วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > ตรุษจีนปีฉลูเงียบเหงา พิษ COVID ขวิดใช้จ่ายวูบ

ตรุษจีนปีฉลูเงียบเหงา พิษ COVID ขวิดใช้จ่ายวูบ

บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ซึ่งหวังว่าจะช่วยพยุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยให้กระเตื้องขึ้นบ้าง หลังจากตกอยู่ในความเงียบเหงาและซบเซาต่อเนื่องยาวนาน กำลังเผชิญกับข้อเท็จจริงที่เป็นไปในทางตรงข้ามกับความคาดหวังที่มี หลังจากที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงตรุษจีนปีนี้ได้ส่งผลให้กำลังการซื้อของประชาชนลดต่ำลง และทำให้การใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าปรับตัวลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือลดลงด้วยมูลค่ารวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นการลดต่ำลงมากเป็นประวัติการณ์ในรอบ 13 ปี ที่ได้มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2552

การใช้จ่ายที่มีการปรับตัวลดลงดังกล่าวนี้ทำให้คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าการใช้จ่ายที่ 5.75 หมื่นล้านบาทในปี 2563 หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ 21.85 ซึ่งมูลค่าการใช้จ่ายที่ลดลงนี้ ในด้านหนึ่งนอกจากจะเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำแล้ว การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังทำให้ประชาชนไทยมีรายได้ลดลง เป็นหนี้เพิ่มขึ้นขณะที่จำนวนไม่น้อยถูกเลิกจ้างและตกอยู่ในภาวะว่างงาน ส่งผลให้มีความระแวดระวังในการใช้จ่ายและทำให้ปริมาณการซื้อสินค้าลดลง

ข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจในกรณีของค่าใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนปีนี้อยู่ที่เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการใช้จ่ายเมื่อปี 2563 ซึ่งลดลงร้อยละ 1.3 จากปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่ากังวล การลดลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ข่าวการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มปรากฏสู่การรับรู้ของสาธารณะ หากแต่การปรับตัวลดลงของค่าใช้จ่ายในปี 2564 ซึ่งลดลงมากถึงร้อยละ 21.85 จากปีก่อนหน้า นับเป็นภาพสะท้อนของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของกลไกภาครัฐ โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยความเชื่อมั่นที่กำลังลดต่ำลงจากปัญหาหลากหลายที่รุมเร้าเข้ามา

มูลค่าการใช้จ่ายช่วงตรุษจีนที่ลดหายไปในปีนี้ ทำให้การคาดการณ์ของกลไกรัฐที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีไทย จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะการลดหายไปของการใช้จ่ายดังกล่าวจะทำให้จีดีพีไทยปรับตัวลดหายไปอีกร้อยละ 0.05-0.07 ซึ่งความคาดหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 กลายเป็นความหวังที่เลือนรางและพร้อมจะจางหายไกลออกไปอีก

ความน่าสนใจของการปรับตัวลดลงของการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีน เมื่อพิจารณาจำแนกเป็นรายภูมิภาคพบว่าภาคใต้เป็นภาคที่มีการปรับตัวลดลงมากที่สุดในระดับติดลบร้อยละ 25.8 ในขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลลดลงร้อยละ 24.50 ภาคกลางลดลงติดลบร้อยละ 21.4 ภาคเหนือลดลงร้อยละ 17.21 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับตัวลดลงในระดับที่น้อยที่สุดด้วยการติดลบร้อยละ 15.55

ประเด็นที่น่าสนใจในด้านหนึ่งอยู่ที่การระบาดของ COVID-19 เร่งให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งซื้อเครื่องเซ่นไหว้จัดชุดสำเร็จรูปผ่านทางออนไลน์ หรือสั่งให้ร้านค้าส่ง delivery มากขึ้นกว่าปีก่อน โดยผลจากการสำรวจพบว่ากว่าร้อยละ 34 ของผู้บริโภคในกรุงเทพฯ หันมาซื้อเครื่องเซ่นไหว้ผ่านช่องทางดังกล่าว ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 11

ขณะเดียวกันผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ประมาณร้อยละ 43 สนใจซื้อเครื่องเซ่นไหว้จัดชุดสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีเพียงร้อยละ 22 ส่วนผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ที่ยังไม่สนใจซื้อเครื่องเซ่นไหว้ผ่านช่องทางดังกล่าว เนื่องจากกังวลเรื่องคุณภาพ และมองว่ามีราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งมีให้เลือกจำกัด ไม่หลากหลาย

กรณีดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการควรปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ และสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพสินค้าและความคุ้มค่าคุ้มราคาเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยโจทย์ระยะยาวน่าจะอยู่ที่ทำอย่างไรจะจูงใจหรือดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมและผูกพันกับเทศกาล เพื่อให้เกิดการสืบทอดและเกิดการใช้จ่ายสะพัดไปยังธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ยังคงมีอยู่ในระยะข้างหน้า

ขณะเดียวกันบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ก็ไม่คึกคักและมีการใช้จ่ายค่อนข้างประหยัดกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 15 มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 2.35 แสนคน-ครั้ง และมีรายได้ 602.20 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่ไม่เพียงกระทบต่อความเชื่อมั่น ความปลอดภัยของประชาชน ทำให้ต้องงดหรือชะลอการเดินทางท่องเที่ยว แต่ยังฉุดให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนกลับมาซบเซาอีกครั้ง ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่จึงระมัดระวังการใช้จ่ายค่อนข้างมาก

การหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ซึ่งแต่เดิมกลไกรัฐคาดหมายจะให้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การณ์กลับไม่เป็นไปตามคาด โดยตัวเลขรายได้หมุนเวียนได้ลดหายไปเป็นจำนวนมาก เพราะคนส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายค่อนข้างประหยัดกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลกับการระบาดของ COVID-19 ซึ่งแตกต่างจากทุกครั้งเมื่อถึงเทศกาลนี้จะมีเงินสะพัดค่อนข้างสูง

ตัวเลขที่น่าสนใจจากช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทย 4,658 ล้านบาท และเมื่อรวมกับรายได้ของชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยในช่วงตรุษจีนปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 9,224 ล้านบาท ทำให้มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวสูงถึง 13,882 ล้านบาท

ขณะที่เทศกาลตรุษจีนปี 2563 หรือในช่วงตั้งแต่วันที่ 24-30 มกราคม 2563 พบว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทย 3,528 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้ของชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยในช่วงตรุษจีนปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 5,113 ล้านบาท ทำให้มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 8,641 ล้านบาท

การปรับลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 น่าจะลดต่ำลงอีก แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายๆ พื้นที่มีแนวโน้มลดลง และภาครัฐมีมาตรการผ่อนคลายพื้นที่ ทำให้ 60 จังหวัดเมืองหลัก-เมืองรอง มีความพร้อมรองรับการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนมากถึงประมาณร้อยละ 65.38 แต่เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวมีจำกัด ดังนั้นการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนจึงน่าจะเป็นการเดินทางระยะใกล้มากกว่า

กิจกรรมที่ยังพอจะมีความคึกคักอยู่บ้างในช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ น่าจะเป็นกิจกรรมตามวิถีแห่งศรัทธาและการแสวงหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่และสิ้นหวัง ด้วยการไหว้พระไหว้เทพเจ้า ขอพร และแก้ปีชงเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์การใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ว่าจะลดลงร้อยละ 10.4 แบ่งเป็นการใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ ลดลงร้อยละ 5.1 การใช้จ่ายท่องเที่ยว ทำบุญ รับประทานข้าวนอกบ้าน ลดลงร้อยละ 20.8 และการแจกเงินแต๊ะเอีย-อั่งเปา ลดลงร้อยละ 8.1

ปริมาณเม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ แบ่งเป็นการใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ 5,600 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 5.1) การใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ/กินข้าวนอกบ้าน 2,900 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 20.8) และการแจกเงินแต๊ะเอีย 3,200 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 8.1) และยังต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รวมถึงมาตรการในการควบคุมของภาครัฐอีกครั้ง ซึ่งหากพื้นที่กรุงเทพฯ กลับมามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนภายหลังจากการผ่อนปรนมาตรการ ก็อาจจะทำให้การใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ หดตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดและจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้ทรุดหนักลงไปอีก

รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยนำพามูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึงระดับหมื่นล้านบาทในช่วงตรุษจีนในแต่ละปี กลายเป็นรายได้ที่หดหายไปโดยปริยายสำหรับตรุษจีนในปีนี้ เพราะนอกจากจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ของโลกและทำให้การเดินทางข้ามประเทศดำเนินไปอย่างจำกัดแล้ว การที่ประเทศไทยยังคงใช้มาตรการกักตัว 14 วันสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ กลายเป็นข้อจำกัดในการเดินทางท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ยังไม่นับรวมถึงมาตรการว่าด้วยการจัดหาวัคซีน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อทั้งประชาชนและการฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ยังไม่ปรากฏความชัดเจนให้ได้เห็น

เทศกาลตรุษจีนปี 2564 ซึ่งกำลังเป็นจุดเริ่มต้นของปีนักษัตรฉลูตามประเพณีและความเชื่อของผู้คนเชื้อสายจีน แม้จะมีสถานะเป็นการเปิดศักราชใหม่ที่น่าจะนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่สดใส งอกเงย หากแต่ภายใต้สถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจ สังคมที่ดำเนินอยู่ในห้วงปัจจุบัน ดูเหมือนการเริ่มต้นใหม่ของปี ยังต้องเผชิญกับวิบากกรรมและความยากลำบากที่สังคมไทยยังต้องอดทนแบกรับต่อไปไม่ต่างกับการเป็น วัวงาน ที่ต้องก้มหน้าและรับภาระหนักไว้เท่านั้น

ใส่ความเห็น