วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > จับกระแส WellBeing เทรนด์ยอดนิยมที่กลายเป็นเงิน

จับกระแส WellBeing เทรนด์ยอดนิยมที่กลายเป็นเงิน

 
ความตื่นตัวในการรักษาสุขภาพพลานามัยและสร้างเสริมสุขภาวะของผู้คนในสังคมไทย ดูเหมือนจะเป็นกระแสที่ดำเนินอยู่ต่อเนื่องยาวนานและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปอีกได้ไกล ไม่ใช่เฉพาะในประเด็นว่าด้วยพัฒนาการของกิจกรรมที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น และแพร่กว้างไปยังกลุ่มชนทุกระดับสังคมเท่านั้น หากแต่ยังประกอบส่วนด้วยมิติเชิงพาณิชย์ที่น่าจับตามองด้วย
 
เพราะก่อนหน้านี้ สถานที่ออกกำลังกายหรือที่เรียกโดยรวมว่า fitness center นั้น มักจะเลือกทำเลที่ตั้งให้อยู่ใกล้อาคารสำนักงาน หรือแม้แต่ฝังตัวอยู่ในศูนย์การค้า โดยหวังว่าจะสามารถยึดกุมกลุ่มเป้าหมายและฐานลูกค้าได้กว้างขวาง ซึ่งดูเหมือนจะประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง
 
มูลค่าการตลาดของธุรกิจฟิตเนสเซ็นเตอร์ในประเทศไทยได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าสูงถึงประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยมีฐานสมาชิกผู้ใช้บริการไม่น้อยกว่า 2 แสนราย และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10-15% ต่อปี สอดรับกับกระแสสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
แต่การแข่งขันในธุรกิจฟิตเนสก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน และมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ พยายามเบียดแทรกเข้ามาในสังเวียนนี้อย่างต่อเนื่องและทำให้ ฟิตเนส เฟิร์สท์ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้นำตลาดในปัจจุบันไม่สามารถนิ่งนอนใจ เพราะนอกจากจะมีฟิตเนสรายใหญ่อย่าง เวอร์จิ้น แอคทีฟ ฟิตเนส รุกคืบเข้ามาแล้วยังมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ พร้อมเข้าปันส่วนแบ่งนี้ด้วย
 
อย่างไรก็ดี ประเด็นว่าด้วยค่าสมาชิกและค่าบริการรวมถึงการแทรกเสริมเพื่อชักชวนให้ซื้อแพ็กเกจสุขภาพหลายรูปแบบของ fitness center เหล่านี้ดูจะเป็นกรณีที่รบกวนใจกลุ่มลูกค้าไม่น้อยเลย ยังไม่นับรวมถึงกรณีการล้มหายไปของ California WOW แบรนด์ฟิตเนสชื่อดังที่ติดตามมาด้วยประเด็นการฉ้อโกงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสั่นคลอนภาพรวมของธุรกิจนี้ไปโดยปริยาย
 
ปัจจัยสำคัญในการแข่งขันของธุรกิจฟิตเนสประการหนึ่ง นอกจากจะอยู่ที่ความครบครันพรั่งพร้อมของอุปกรณ์ และผลของการออกกำลังกายแล้ว ความหลากหลายของคลาสออกกำลังกาย ก็นับเป็นปัจจัยหนุนเสริมซึ่งทำให้ในช่วงที่ผ่านมาฟิตเนสแต่ละแห่งต้องเติมโปรแกรมโยคะหรือมวยไทย ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคลาสออกกำลังกายด้วย
 
ข้อเท็จจริงด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับฟิตเนสเซ็นเตอร์เหล่านี้ก็คือ ความพยายามสร้างโปรแกรมการออกกำลังกายที่มีความหลากหลายเพื่อสนองตอบกับความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมถึงการหา Gimmick ใหม่ๆ เพื่อหลีกหนีจากความจำเจของการออกกำลังกายที่กลายเป็น routine จนไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจสำหรับคนบางกลุ่มได้อีก
 
การผสมผสาน body combat ให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในฟิตเนสเซ็นเตอร์ ดูจะเป็นตัวอย่างที่ให้ภาพกรณีดังกล่าวได้ดีพอสมควร หรือแม้กระทั่งการมาถึงของ T25 ที่สามารถรีดเหงื่อและพลังงานได้มากแม้จะใช้เวลาเพียง 25 นาทีก็ตาม
 
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของมวยไทยในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ K-1 หรือ ThaiFight ได้ส่งให้ค่ายมวยจำนวนไม่น้อยผันตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ เพราะเมื่อมวยไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของฟิตเนสได้ ค่ายมวยในนามของยิมมวยไทยก็น่าที่จะเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนหลากหลายเข้ามาใช้บริการแทนที่จะเป็นเพียงสถานที่ปั้นนักมวยแบบเดิมได้เช่นกัน
 
“แฟร์เท็กซ์” ดูจะเป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จสูงในประเด็นที่ว่านี้ และสามารถสร้างและรักษากระแสได้ดีพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ยิมมวยไทยแห่งอื่นๆ กำลังพยายามผลิตสร้างโมเดลทางธุรกิจของแต่ละแห่งเพื่อแทรกตัวเข้าเติมเต็มช่องว่างในธุรกิจนี้อย่างเต็มที่ และดูเหมือนว่า “เจริญทอง มวยไทยยิม” ของอดีตนักมวยเงินแสน “เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง” จะเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของยิมมวยไทยในเชิงพาณิชย์ที่ว่านี้
 
พัฒนาการอีกด้านหนึ่งของการออกกำลังกายและสร้างเสริมสุขภาวะที่ต่อเนื่องและงอกเงยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอีกกระแสหนึ่งอยู่ที่การเกิดขึ้นของสตูดิโอโยคะ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ราวกับดอกเห็ดในฤดูฝน ซึ่งก่อให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ทั้งในมิติของอุปกรณ์ และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหลากสีสัน จนกลายเป็นประหนึ่งสัญญะของไลฟ์สไตล์สำหรับผู้เน้นสุขภาวะไปแล้ว
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือในขณะที่ผู้ประกอบการฟิตเนสจำนวนไม่น้อยต่างต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในส่วนของอุปกรณ์และพื้นที่การออกกำลังกาย รวมถึง features เพื่อดึงดูดฐานลูกค้า โยคะสตูดิโอกลับให้ภาพที่แตกต่างออกไป เพราะสตูดิโอโยคะเพียงแต่จัดเตรียมพื้นที่และบรรยากาศในการเรียนการสอนควบคู่กับการมีครูโยคะที่มีจิตวิทยาและฝีมือมาคอยแนะนำเท่านั้น ส่วนอุปกรณ์โยคะเป็นกรณีที่ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละรายว่าจะเลือกใช้แบบใด
 
ความคลี่คลายทั้งในบริบทของนิยามความหมายและท่วงทำนองแห่งอาสนะ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกโยคะร้อน Bikram Yoga เพื่อการบำบัดโรคและทำให้สุขภาพแข็งแรงหรือการประยุกต์ (modify) ทั้ง Ashtanga Yoga (อัษฎางคโยคะ) Iyenkar Yoga (ไอเยนคาร์โยคะ) Hatha Yoga (หฐโยคะ) Vinyasa Yoga (วินยาสะโยคะ) มาผสานเข้าด้วยกับเพื่อให้เกิดความเลื่อนไหล (flow) ของอาสนะไปตามแต่ละสไตล์และจริตของการเรียนการสอน ซึ่งอาจสลับลำดับจนกลายเป็น Power Yoga ด้วย
 
ขณะเดียวกัน กระแสความนิยมของโยคะก็พัฒนาไปไกล สู่ Antigravity Yoga ที่เป็นการนำศาสตร์การออกกำลังกาย 5 ศาสตร์มาผนวกผสานกัน ไม่ว่าจะเป็น โยคะ (Yoga) พิลาทีส (Pilates) การเต้น (Dance) การออกกำลังกายที่เน้นการสร้างความแข็งแรงและสร้างสัดส่วนที่สวยงาม (Calisthenics) และการแสดงที่เหมือนล่องลอยในอากาศ (Aerial art) หรือที่คุ้นเคยกันในนาม Yoga Fly และ Aerial Yoga
 
ยังไม่นับรวมถึง Disco Yoga ที่กำลังเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาและได้รับความนิยมในโลกตะวันตกที่ทำให้การออกกำลังกายกลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งสอดรับกับความเป็นไปของโยคะที่มีมิติในเชิงวัฒนธรรมและระบบวิธีคิดที่เป็นมากกว่าการออกกำลังกายทั่วไป
 
การเกิดขึ้นของสตูดิโอโยคะแบบ Eclipse Yoga Pilates ก็คงดำเนินไปในบริบทที่ไม่ต่างจากนี้มากนัก และอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการตีความ ไม่เฉพาะในมิติของการออกกำลังกาย หากแต่อาจหมายรวมถึง business model ที่ครอบคลุมทั้ง fitness ยิมมวยไทย และโยคะสตูดิโอ ไปพร้อมกัน
 
กระแสสุขภาวะที่กำลังเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มเติบโตท้าทายภาวะเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ อาจก่อให้เกิด talk of the town ในทำนองที่ระบุว่า “เรามาถึงจุดที่มี Eclipse Yoga Pilates แล้วนะ รู้ยัง?” ซึ่งอาจเป็นทั้งเทรนด์และตัวแปรที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของธุรกิจ WellBeing ทั้งระบบก็เป็นได้