โดยมีมูลค่ารวม 23,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไทย 5 เดือนระหว่างมกราคมถึงพฤษภาคม 2564 การส่งออกมีมูลค่า 108,635 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.78 ซึ่งกลไกรัฐพยายามระบุว่าเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่เริ่มกระเตื้องขึ้น และทำให้การคาดการณ์การขยายตัวด้านการส่งออกทั้งปีถูกขยับตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 4

ข้อมูลที่น่าสนใจจากการขยายตัวเป็นประวัติการณ์ดังกล่าวในอีกด้านหนึ่ง พบว่าการนำเข้าของไทย มีมูลค่ารวม 107,141 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.52 ซึ่งทำให้ดุลการค้า 5 เดือนแรกของไทย เกินดุล 1,494 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการส่งออกไทยที่ขยายตัวดังกล่าวนี้ได้รับการตอกย้ำว่าเป็นไปตามแผนการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง บวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่สินค้าที่มีการขยายตัวดี เป็นสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ Work from Home และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้า สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รวมถึงถุงมือยาง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต และสินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง ทั้งรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ

ตลาดส่งออกหลักซึ่งครองสัดส่วนถึงร้อยละ 85 ของการส่งออกรวม มีอัตราการขยายตัวในทุกตลาดสำคัญ ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดเอเชียโดยเฉพาะอินเดีย ที่ยังคงนำเข้าสินค้าไทยในระดับสูง ควบคู่กับการขยายตัวของตลาดอาเซียน ที่กลับมาเติบโตขึ้นในทุกตลาด สำหรับการส่งออกของไทยในระยะต่อไป คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 5 ในเกือบทุกหมวดสินค้า ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน และการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในแต่ละประเทศส่งเสริมความเชื่อมั่นในการบริโภค และส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทย

แผนงานที่กลไกรัฐโดยกระทรวงพาณิชย์พยายามเดินหน้าต่อไปจากปัจจัยบวกดังกล่าวอยู่ที่การเร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา ควบคู่กับการรุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน โดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่านที่ปัจจุบันเปิดได้เพียง 45 ด่านให้เปิดด่านเพิ่มขึ้น เป้าหมายระยะสั้นเร่งเปิดให้ได้อย่างน้อยเพิ่มอีก 11 ด่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านบริเวณชายแดนลาว ซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะมุ่งไปสู่เวียดนามและจีน ซึ่งจะมีการเร่งรัดให้เปิดด่านเร็วขึ้น

ท่วงทำนองในการฟื้นฟูการส่งออกยังประกอบด้วยการเร่งส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้ารวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ต่อไป รวมถึงการเร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ยังเร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทยเพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปอีกด้วย

นอกจากนี้ แผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 ยังคงดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และตามแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีแผนงานโครงการสำคัญ ทั้งโครงการยี่ปั๊วออนไลน์ หรือ Online Resellers Connect ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Micro SMEs สามารถเจรจาธุรกิจ และส่งออกสินค้า ผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สินค้าของ SMEs และ Micro SMEs ไทยเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน การส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ โดยมีนโยบายให้เร่งเดินหน้ายกระดับการส่งออกสินค้าผลไม้ของไทยในตลาดจีน โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่สนใจของผู้บริโภคชาวจีนอย่างมาก และกระทรวงพาณิชย์จะเชิญชวนร้านค้าของจีนเข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกัน ทั้งนี้ ในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการเติบโตของการส่งออกสินค้าผลไม้อยู่ที่ร้อยละ 17 และได้เร่งดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อให้มูลค่าการส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่องและกำลังทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อกลไกสำคัญอีกส่วนหนึ่งว่าด้านการท่องเที่ยวยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระลอกและมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อยาวนาน ขณะที่การส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่องนับตั้งแต่ในเดือนเมษายนที่เติบโตขึ้นร้อยละ 13.09 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนมีนาคมที่ขยายตัวร้อยละ 8.47 และเป็นทิศทางที่ปรับดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันก่อนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

ตัวเลขและข้อมูลที่ปรากฏอยู่นี้ ทำให้กลไกรัฐที่เกี่ยวข้องเชื่อว่าการส่งออกของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง จากผลของการทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง และจะพยายามให้การส่งออกมีอัตราการขยายตัวเกินเป้าหมายให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนทำให้การส่งออกของไทยทรุดหนักตัวเลขการส่งออกติดลบมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยติดลบมากถึงร้อยละ 23 ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นด้วยการเริ่มติดลบน้อยลง และในเดือนธันวาคม การส่งออกได้กลับมาเป็นบวกแต่ไม่มากนัก โดยปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของไทยดีขึ้นเป็นลำดับ และการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนได้ขึ้นมาแตะระดับ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สัญญาณบวกจากการกระเตื้องขึ้นของการส่งออกไทย และอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 11 ปีที่ปรากฏอยู่นี้ ในด้านหนึ่งจึงตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าการส่งออกของไทยตกต่ำลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เป็นผลของฐานตัวเลขที่ต่ำ ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่าสัญญาณบวกของการส่งออกที่กระเตื้องขึ้นนี้เป็นการสะท้อนภาพปัจจัยบวกที่สังคมไทยรอคอย หรือเป็นมายาภาพที่กำลังล่อลวงให้หลงไปจากข้อเท็จจริง

ความเป็นไปของการส่งออกไทยในห้วงเวลานับจากนี้ จึงต้องจับตาดูว่าจะสามารถช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นและกลับมาเติบโตได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าของการแพร่ระบาด COVID-19 ได้มากน้อยเพียงใด เพราะภารกิจว่าด้วยการนำพาการส่งออกไทยให้พ้นจากภาวะตกต่ำซบเซาที่ต่อเนื่องยาวนานนี้ ผูกพันอยู่กับการรักษาตลาดเดิมไว้ ควบคู่กับการหาตลาดใหม่ และการฟื้นตลาดเก่าที่เสียไปให้กลับมาเหมือนเดิม

การเติบโตขยายตัวขึ้นของการส่งออกไทยนับจากนี้ นอกจากจะไม่สามารถหวังพึ่งพาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าแต่โดยลำพังอย่างที่เคยดำเนินมาในอดีต เพราะท่ามกลางการแข่งขันของประเทศรอบข้างที่กำลังเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตและการเชื้อชวนให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศแล้ว พัฒนาการในกระบวนการผลิตที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก ยังทำให้โอกาสที่ประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันมีสูงขึ้นด้วย

เป้าหมายของการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยนับจากนี้ นอกจากจะต้องดำเนินไปท่ามกลางการรุกเข้าสู่ตลาดด้วยการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าเป้าหมายแล้ว ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าในแต่ละระดับจำเป็นต้องแสวงหาเทคโนโลยีว่าด้วยกระบวนการผลิตและสร้างสินค้าที่โดดเด่นเป็นที่ต้องการของตลาดไปด้วยพร้อมกัน

บางทีท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่นำพามาซึ่ง new normal หรือชีวิตวิถีใหม่ นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่สินค้าส่งออกของไทยต้องหันมากำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายของการพัฒนาอย่างเป็นระบบในทุกอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง สำหรับการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในอนาคต

ใส่ความเห็น