วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > “ปิดแคมป์-ล็อกดาวน์” ผลกระทบที่เกินจินตนาการ

“ปิดแคมป์-ล็อกดาวน์” ผลกระทบที่เกินจินตนาการ

การประกาศมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง โดยให้ปิดสถานที่ก่อสร้างและปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งที่อยู่ภายนอกและภายในสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งให้หยุดงานก่อสร้าง ห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน ดูจะกลายเป็นมาตรการที่ส่งผลเป็นแรงสั่นสะเทือนสู่สังคมวงกว้าง มากกว่ามาตรการของรัฐที่เคยมีออกมาก่อนหน้าไม่น้อยเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผนวกกับการสั่งล็อกดาวน์ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณทลที่ออกมาควบคู่กัน

การสั่งล็อกดาวน์แบบไม่ล็อกดาวน์ตามมาตรฐานของกลไกรัฐไทยในการบริการจัดการกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ล่าสุดอยู่ที่การกำหนดมาตรการควบคุมโรคเฉพาะสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยการสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านให้ซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น รวมถึงการให้ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าให้ปิดบริการในเวลา 21.00 น. ขณะที่โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม เปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ห้ามจัดประชุม สัมมนาหรือจัดเลี้ยง และห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันเกินกว่า 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตหรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ กำลังส่งผลกระทบด้านลบต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมไทยให้ทรุดต่ำหนักลงไปอีก

เนื่องเพราะการสั่ง “ปิดแคมป์และล็อกดาวน์” รอบใหม่ นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มแรงงานก่อสร้างที่ต้องหยุดงานและห้ามเดินทางเคลื่อนย้ายแล้ว มาตรการดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยกลุ่มอื่นๆ ไม่น้อยเลย และกำลังส่งผลต่อชีวิตและประชาชนในวงกว้าง โดยมีการประเมินว่า การสั่ง “ปิดแคมป์และล็อกดาวน์” ครั้งนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อแรงงานไทยรวมไม่ต่ำกว่า 4.7 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีแรงงานรวมมากถึง 1.2 ล้านคนที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบในฐานะที่เป็นผู้เสมือนว่างงานหรือมีชั่วโมงการทำงานรวมน้อยกว่า 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อีกด้วย

ข้อมูลตลาดแรงงานไทย ที่รวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่าลูกจ้างรายวันและอาชีพอิสระนอกภาคการเกษตร ในพื้นที่สีแดงจำนวนรวมกว่า 7 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยแรงงานในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร และการบริการอื่นๆ จำนวนมากถึง 3.5 ล้านคนหรือร้อยละ 50 ของแรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะมีรายได้ลดลงรุนแรง และมีมากกว่า 1 แสนคนที่เสี่ยงจะตกงานเพิ่ม ขณะที่กระทรวงแรงงานประเมินว่า จำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและหยุดโครงการก่อสร้างใน 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร จะมีประมาณ 697,000 คน

มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ด้วยการปิดแคมป์คนงาน 30 วัน ยังส่งผลสะเทือนต่อโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือ mega project หลายโครงการต้องอยู่ในภาวะชะงักงัน และต้องประเมินภาพรวมว่า หากการก่อสร้างต้องหยุด 30 วัน จะกระทบในส่วนใดบ้าง ซึ่งประเด็นหลักอาจจะกระทบในเรื่องของระยะเวลาสัญญาจ้างกับผู้ดำเนินงาน ซึ่งต้องประเมินว่าจะเร่งรัดอย่างไรได้บ้าง หลังจากที่หยุดก่อสร้างไป 30 วัน เพื่อไม่ให้มีผลต่อระยะเวลาในสัญญา โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางใหญ่-กาญจนบุรี และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงบางปะอิน-โคราช ซึ่งจะต้องประเมินถึงผลกระทบอีกครั้ง

การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ประกาศออกมาเป็นข้อกำหนดฉบับที่ 25 ภายใต้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถูกเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ติดตามมาด้วยมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้างในกิจการก่อสร้าง ร้านอาหารและโรงแรมที่พักที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวนี้ ด้วยการเตรียมงบประมาณจากเงินกู้ และเงินจากกองทุนประกันสังคมรวมแล้วประมาณ 7.5 พันล้านบาท สำหรับเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงาน เรียกนายกสมาคมก่อสร้างไทยเข้าหารือด่วน ถึงแนวทางการจ่ายเงินและมาตรการช่วยเหลือคนงานแคมป์ก่อสร้าง ในพื้นที่การระบาดสูง หลังจากที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดแคมป์งาน เป็นเวลา 1 เดือน โดยประเด็นสำคัญคือ การปิดพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้างทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกให้ได้มากที่สุด หากพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ต้องแยกตัว และนำเข้าสู่กระบวนการรักษา ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วไม่ติดเชื้อ จะได้รับการฉีดวัคซีนให้ในขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ ในระหว่างที่ปิดแคมป์ก่อสร้าง กระทรวงแรงงานมีมาตรการดูแลคนงานทั้งชาวไทยและจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมีจ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานครึ่งหนึ่งของค่าจ้างที่ได้รับ ซึ่งจะจ่ายเป็นเงินสดทุกๆ 5 วัน พร้อมทั้งมีอาหารนำไปส่งให้ทุกมื้อ ซึ่งนายจ้างจะต้องตรวจสอบคนงานในแคมป์ทุกวัน พร้อมทั้งถ่ายรูปมาเป็นหลักฐาน ซึ่งหากใครหนีกลับภูมิลำเนา หรือไม่อยู่ในแคมป์ ก็จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือส่วนนี้

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างของไทยมีสัดส่วนต่อจีดีพีของไทยถึงร้อยละ 8 มาตรการนี้มีผลกระทบต่อแคมป์คนงานที่มีอยู่ในเขตกรุงเทพฯ รวมกว่า 400 แห่ง ผลกระทบต่อบริษัทใหญ่คงไม่น่าเป็นห่วง หากแต่ผู้ประกอบการรายเล็กที่กระจัดกระจายอยู่ตามชุมชนย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจเลี่ยง ซึ่งหากไม่มีนโยบายชัดเจนเชื่อว่าคนงานจะแตกกระจายหนีกลับบ้านหรือออกนอกพื้นที่ทั้งหมด โดยที่ผ่านมาพบว่ามีแรงงานรายย่อยแบบเหมาค่าจ้างรายวันบางส่วนทยอยกลับภูมิลำเนา และทำให้มาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รัฐคาดหวังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะล้มเหลวและกลายเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างเพิ่มขึ้นไปอีก

ประสบการณ์จากการระบาดระลอกที่ 1-2 ผู้ประกอบการก่อสร้างได้ระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการอย่างแข็งขันและดำเนินมาตรการ bubble and seal มาโดยตลอด แม้ไม่มีคำสั่งจากรัฐบาล และในการระบาดทั้งสองระลอกไม่มีแรงงานติด COVID-19 แต่อย่างใด หากสำหรับการระบาดระลอกล่าสุดดูจะเป็นเหตุสุดวิสัย แม้ว่าแคมป์ก่อสร้างบางส่วนจะฉีดวัคซีนให้กับแรงงานแล้วก็ตาม และขอให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรวัคซีนมายังภาคแรงงานก่อสร้าง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างจีดีพีให้กับประเทศถึงร้อยละ 8 หากมีการปิดหรือระงับการดำเนินงานนานจะกระทบถึงเศรษฐกิจโดยรวมได้

ความน่าสนใจของกรณีว่าด้วยแรงงานในกิจการก่อสร้าง พบว่าคนงานแคมป์ก่อสร้างทั่วประเทศมีประมาณ 3-5 ล้านคน เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประมาณหนึ่งแสนคน ขณะที่ซัปพลายเชนยาวมาก ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งระบบโลจิสติกส์ โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ฉะนั้นถ้าเกิดว่าหยุดไปนาน ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไม่อาจเลี่ยง

มาตรการล่าสุดของรัฐในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ท่ามกลางข้อจำกัดและความไม่ชัดเจนในการบริหารจัดการทั้งในมิติของการจัดหาและการจัดสรรวัคซีนที่มีคุณภาพ จะส่งผลทางบวกและสามารถหยุดยั้งความรุนแรงของสถานการณ์ที่กำลังด่ำดิ่งสวนทางกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ควบคู่กับจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในลักษณะที่พร้อมจะสร้างสถิติสูงสุดใหม่รายวันได้หรือไม่ ยังเป็นกรณีที่ต้องติดตามจากข้อเท็จจริงที่จะปรากฏขึ้นในอนาคต หากแต่ผลกระทบในห้วงปัจจุบันจากมาตรการที่ว่านี้ กำลังส่งผลต่อผู้คนในสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธ

ปัญหาที่ต้องการคำตอบในระยะเวลาถัดจากนี้ จึงอยู่ที่ว่าจะมีใครหรือหน่วยงานใด แสดงรับผิดชอบต่อความบกพร่องล้มเหลวจากมาตรการของรัฐที่สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมให้กับสังคมไทยเหล่านี้บ้างไหม

ใส่ความเห็น