วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > หนี้พุ่งเบรกนักชอป เมื่อสภาพคล่องเข้าขั้น “แย่”

หนี้พุ่งเบรกนักชอป เมื่อสภาพคล่องเข้าขั้น “แย่”

หนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหารุนแรงและสาหัสมากขึ้นหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักส่งผลให้ผู้คนขาดรายได้ หรือรายได้หดหายไปนานเกือบปี

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ไตรมาส 1 ของปี 2564 ยอดหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงไปถึง 14.1 ล้านล้าน เท่ากับ 90.5% ของ GDP ส่งผลให้ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ในไตรมาส 2 สูงขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากและทำให้เกิด NPL คือ 1. กลุ่มค้าส่งและค้าปลีก จำนวน 127,338 ราย 2.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต 121,150 ราย 3. กลุ่มการบริโภคส่วนบุคคล 150,369 ราย 4. กลุ่มที่อยู่อาศัย 94,250 ราย

ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 2564 ที่เพิ่มสูงขึ้น 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่น่าสนใจคือ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 6.5% สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2563 และสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวสูงถึง 6% ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และบัตรกดเงินสด

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค ออกมาเปิดเผยข้อมูลวิจัยชุดพิเศษรวบรวมข้อมูลการศึกษาวิกฤตการณ์โควิดทั้ง 4 ระลอก ตั้งแต่กลางปี 2563 ในตลาดสำคัญแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

ในประเทศไทย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกลงต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 1 ในเดือนมีนาคม 2563 และตกต่ำสุดในระลอก 3 ช่วงปี 2564 ต่อเนื่องกับระลอก 4 โดยความปลอดภัยจากโควิดและความมั่นคงด้านการเงินเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกของคนไทย

อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ อิปซอสส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า คนไทยกังวลและมีภาพที่ไม่ดีต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของภูมิภาค

ที่สำคัญ 1/3 ของคนไทยมองสถานะด้านการเงินของตนเข้าขั้น “แย่” ซึ่งไทยถือเป็นสัดส่วนตกต่ำสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้คนไทยเลือกจับจ่ายเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็นและตัดสินค้าที่มีมูลค่าเพื่อความสะดวกสบาย เช่น บ้าน รถยนต์ ตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิดระลอก 3

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดโควิดที่ยาวนานกว่า 18 เดือน ได้เปลี่ยนพฤติกรรมด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว โดยผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการชอปปิงผ่านช่องทางออนไลน์และจับจ่ายแบบไร้เงินสด ใช้เวลาค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

กลุ่มสินค้ายอดฮิตที่จับจ่ายผ่านรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง ได้แก่ เครื่องแต่งกายและรองเท้า 51% อาหาร 15% ของใช้ส่วนบุคคลและความงาม 14% สินค้าในครัวเรือน 10% เครื่องดื่ม 4% ของเล่นและเกม 3% อื่นๆ 2%

เมื่อถามถึงเรื่องเร่งด่วนในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ประเด็นที่ประชาชนคาดหวังสูงสุดจากภาครัฐ 5 อันดับแรก คือ มาตรการป้องกันพนักงานให้ปลอดภัยและพ้นภัยโควิด ควบคุมราคาสินค้าและบริการ ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ มาตรการเงินช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินให้ครัวเรือน สร้างงานและคุ้มครองการจ้างงาน เพิ่มและพัฒนาระบบสวัสดิการด้านสุขภาพ ในอัตรา 56%, 36%, 34%, 26% และ 24% ตามลำดับ

Related Story

1. ช้อปปี้รุกขยาย SPayLater กระตุ้นต่อม “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง”

ใส่ความเห็น