วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ท่องเที่ยวไทยอ่วม ถึงเวลาต้องปรับตัว

ท่องเที่ยวไทยอ่วม ถึงเวลาต้องปรับตัว

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งคุกคามสังคมโลกและยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงโดยง่ายเช่นในปัจจุบันนี้ นอกจากจะส่งผลให้ธุรกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไปต้องปรับตัวให้สอดรับกับวิถีใหม่ หรือ New Normal เพื่อที่จะขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าแทนที่จะหยุดนิ่งเหมือนช่วงที่ผ่านมา อาจให้ภาพของความคลี่คลายในสถานการณ์ หากแต่ในความเป็นจริงอนาคตที่วางอยู่เบื้องหน้าดูจะอึมครึมและปราศจากสัญญาณเชิงบวกอยู่ไม่น้อย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจสำหรับเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลจากการแพร่ระบาดซึ่งเริ่มต้นในช่วงปลายของไตรมาสที่ 1 ส่งผลให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 กลายเป็นไตรมาสที่ย่ำแย่ที่สุด เนื่องเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งระบบหยุดชะงัก การผลิตและการส่งออกไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งเมื่อเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการป้องกันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายเริ่มกลับมาดำเนินการได้ภายใต้มาตรการที่คลี่คลายลง ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะพ้นจุดต่ำสุดและกำลังจะฟื้นตัวขึ้นมาอย่างช้าๆ

หากแต่ในความเป็นจริงตลอดช่วงเวลาของไตรมาสที่ 3 ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนพร้อมกับการสิ้นสุดปีงบประมาณ สถานการณ์โดยรอบกลับไม่ได้บ่งชี้ถึงสัญญาณการฟื้นตัวมากนัก มิหนำซ้ำยังมีลักษณะที่พร้อมจะจมดิ่งไปหาจุดต่ำสุดใหม่ได้ตลอดเวลาอีกด้วย เพราะแม้หลายฝ่ายจะพยายามปลอบประโลมว่าด้วยการทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่นั่นก็อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรืออาจยาวนานถึง 5 ปีนับจากนี้

เหตุที่เป็นดังนี้ในด้านหนึ่งก็เนื่องเพราะประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกที่ผูกพันกับกำลังซื้อของคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งหากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวโอกาสที่จะมีคำสั่งซื้อก็จะชะลอตัวต่อไป ขณะเดียวกันด้วยเหตุที่ไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ความหวังที่ว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเดินทางสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็อาจต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 2 ปี

การคาดการณ์ในลักษณะดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่า หลักประกันความปลอดภัยจาก COVID-19 โดยเฉพาะวัคซีนยังไม่มีการพัฒนาได้สำเร็จ โดยหลายฝ่ายประเมินเบื้องต้นว่าวัคซีนที่ได้ผลในการจัดการกับ COVID-19 น่าจะคิดค้นได้เร็วที่สุดภายในเดือนกันยายนปีหน้า และกว่าที่วัคซีนจะเข้าถึงประชากรส่วนใหญ่ทั่วโลกและประเทศกำลังพัฒนา ก็น่าจะยาวนานไปจนถึงปี 2022 ดังนั้น แนวโน้มที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่เทียบเท่าก่อนเกิดการระบาด ก็น่าจะอยู่ในช่วงปลายปี 2022 หรืออีกประมาณ 2 ปีนับต่อจากนี้

ก่อนหน้านี้ ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงร้อยละ 5.2 ในปีนี้ และเศรษฐกิจของซีกโลกตะวันตกจะหดตัวลงถึงร้อยละ 7 ซึ่งเลวร้ายกว่าสถานการณ์เมื่อช่วงวิกฤตการเงินในระหว่างปี 2008-2009 อย่างมาก อีกทั้งการฟื้นฟูยังเป็นไปในแบบที่ค่อนข้างเชื่องช้าอย่างยิ่ง

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เมื่อย้อนกลับมาดูที่สถานะของเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักคาดการณ์ว่า การหดตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะหนักหนาสาหัสมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยคาดว่า การเติบโตของไทยในปี 2020 จะหดตัวลงอย่างน้อยร้อยละ 5-10 ซึ่งดูจะเป็นการประเมินที่มีช่วงห่างค่อนข้างกว้างมากทีเดียว ในด้านหนึ่งเพราะไม่มีผู้ใดประสงค์จะระบุถึงตัวเลขการหดตัวลงของเศรษฐกิจไทยที่อาจเป็นเลขสองหลักที่พร้อมจะเกิดขึ้นในอนาคต

แนวโน้มการทรุดต่ำลงของเศรษฐกิจไทยดังกล่าวในด้านหนึ่งเป็นเพราะกลไกการขับเคลื่อนที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก และกำลังการบริโภคภายในประเทศ ล้วนอยู่ในภาวะชะงักงันและถดถอย จากมาตรการที่นานาประเทศนำมาใช้เพื่อสกัดกั้นการระบาดของ COVID-19 ขณะที่ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ก็ล้วนมีแนวโน้มขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยไม่น้อยเลย

ในส่วนของการท่องเที่ยว ความหวาดกลัวและมาตรการป้องกัน COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง รายได้หลักของไทยอย่างการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15-20 ของจีดีพีประเทศจึงลดน้อยลงไป ซึ่งจนกว่าที่ประชากรโลกจะได้รับวัคซีน เมื่อนั้นการท่องเที่ยวไทยก็ทำได้เพียงแค่ประคองตัว ไม่ให้ล้ม โดยอาศัย “ไทยเที่ยวไทย” เป็นหลักไปก่อน

กระนั้นก็ดีการหวังพึ่งพารายได้จากกิจกรรม “ไทยเที่ยวไทย” หรือ “ไทยทำ ไทยใช้” ให้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บวกกับเงินอัดฉีดก้อนใหญ่จากรัฐบาล ก็เป็นเรื่องยาก เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในห้วงเวลานี้ ทำให้รายได้ของภาคครัวเรือนหดหาย หลายครอบครัวโดนเบียดตกให้อยู่ในสภาะยากจนไปโดยปริยายแล้ว

ภาวะที่รายได้ลด และภาระหนี้เพิ่ม ทำให้ครัวเรือนต้องหันมาประหยัดอดออม ลดการใช้จ่าย กำลังการบริโภคภายในประเทศจึงมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นอีกครั้งก็อีก 1 ปีให้หลัง ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในภาคธุรกิจจะทำให้เอกชนทั้งหลายชะลอการลงทุน ขยายกิจการไปจนปี 2022 ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังการบริโภคภายในประเทศของไทยมีแนวโน้มจะชะลอตัวยาวนานอย่างน้อย 1-2 ปี และเมื่อมีความเป็นไปได้ที่จะถูกซ้ำเติมจากบรรดานายจ้างที่ล้ม เลิก หรือปิดกิจการ ทำให้เกิดภาวะว่างงานหรือตกงานเป็นจำนวนมาก การหวังพึ่งกำลังการบริโภคภายในประเทศให้ช่วงพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้โดยไว จึงเป็นเรื่องยากพอควร

ในช่วงที่รัฐออกมาตรการปิดเมืองเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรค ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมจำนวนมากต้องปรับตัวไปทำธุรกิจอื่นเพื่อหารายได้มาต่อลมหายใจ ทั้งการให้บริการเดลิเวอรี่อาหารส่งตรงจากครัวของโรงแรม และเริ่มกลับมาเปิดให้บริการหลังคลายมาตรการปิดเมือง ขณะที่ภาครัฐมีมาตรการยกระดับความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติด้วยโครงการ Amazing Thailand Safety and Health Administration ที่ ททท. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬา กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และออกตราสัญลักษณ์ SHA สำหรับผู้ประกอบการไทย

ขณะที่โรงแรมหรูระดับ 4-5 ดาวในเขตเมืองใช้กลยุทธ์ทางการตลาด “Staycation” เพื่อสร้างรายได้ให้กลับคืนมาด้วยการหยิบยื่นทางเลือกการพักผ่อนให้กับคนเมืองที่ต้องการปลีกตัวจากความวุ่นวายและไม่อยากเดินทางไปไหนไกล นั่นคือภาพการดิ้นรนเพื่อหาทางรอดให้กับธุรกิจ แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายเชื่อว่าธุรกิจการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า เมื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวจากจีนและประเทศอื่นๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบแต่นั่นก็อาจเป็นเพียงความหวังในห้วงยามที่ยังไม่มีสิ่งใดชัดเจน

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization-UNWTO) คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนจำนวนมากถึง 120 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียอาชีพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและคาดว่ารายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะลดลงจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 80 คิดเป็นมูลค่ามากถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ประเด็นที่น่าสนใจจากตัวเลขการคาดการณ์ดังกล่าวก็คือมีธุรกิจและผู้คนมากมายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนี้ โดยรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกคิดเป็นร้อยละ 10.3 ของจีดีพีโลก แต่เมื่อโรคระบาดทำให้การเดินทางท่องเที่ยวหยุดชะงักจนแทบเป็นอัมพาต ผลกระทบจึงไม่ได้เกิดขึ้นกับธุรกิจใหญ่อย่างสายการบิน เครือโรงแรม และบริษัททัวร์อย่างเดียว แต่ส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังแทบทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) บริษัทเช่ารถ เรือสำราญ ไกด์นำเที่ยว พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงแหล่งช้อปปิ้ง ร้านค้า และร้านอาหาร

แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะยังไม่ถึงจุดจบ โดยหลายประเทศได้ผ่อนปรนมาตรการ ด้วยหวังจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว การจับคู่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่จัดการโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านนโยบาย Travel Bubble กลายเป็นโมเดลที่ธุรกิจท่องเที่ยวฝากความหวังไว้ในวันที่โรคระบาดยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด และมนุษย์ยังคงปรารถนาที่จะออกเดินทาง

ภายใต้สถานการณ์ที่ถูกระบุว่าเป็นวิถีใหม่ ซึ่งเรียกร้องให้มีการปรับตัวอย่างกว้างขวางในหลายกลุ่มธุรกิจ ดูเหมือนว่าธุรกิจท่องเที่ยวก็ไม่ได้รับการยกเว้น โดยผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับรูปแบบการให้บริการที่คำนึงถึงความปลอดภัยในทุกๆ จุดที่นักท่องเที่ยวไปใช้บริการ ทั้งระหว่างการเดินทาง การเข้าพักในโรงแรม/ที่พัก และการไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ทั้งสายการบิน ผู้ให้บริการรถทัวร์ รถโดยสารสาธารณะ บริการนำเที่ยว และโรงแรม/ที่พัก ต้องมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ บริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลาง มีระบบเช็กอินออนไลน์ ระบบการตรวจวัดอุณหภูมิ และระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ลดการสัมผัส

ขณะที่การควบคุมการเดินทางเข้าออกของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย การบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อลดความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว รวมทั้งกำลังซื้อ และความกังวลของนักท่องเที่ยวเองก็เป็นปัจจัยประกอบด้วย ไม่นับถึงปัญหาที่ตลาดมีจำนวนผู้ให้บริการที่มากกว่าผู้ใช้บริการหรือ Over Supply จะยิ่งกระตุ้นให้การแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้น

สิ่งที่เป็นความท้าทายต่อธุรกิจท่องเที่ยวในห้วงเวลานี้อยู่ที่ว่า แม้จะมีการฟื้นตัวขึ้นในช่วงปีหน้า แต่ก็ยังไม่สามารถกลับไปสู่สถานะก่อนเกิดการแพร่ระบาด อีกทั้งธุรกิจท่องเที่ยวยังต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายสูงภายใต้สภาวะ New Normal ซึ่งบรรยากาศที่เอื้อต่อการเดินทางคงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายต่างตระหนักว่าเป็นสถานการณ์หลีกเลี่ยงได้ยากแล้ว

บางทีทฤษฎีวิวัฒนาการของ Charles Darwin ที่ว่า “ไม่ใช่สายพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุดที่จะอยู่รอด ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด หากแต่เป็นสายพันธุ์ที่พร้อมปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดต่างหากที่จะอยู่รอด” อาจเป็นภาพสะท้อนบริบทและภูมิทัศน์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยนับจากนี้

ใส่ความเห็น