วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ลุ้นส่งออกอาหารปี’64 ขยายตัวดี เพิ่มแรงบวกเศรษฐกิจไทย

ลุ้นส่งออกอาหารปี’64 ขยายตัวดี เพิ่มแรงบวกเศรษฐกิจไทย

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย สร้างความหวั่นวิตกให้แก่คนไทยไม่น้อย แม้ภาระหนักในการพยายามควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศคือ เจ้าหน้าที่การแพทย์ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และตัวประชาชนเองที่ยังต้องยกการ์ดสูง

ขณะความหวังที่เปรียบเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์คือ วัคซีน ที่ขณะนี้หลายประเทศเริ่มฉีดให้ประชาชนที่เป็นด่านหน้าในประเทศของตัวเองแล้ว แน่นอนว่าทั้งปริมาณที่สามารถผลิตออกมาบริการประชาชนได้นั้นจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งวัคซีนจากบางบริษัทยังประสบปัญหาด้านความพร้อมของประสิทธิภาพด้านการรักษา และยังมีผลข้างเคียงตามมาในบางรายที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว

การต่อสู้ป้องกันตัวเองของผู้คนต่อโรคร้ายยังคงดำเนินไป ทว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทุกประเทศพยายามที่จะขับเคลื่อนด้วยกำลังจากเครื่องจักรที่ยังพอจะทำงานได้

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไทยพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ไทยในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า “ล้านล้านบาท” การลงทุนของภาคเอกชน แม้ปีที่ผ่านมาจะยังมีการลงทุนเพิ่ม ทว่าเป็นไปในลักษณะการปรับปรุง ซ่อมแซม ตามแผนประจำปี การส่งออก เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ แม้ว่าปี 2562 การส่งออกจะติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี แต่นั่นเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อมสำคัญอย่างสงครามการค้า และภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลโดยตรง

ภาวะโรคระบาดที่ยังคงอยู่ ทำให้ไทยไม่สามารถเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ และการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยเองในห้วงยามนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ นั่นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศที่ส่งผลให้กำลังในการจับจ่ายของประชาชนลดลง แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการสนับสนุนด้วยโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” แล้วก็ตาม

ด้านการลงทุน ดูเหมือนว่าหลายประเทศจะประสบกับปัญหานี้ไม่ต่างกัน นอกจากเหตุผลด้านโรคระบาดแล้ว ยังมีปัจจัยความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุมทางการเมือง ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่อาจทำให้เกิดชะลอการลงทุนออกไปก่อน

ท้ายที่สุดเราจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออก ที่ดูจากสภาวการณ์ปัจจุบันแล้วมีภาษีดีที่สุดที่พอจะมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่มากก็น้อย

ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารแปรรูปเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยตัวเลขการส่งออกอาหารของไทยในปี 2562 อยู่ที่ 1,016,932 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 11 ของโลก มีส่วนแบ่งอาหารของไทยในตลาดโลกอยู่ที่ 2.51 เปอร์เซ็นต์ และเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากจีน

และในปี 2562 ตลาดส่งออกสินค้าอาหารของไทยได้แก่ จีน CLMV ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แอฟริกา กลุ่ม EU 27 ประเทศ กลุ่มประเทศโอเชียเนีย กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และสหราชอาณาจักร

ท่ามกลางวิกฤตโควิด อาหารเพื่อการส่งออกของหลายประเทศประสบกับปัญหาพบการติดเชื้อในเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมูในบางประเทศ พบการแพร่ระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกัน หรือ ASF ด้วยสาเหตุนี้ทำให้เนื้อหมูจากประเทศไทยได้รับอานิสงส์ และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

โดยในปี 2563 ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ไทยส่งออกหมูมีชีวิตมากกว่า 2,200,000 ตัว เนื้อหมูและผลิตภัณฑ์กว่า 54,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 300 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าสถิติการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2563 จะมีหดตัวอยู่บ้าง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่สินค้าส่งออกที่ยังคงทำตัวเลขได้ดียังคงเป็นสินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน สินค้าเกี่ยวกับป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์

มีการคาดการณ์จาก พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ว่า มีปัจจัยบวกสำคัญที่จะมาช่วยการส่งออกในปี 2564 เป็นผลมาจากการใช้มาตรการผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากปัญหาโควิด-19 ของแต่ละประเทศ การบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและค่าเงินบาท

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยในปี 2564 น่าจะเติบโตได้ 1-5 เปอร์เซ็นต์ ประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อทิศทางการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยต่อเนื่องจากปี 2563 คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา และโอกาสของการแพร่ระบาดซ้ำของโควิด-19 ที่แม้จะมีความหวังจากการผลิตวัคซีนในเชิงพาณิชย์ที่คาดว่าจะมีผลภายในปีนี้ แต่ก็ยังสร้างความกังวลให้กับตลาดอยู่

เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรคาดว่า มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยปี 2564 น่าจะอยู่ที่ระดับ 25,150-26,150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวที่ 1-5 เปอร์เซ็นต์ โดยสินค้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญจะมาจากกลุ่มอาหาร ที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสูง และมีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ กลุ่มผลไม้สด และสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ไก่ จากความต้องการในตลาดจีน (ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของไทย) ที่ยังอยู่ในระดับสูง

ส่วนกลุ่มสินค้าที่อาจจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของมูลค่าการส่งออก คือ กลุ่มสินค้าอาหาร ที่สัดส่วนการส่งออกสูงแต่เติบโตได้จำกัด หรือมีแนวโน้มที่จะหดตัว ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป เนื่องจากฐานที่ขยับสูงขึ้นในปี 2563 จากความต้องการที่เร่งขึ้น โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ แต่ด้วยสต็อกสินค้าที่น่าจะมีเพียงพอในระดับหนึ่ง อาจทำให้การเติบโตอยู่ในระดับทรงตัว และสินค้าประมง โดยเฉพาะกุ้ง ที่มีผลผลิตในตลาดโลกล้นตลาด จากความต้องการกลุ่มธุรกิจ Horeca (โรงแรม/ร้านอาหาร/จัดเลี้ยง) ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์สำคัญยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

แต้มต่อของไทยจากความตกลงการค้าเสรีจะช่วยปลดล็อกกำแพงภาษีศุลกากรที่ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ ซึ่งปัจจุบันไทยทำเอฟทีเอไว้กับ 15 ประเทศ จาก 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ และจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู ฮ่องกง

เอฟทีเอที่ไทยมีต่อประเทศคู่ค้าจะช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้ามาใช้ในการผลิตอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายขึ้น เนื่องจากภายใต้เอฟทีเอไทยได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประมงกลุ่มวัตถุดิบที่ไทยขาดแคลนและจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน

นอกจากนี้ วิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยแผนการทำงานในปี 2564 ของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิต และการเจาะตลาดเมืองรองของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า ขณะนี้สำนักงานฯ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ ได้จัดทำแผนมาแล้วมีทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย การจัดงานแสดงสินค้าไทยทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและเพิ่มความร่วมมือทางการค้า และการร่วมมือกับรัฐและเมืองของประเทศเป้าหมาย ในการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

โดยในส่วนของตลาดจีน มีแผนที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ไทยในเมืองสำคัญรวม 13 เมือง ซึ่งเป็นการทำงานต่อเนื่องจากปี 2563 เพื่อกระตุ้นยอดขายผลไม้ไทย จะทำแผนประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยใน 5 เมือง ได้แก่ ต้าเหลียน ฉางซา จ้านเจียง อู่ฮั่น หนานชาง เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นการบริโภค และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์อาหารและสินค้าไลฟ์สไตล์ใน 5 เมืองรอง ได้แก่ ซีอาน อาร์บิ้น ไป่เซ่อ จงซาน อันฮุย เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายอาหารและสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทยให้ได้เพิ่มขึ้น

ส่วนตลาดอาเซียน จะจัดงาน Top Thai Brands เพื่อบุกตลาดในทุกเมืองหลักของอาเซียน เน้นการขายออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป และจะจัดงาน Mini Thailand Week ในเมืองรอง 8 แห่ง กระจายทั่วอาเซียน ได้แก่ ตองยีในเมียนมา เชียงขวาง และไซยะบุรี ใน สปป. ลาว เสียมราฐ ในกัมพูชา เกิ่นเทอ และไฮฟอง ในเวียดนาม ดาเวา ในฟิลิปปินส์ และสุราบายา ในอินโดนีเซีย ตลอดจนจัดคณะผู้แทนการค้าไปยะโฮร์บารู มาเลเซีย และติมอร์เลสเต เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า

ขณะที่ตลาดอินเดียมีกำหนดจะจัดพิธีลงนาม MOU รูปแบบออนไลน์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ รัฐเตลังคานา ในวันที่ 18 มกราคมนี้ เพื่อร่วมมือในการขยายการค้า การลงทุน และกิจกรรมอื่นๆ

ส่วนตลาดญี่ปุ่น จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยผ่านสื่อทีวีดิจิทัล และส่งเสริมการขายร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตอิออนในญี่ปุ่น ส่วนตลาดเกาหลีใต้จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีศักยภาพเช่น Coupang, SSG (Shinsegae), Naver, Interpark, Gmarket และ 11st เป็นต้น

ขณะที่ตลาดออสเตรเลีย จะเร่งสร้างภาพลักษณ์สินค้าการ์ตูนคาแรกเตอร์ และสินค้าเครื่องปรุงรสไทย ในงาน Sydney Royal Easter Show 2021 ณ นครซิดนีย์

ดูเหมือนว่าสถานการณ์แวดล้อมข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความตกลงเอฟทีเอ แผนงานของกระทรวงพาณิชย์ที่จะทำในปีนี้ อาจส่งผลให้การส่งออกอาหารของไทยไปยังต่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่สดใสมากขึ้น หวังเพียงว่า วิกฤตโควิด-19 ไม่เลวร้ายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะอาหารเพื่อการส่งออกของไทยดูจะเป็นความหวังที่ดีที่สุดที่ไทยมีในเวลานี้

ใส่ความเห็น