วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ถึงยุคดิจิทัล เมื่อหอสมุดแห่งชาติขยับตัว

ถึงยุคดิจิทัล เมื่อหอสมุดแห่งชาติขยับตัว

เทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนในยุคปัจจุบัน ชนิดที่เรียกได้ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นวันจรดค่ำ เทคโนโลยีถูกใช้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต สำหรับองค์กรไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชน หลายหน่วยงานเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทั้งรูปแบบวิธีการทำงาน การบริการ และใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร

แม้ว่าการเลือกใช้เทคโนโลยีของบางหน่วยงานภาคเอกชนจะไม่มีข้อจำกัด ทั้งยังสามารถเห็นถึงประสิทธิผลที่ดีขึ้นของการทำงานรูปแบบเดิมที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีเข้าไปได้อย่างลงตัว หากแต่กับหน่วยงานภาครัฐที่แม้ว่าการทำงานจะต้องยึดโยงกับวาทกรรม “ไทยแลนด์ 4.0” แต่ยังไม่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับหอสมุดแห่งชาติ ที่กำลังมีความพยายามจะปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบของ “ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติ” ทั้งเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เช่นความไม่ประทับใจของผู้ใช้บริการ การค้นหาหนังสือที่ต้องเริ่มด้วยการค้นจากบัตรรายการ แต่กลับหาหนังสือไม่เจอ หนังสือที่ต้องการไม่ได้อยู่บนชั้น หรือคำถามที่ว่าทำไมจึงไม่สามารถค้นหาหนังสือในห้องสมุดจากบ้านได้ เพื่อไม่ให้เสียเวลา

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นโจทย์สำคัญที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

“สิ่งที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของคนในชาติประการหนึ่ง คือองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จากห้องสมุด ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ มีห้องสมุดเป็นของตัวเอง บ่งบอกว่าคนไทยรักการอ่านเป็นลำดับ นับเนื่องมาถึงยุคดิจิทัล ที่หอสมุดถึงเวลาต้องปรับตัว เมื่อระบบดิจิทัลมีบทบาทในชีวิตของคนเรามากมาย เราจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาระบบดิจิทัลในหอสมุด การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน การโดดเดี่ยวน่าจะเป็นการยากในการพัฒนา เราจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งน่าจะสร้างผลดีให้กับหอสมุด

“นี่อาจจะเป็นก้าวสำคัญ แม้ว่าการประชุมครั้งนี้มีระยะเวลาเพียง 2 วัน และคงไม่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วนัก แต่นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะเรียนรู้ประสบการณ์จากหน่วยงานอื่นๆ แม้ว่าเราจะต้องใช้เวลาในการวิ่งตามในการพัฒนาหอสมุดเพื่อให้เทียบเท่าประเทศอื่นๆ” อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวในการประชุม เรื่องการประสานงานความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดดิจิทัลในประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-2 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ทัศนะของอธิบดีกรมศิลปากรสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างยิ่งยวดในการเปลี่ยนแปลงของหอสมุดแห่งชาติ สู่การเป็นห้องสมุดดิจิทัล ที่จะหยิบจับเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นจะมีความยากลำบากอยู่มาก ทั้งปัญหาในเรื่องของงบประมาณที่จำกัด และปริมาณข้อมูลเนื้อหาที่มีจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน

ขณะที่ รศ.ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน อาจารย์ประจำแขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่มีความเห็นว่าสิ่งที่หอสมุดเก็บรวบรวมเอาไว้ คือ “มรดกทางวัฒนธรรม” นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “ห้องสมุด คือพื้นที่สำหรับการอ่าน การเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคน ทั้งเพื่อความรู้ ความบันเทิง เพื่องาน เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้ แม้จะไม่มีเงินก็สามารถเข้าถึงได้ เพราะนี่คือ Free Access For All สิ่งเหล่านี้คือ ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ไม่มีใครจัดเก็บรวบรวมเอาไว้ให้ลูกหลานไทยได้ใช้ประโยชน์ นอกจากคนไทยที่เป็นเจ้าของสมบัติเหล่านี้เอง”

ทั้งนี้ รศ.ดร. น้ำทิพย์ยังมองว่า ห้องสมุดดิจิทัลจะเป็นทางลดช่องว่างทางดิจิทัลได้ คือไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูลจะต้องไม่เกิดขึ้น เพราะการเข้าถึงไม่ได้คือจุดอ่อนสำคัญ

“ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ คือพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ Memory Organization แหล่งรวบรวมความทรงจำของชาติ ในยุคปัจจุบันความต้องการของคนที่ต้องการเข้าห้องสมุด เพื่อใช้เป็นที่นั่งพัก หรือที่นั่งอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ กับการเข้าถึงข้อมูลทางดิจิทัล ความต้องการทั้งสองรูปแบบนี้สามารถไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อมี Digital Space แล้ว จะไม่ต้องการ Learning Space จากผลสำรวจในหลายๆ ประเทศ ไม่มีประเทศไหนที่ไม่มี เพราะเป็น Learning Culture ตั้งแต่เกิดจนตาย” รศ.ดร.น้ำทิพย์ทิ้งท้าย

หอสมุดแห่งชาตินอกจากจะเก็บรวบรวมหนังสือต่างๆ เอาไว้ให้ผู้ใช้บริการเข้ามาสืบค้นแล้ว ยังมี เอกสารโบราณ คัมภีร์โบราณ หนังสือสมุดไทย หนังสือหายาก ที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มต้นจากหอสมุดพระนคร

การจะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาระบบให้ทันสมัยเข้ากับยุคดิจิทัล ประเด็นสำคัญคือการที่หอสมุดแห่งชาติยังต้องรักษาความสำคัญในฐานะของผู้ที่รักษา “มรดกทางวัฒนธรรม” จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดหากโครงการในครั้งนี้จะถูกยกระดับให้เป็นโครงการระดับชาติ โดยผู้มีอำนาจเข้ามากำกับดูแล รวมไปถึงงบประมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนา

เพราะนอกจากการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติสู่การเป็นห้องสมุดดิจิทัลแล้ว หอสมุดแห่งชาติยังมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงห้องสมุดดิจิทัลของไทยเข้ากับโครงข่ายของ Asean Digital Library ซึ่งดำเนินไปตามมาตรฐานของ OAI ที่หลายประเทศใช้อยู่

ทั้งนี้ขั้นตอนของการพัฒนารูปแบบไปสู่ห้องสมุดดิจิทัล หรือ D-Library ดร.ประสิทธิชัย เลิศรัตนเคหกาล บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ อธิบายขั้นตอนการพัฒนาระบบ D-Library 1. คัดเลือกพิจารณาประเภทมรดกภูมิปัญญา เคลียร์ลิขสิทธิ์ให้ชัดเจนว่า สามารถเผยแพร่ได้ เมื่อหอสมุดไม่มีงบประมาณในการปรับปรุงมากนัก 2. การคัดเลือกซอฟต์แวร์มาใช้ในการพัฒนาระบบ D-Library 3. การพัฒนาชุด Metadata หรือข้อมูลอภิพันธุ์ ประเภทมรดกภูมิปัญญา และ 4. รูปแบบการนำเสนอมรดกภูมิปัญญาในระบบ D-Library เราจะนำเสนออย่างไรให้น่าสนใจ เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

กระนั้นหอสมุดแห่งชาติได้เริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าไปสู่ “ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติ” ด้วยการ 1. พัฒนาเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติ www.nlt.go.th ที่มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ 2. หอสมุดแห่งชาติได้พัฒนาบริการระบบห้องสมุดอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้การค้นข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศจากฐานข้อมูลกลางของหอสมุดแห่งชาติทั่วประเทศ

3. หอสมุดแห่งชาติได้พัฒนาระบบห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติ หรือ D-Library นำเข้าข้อมูลฉบับเต็ม เพื่อรักษามรดกภูมิปัญญาของชาติให้มีชีวิตและสืบทอดต่อไปด้วยความเจริญตามยุคสมัย ทุกคนในชาติมีโอกาสเข้าถึงสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกัน หอสมุดแห่งชาติเลือกพัฒนาระบบการสร้างและให้บริการข้อมูลดิจิทัลขึ้นจากโปรแกรมฐานข้อมูลระบบเปิด OMEKA โดยใช้ Metadata Dublin Core ในการลงรายการข้อมูลดิจิทัลเพื่อแลกเปลี่ยนหรือถ่ายโอนข้อมูลระหว่างห้องสมุดต่างๆ ทั่วโลก 4. หอสมุดแห่งชาติได้พัฒนาระบบบริการ e-service ทางออนไลน์ ให้บริการจดแจ้งการพิมพ์เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ ISBN บริการเลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร ISSN บริการข้อมูลทางบรรณานุกรมหนังสือ (CIP) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สำนักพิมพ์และผู้จดแจ้งการพิมพ์ รวมถึงมีแผนพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันทั้งประเทศ 5. หอสมุดแห่งชาติมีโครงการความร่วมมือระหว่างหอสมุดแห่งชาติในภูมิภาคอาเซียน ที่ต้องการจะรวบรวมและแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลของทั้ง 10 ประเทศ เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้จากที่เดียวผ่านทางเว็บไซต์ www.aseanlibrary.org

6. หอสมุดแห่งชาติได้พัฒนาโปรแกรมการใช้งานต่างๆ เพื่อการเข้าถึงข้อมูลแบบสื่อสังคมออนไลน์ พัฒนาใช้ Mobile Application และการบริการด้วยระบบ Smart Card เพื่อใช้ผ่านประตูเข้า-ออก RFID ใช้เป็นบัตรสมาชิก รวมไปถึงการพัฒนาระบบสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่เป็นดิจิทัลและสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา และ 7. หอสมุดแห่งชาติยังได้จัดสรรพื้นที่รองรับวิถีของคนยุคดิจิทัล โดยจัดพื้นที่ Inspiration เป็นจุดบริการแบบ wall information ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลในหอสมุดแห่งชาติได้ด้วย Free Wifi และอ่าน e-book ผ่าน D-Library ได้

แม้ว่าหอสมุดแห่งชาติจะอยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร หากแต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และรับเอาประสบการณ์จากผู้ชำนาญภายนอก เพื่อให้การปรับตัวของหอสมุดแห่งชาติครั้งนี้เป็นไปด้วยดี และคงจะดีไม่น้อยหากได้รับความใส่ใจจากผู้มีอำนาจภาครัฐ เมื่อหอสมุดแห่งชาติอุดมไปด้วยภูมิปัญญา มรดกทางวัฒนธรรม คงไม่มีใครอยากจะให้สิ่งเหล่านี้สูญหายไปตามกาลเวลาและเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เข้ามาแทนที่ในเวลาอันรวดเร็ว

ใส่ความเห็น