วันจันทร์, กันยายน 9, 2024
Home > On Globalization > เขียนแทรก Ecriture inclusive

เขียนแทรก Ecriture inclusive

Column: From Paris

ความยากของภาษาฝรั่งเศสคือ นามแต่ละตัวแบ่งเป็นเพศชายและเพศหญิง จะรู้ได้ว่าเพศหญิงเพศชาย เอกพจน์ พหูพจน์จาก articles ที่นำหน้า กล่าวคือ le เพศชาย la เพศหญิง และ les พหูพจน์ และ articles ยังลดรูปอีกเมื่อเจอกับ à หรือ de กล่าวคือ à+le = au และ à+les = aux (แปลว่า แก่ ที่ ตามด้วยนามเพศชายหรือเพศหญิงที่เป็นพหูพจน์ ชายหรือหญิงก็ได้) ส่วน de+le = du และ de+les = des (แปลว่า ของ หรือ จาก ตามด้วยนามเพศชายหรือหญิงที่เป็นพหูพจน์)

กริยาก็ต้องมีการกระจายตามบุรุษที่ 1, 2, 3 และตามพจน์ เอกพจน์ พหูพจน์ ดังนั้น การเรียนภาษาฝรั่งเศสจึงยากยิ่ง เพราะต้องท่องจำ

คำนามแต่ละตัวในภาษาฝรั่งเศสมีเพศกำกับมาเลย เช่น une bouteille (ขวด) une boîte (กล่อง) un livre (หนังสือ) un crayon (ดินสอ) เป็นต้น แต่ก็มีคำนามที่ใช้ต่างกันเมื่อเกี่ยวกับเพศ une vache (วัวตัวเมีย) un bœuf (วัวตัวผู้) une fille (เด็กผู้หญิง) un garçon (เด็กผู้ชาย) un homme (ผู้ชาย) une femme (ผู้หญิง) monsieur (บุรุษ) madame (สตรี) demoiselle (สาว) ข้อสังเกตง่ายๆ คือคำนามใดที่ลงท้ายด้วย e มักเป็นเพศหญิง แต่ก็ไม่เสมอไป ดังในกรณีของคำว่า fromage เนยแข็ง ลงท้ายด้วย e แต่เป็นเพศชาย เป็นต้น

แล้วก็มีนามที่เป็นเพศหญิงหรือชายก็ได้ รู้เพศได้จาก article กล่าวคือ le หรือ la เมื่อเป็น definite article และ un หรือ une เมื่อเป็น undefinite article เช่น un enfant เด็กผู้ชาย une enfant เด็กผู้หญิง

แต่ก็มีคำนามที่เปลี่ยนรูป เช่น ถ้าเพศชายลงท้ายด้วย eur เพศหญิงจะเป็น rice เช่น instituteur เป็น institutrice (ครู) facteur (บุรุษไปรษณีย์) และ factrice (สตรีไปรษณีย์) lecteur (ผู้อ่านชาย) และ lectrice (ผู้อ่านหญิง) traducteur (นักแปล) traductrice ถึงกระนั้นคำว่า docteur (แพทย์) ไม่ยักใช่ doctrice เมื่อเป็นแพทย์หญิง แต่เป็น doctoresse คำนี้ใช่เมื่อแพทย์เป็นบุรุษที่ 3 หากเวลาพูดกับแพทย์หญิง เราจะใช้คำว่า docteur นี่แหละ

คำนามเพศชายที่ลงท้ายด้วย n พอเป็นเพศหญิงจะเป็น nne เช่น musicien นักดนตรี ก็เป็น musicienne หรือคำที่ลงท้ายด้วย er เพศหญิงเป็น ère เป็นต้น

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆในภาษาฝรั่งเศส ยังมีที่ซับซ้อนกว่านี้อีก

ยามที่มีการกล่าวปราศรัยหรือสุนทรพจน์ ผู้พูดมักเริ่มด้วย ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี Messieurs et Mesdames บางคนบ่งเฉพาะมากยิ่งขึ้น คือ Messieurs, Mesdames, Mesdemoiselles ท่านสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี และสุภาพสตรีสาว (ที่ไม่ได้แต่งงาน)

เวลาที่นักการเมืองกล่าวปราศรัย ชอบบ่งเพศด้วย Français, Françaises ชาวฝรั่งเศสชายและหญิง และหากเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้าย บางคนจะเปลี่ยนใช้ว่า Citoyens, Citoyennes ราษฎรชาย ราษฎรหญิง ร้านอาหาร Le Procope ในปารีส ในอดีตเป็นที่ชุมนุมของนักปฏิวัติในศตวรรษที่ 18 ใช้ Citoyens, Citoyennes ติดที่ห้องน้ำ แทนคำว่า Homme และ Dame

เพศของคำนามในภาษาฝรั่งเศสสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าไม่น้อย คำนามเพศชายมีลักษณะของความหมายกลางได้ เวลาบรรณาธิการเขียนถึงผู้อ่าน จะใช้คำว่า lecteur รวมความถึงผู้อ่านทั้งชายและหญิง ก็มีผู้ “คิดมาก” อยากบ่งว่าต้องการสื่อกับผู้อ่านทั้งเพศชายและหญิง ก็จะเขียน lectrice ด้วย แต่ก็ดูเยิ่นเย้อเกินไป จึงมีผู้คิดวิธีเขียนแบบใหม่เป็น lecteur.rice ย่อมาจาก lecteur และ lectrice และถ้าเป็นพหูพจน์ ก็จะเขียนว่า lecteur.rice.s สื่อถึง lecteurs และ lectrices จุดที่ว่านี้ไม่ใช่จุด fullstop แต่จะอยู่ตรงกลางระหว่างพยัญชนะ เรียกจุดนี้ว่า médian ในขณะที่เรียกจุด fullstop ว่า point

การเขียนแบบนี้ écriture inclusive ถูกใจบรรดานักเรียกร้องสิทธิสตรี ซึ่งเรียกร้องมากว่า 40 ปีแล้ว เพิ่งจะมีคนกลุ่มหนึ่งนิยมเขียน จุด médian แทรกในคำ écriture inclusive ได้รับการรับรองจาก Haut Conseil à l’égalité entre les femmes et les hommes สภาที่ปรึกษาเพื่อความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2015 มหาวิทยาลัยบางแห่งตอบรับการเขียนแทรกนี้

มหาวิทยาลัย Nancy-Metz มีหนังสือถึงนักศึกษาว่า futur.e.s diplômé.e.s (futurs diplômés et futures diplômées) บัณฑิตในอนาคต ส่วน Centre Val de Loire ใช้วิธีการเขียนแทรกที่เรียกว่า écriture inclusive นี้ในเอกสารทุกชิ้น เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัย Nanterre ที่ใช้ écriture inclusive ในหนังสือคู่มือสำหรับนักศึกษา คนจำนวนหนึ่งในมหาวิทยาลัยใช้ écriture inclusive ในการทำรายงาน แม้แต่ CNRS – Centre national de la recherche scientifique สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เขียนในเอกสารแจกสื่อ เมื่อกล่าวถึงผู้ได้รับเหรียญทองว่า médaillé.e.s d’or

ยิ่งกว่านั้นสำนักพิมพ์ Hatier พิมพ์หนังสือเรียนของชั้น CE2 ด้วยการใช้ écriture inclusive ในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่การเขียนแบบนี้ยังไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ถึงกระนั้นก็มีผู้พิมพ์คู่มือการใช้ écriture inclusive เมื่อเดือนกันยายน 2017

นักการศึกษา นักภาษาศาสตร์มีการแบ่งค่ายเกี่ยวกับ écriture inclusive นักภาษาศาสตร์ผู้หนึ่งเห็นว่าเพศของคำนามเพศชายไม่ได้เป็นเพศชายเสียทีเดียว เพราะบางครั้งถูกใช้ให้เป็นคำกลางๆ เพศในภาษาไม่อาจดึงมาเกี่ยวข้องกับเพศทางชีววิทยา และเห็นว่านักเรียกร้องสิทธิสตรีก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ écriture inclusive ทั้งหมด ผู้ที่เห็นด้วยกับ écriture inclusive มีเพียงกลุ่มเล็กๆ

แป้นพิมพ์ของเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีปุ่มพิเศษทางล่างขวา จะมี point milieu จุดแทรกกลางที่จะเรียกว่า médian สำหรับผู้ต้องการเขียนแบบ écriture inclusive และจุด médian น่าจะได้รับการรับรองจาก Association de normalisation (Afnor2) ในเดือนมากราคม 2018

แป้นพิมพ์วิวัฒนาการสอดคล้องกับวิวัฒนาการของสังคม แป้นพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสมีการปรับเปลี่ยนครั้งสุดท้ายในทศวรรษ 1990 เมื่อมีเงินยูโร

ถึงกระนั้นก็ไม่คิดว่า écriture inclusive จะประสบความสำเร็จสูง เพราะดูรกตา

และแล้วราชบัณฑิตยสภาก็ออกมาท้วงติง ไม่เห็นด้วยกับ écriture inclusive เพราะก่อความเสียหายแก่ภาษาฝรั่งเศส ทำให้เกิดความสับสนต่อทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน ทั้งยังทำให้การแข่งขันของภาษาฝรั่งเศสในตลาดการศึกษาด้อยลงไปเมื่อเทียบกับภาษาอื่น ความเสียหายนี้อาจทำให้ภาษาฝรั่งเศส “ตาย” ได้

ราชบัณฑิตยสภาออกมาติงแล้ว จะฟังกันไหมเนี่ย

เอาละสิ ไปกันใหญ่แล้ว ครู 314 คน มีทั้งครูโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ได้ลงนามในคำประกาศว่าจะใช้ règle de proximité กล่าวคือ ถ้ามีนาม 2 คำ คำแรกเป็นเพศชาย คำหลังเป็นเพศหญิง คำขยาย adjective ที่ตามมา จะใช้เป็นเพศหญิง เพราะอยู่ติดกับนามเพศหญิง เช่น les hommes et les femmes heureuses แทนที่จะเป็น les hommes et les femmes heureux เหมือนก่อน ตามกฎไวยากรณ์ หากมีนามเพศชายและเพศหญิงอยู่ด้วยกัน adjective จะเป็นเพศชาย

นักการศึกษาผู้หนึ่งบอกว่าในอดีตที่นานมาแล้ว เคยใช้ règle de proximité แต่นับตั้งแต่ก่อตั้งราชบัณฑิตยสภา สถาบันแห่งนี้ได้กำหนดกฎเกณฑ์ไวยากรณ์อย่างที่ใช้มาจนปัจจุบัน แล้วจะมาแก้ไขอะไรกันอีก

ใส่ความเห็น