วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > ยิ่งเครียด สุขภาพก็ยิ่งแย่

ยิ่งเครียด สุขภาพก็ยิ่งแย่

ก่อนหน้านี้ “ผู้จัดการ 360 องศา” เคยนำเสนอว่า หากเราอยู่ในภาวะความเครียดแค่เพียงไม่กี่นาที แต่จะส่งผลต่อร่างกาย ซึ่งจะทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายตกนานหลายชั่วโมง ลองมาสำรวจตัวเองว่า กำลังอยู่ในภาวะความเครียดโดยไม่รู้ตัวหรือไม่

ด้วยสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่รู้สึกอะไร ความกดดันจากหลายสภาวะที่ต้องเผชิญ หน้าที่การงาน ภาวะโรคระบาด สภาพเศรษฐกิจ ปัญหาชีวิต ครอบครัว อาจส่งผลต่อตัวเองและคนรอบข้าง

การแสดงออกทางกายที่บ่งบอกว่าเรากำลังสะสมความเครียด คือ การแสดงออกทางอารมณ์ หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว โมโหร้ายกว่าปกติ ระงับอารมณ์หรือคุมสติไม่อยู่ กระบวนความคิดในการวิเคราะห์หาเหตุผลน้อยลง

สิ่งที่ผู้มีความเครียดแสดงออกมา เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนสารทุกข์ออกมา นั่นคือ อะดรีนาลีน สตีรอยด์ เมื่อฮอร์โมนตัวนี้เข้าสู่กระแสเลือดจะนำไปสู่อวัยวะสำคัญต่างๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ

ซึ่งผลของความเครียดทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ ดังนี้

1. หัวใจจะเต้นแรงขึ้น เร็วขึ้น ประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที ทั้งที่ปกติแล้วหัวใจจะเต้นประมาณ 60-70 ครั้งต่อนาที ดังนั้นผู้ที่เครียดจะรู้สึกว่าหัวใจตนเองเต้นแรงจนรู้สึกได้ ใจสั่น หรือรู้สึกเจ็บหน้าอก เมื่อหัวใจเต้นมากกว่าปกติสักพักจะเหนื่อย

2. หลอดเลือดความเครียดจะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัวตีบตัน ทำให้อวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่พอ เช่น หากเกิดกับสมอง ทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดหัว เวียนหัว หากเกิดกับหัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นโรคหัวใจ และเมื่อหลอดเลือดตีบมากๆ จะทำให้เป็นโรคความดันเลือดสูง ฮอร์โมนสารทุกข์ยังกระตุ้นให้ไขมันที่สะสมอยู่ในอวัยวะต่างๆ หลุดออกมา เมื่อไขมันหลุดเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ไขมันอุดตันหลอดเลือด

3. กรดไขมันที่ถูกกระตุ้นออกมาหากผ่านมายังตับ ตับจะเปลี่ยนไขมันเป็นน้ำตาล ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ฉะนั้นคนที่เครียดมากๆ จะเป็นโรคเบาหวาน

4. กล้ามเนื้อทุกส่วนจะหดเกร็ง สังเกตได้ว่าคนที่เครียดหน้าตาจะเขม็งเกร็ง การที่กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นต้นเหตุสำคัญของอาการปวดหัว ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไหล่

5. เมื่อเกิดความเครียด หลอดลมจะหดเล็กลง ทำให้ต้องหายใจแรงๆ ดังนั้นคนที่เครียดจะมีอาการถอนหายใจเพราะหายใจออกโดยแรง

6. ความเครียดส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ คอหอย ลำไส้ กระเพาะอาหารจะหดลง ทำให้กินอาหารไม่ค่อยลง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เป็นสาเหตุให้ท้องผูก กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมาเยอะขึ้น เป็นสาเหตุของลำไส้และกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผล

7. อาการนอนไม่หลับ ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งทั้งตัว หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดสูง จิตใจฟุ้งซ่าน จึงเกิดอาการนอนไม่หลับ

8. สมรรถภาพทางเพศลดลง

9. มะเร็งฮอร์โมนสารทุกข์ที่หลั่งจากความเครียดซึ่งเป็นต้นเหตุให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง สังเกตได้ว่าคนที่เครียด จะไม่สบายง่าย เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ เป็นแผลในปาก เมื่อภูมิต้านทานลดลง ฮอร์โมนสารทุกข์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติจนเจริญเติบโตเป็นเนื้องอกมะเร็งในที่สุด

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงผลจากความเครียดที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย แน่นอนว่าเราควรขจัดความเครียดที่รุมเร้าออกไปเสียก่อนที่ความเครียดจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท มาดูวิธีจัดการกับความเครียดแบบง่ายๆ ที่นอกจากจะทำให้รับมือกับความเครียดได้แล้ว ยังส่งผลให้สุขภาพของเราดีขึ้นด้วย

1. ออกกำลังกายให้หายเครียด เมื่อความเครียดเข้ามาเคาะประตู ฮอร์โมน Cortisol จะทำงานอย่างหนัก การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายเราผลิตฮอร์โมนเอนดอร์ฟีนมากขึ้น ลองหาสาเหตุความเครียดของตัวเองดู ว่าเกิดจากอะไร หากเกิดจากการทำงานมากเกินไป เพียงแค่ลุกจากโต๊ะทำงาน ออกไปเดินเล่นสนามหญ้าหน้าบ้าน หรือในสวนสาธารณะ เดินหรือวิ่งเบาๆ 30 นาทีขึ้นไป ก็ช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความสุขออกมาต่อสู้กับฮอร์โมนความทุกข์ได้แล้ว

2. หากิจกรรมอื่นทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง แม้ว่าจะยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เป็นบ่อเกิดของความเครียดได้ทันที แต่การนำตัวเองออกมาจากความเครียดได้สักช่วงเวลาหนึ่ง ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะการฟังเพลงบรรเลง หรือเสียงจากธรรมชาติ ช่วยให้จิตใจเราสงบมากขึ้น

3. นั่งสมาธิ การกำหนดจิต กำหนดลมหายใจ มีสติอยู่แค่เพียงสองสิ่งนี้บ่อยๆ จะช่วยให้เรามีสมาธิ และมีสติมากขึ้น สามารถมองเห็นปัญหาได้ชัดเจนกว่าตอนที่เราจมจ่อมอยู่กับปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ดีขึ้นด้วย

4. บาลานซ์เวลาในชีวิต เราอาจเคยได้ยินคำเตือนที่ว่า อย่าเอางานกลับไปทำที่บ้าน นั่นเป็นเรื่องจริงอย่างยิ่ง และหากคุณอยู่ในภาวะความเครียดเป็นทุนเดิม การเอางานกลับมาทำต่อที่บ้าน ยิ่งส่งผลต่อชีวิตส่วนตัว และอาจส่งผลต่อปัญหาในครอบครัวมากขึ้นด้วย ให้ความเครียดจากเรื่องงานอยู่แต่เฉพาะในที่ทำงาน เมื่อกลับถึงบ้านนั่นควรเป็นเวลาของครอบครัว เวลาพักผ่อนอย่างแท้จริง หรือในภาวะนี้ที่ทุกคนต้อง WFH หรือ Work from home เพียงจัดสรรเวลาว่า เริ่มทำงานที่บ้านตั้งแต่กี่โมง ถึงกี่โมง เมื่อถึงกำหนดเลิกงานควรหยุดพัก เพื่อให้สมองและร่างกายได้พัก อย่าปล่อยให้ภาวะความเครียดเข้ามาครอบงำ

5. ปรับเปลี่ยนความคิด การจมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งมากเกินไป อาจทำให้เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว ความเครียดที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นสาเหตุของความทุกข์ใจ ในทางวิทยาศาสตร์พบว่า ความคิดสัมพันธ์กับสมอง เมื่อคิดอย่างหนึ่ง สมองก็จะตอบสนองไปตามนั้น หากเราตกอยู่ในภาวะเครียดเรื่องงาน สุขภาพ หรือเพื่อนร่วมงาน
วิธีการคือให้เอาตัวเองออกจากความเครียดนี้ด้วยการลองปรับมุมมองปัญหาต่างๆ เอาตัวเองออกมายืนเป็นคนนอกดูบ้าง อาจทำให้เราเห็นสาเหตุของปัญหาและวิธีแก้ไขได้ง่ายกว่าการเอาตัวเองไปจมอยู่กับตรงนั้น หรือหากเรามองข้ามเรื่องเล็กน้อยและยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นของงานหรือเพื่อนร่วมงานอาจทำให้เราเข้าสถานการณ์ และหายเครียดได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังน่าจะป้องกันตัวจากความทุกข์ต่างๆ ได้ดีอีกด้วย

ใส่ความเห็น