วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
Home > Cover Story > ซุปเปอร์พาร์คปักหมุดไทย ลุยสงครามรีเทลเทนเมนต์

ซุปเปอร์พาร์คปักหมุดไทย ลุยสงครามรีเทลเทนเมนต์

“ซุปเปอร์พาร์ค” สวนสนุกในร่มของกลุ่มทุนฟินแลนด์ กลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาบุกสงครามฟันปาร์ค ประเทศไทย โดยเฉพาะการพยายามเจาะช่องว่างเน้นจุดขายใหม่ ทั้งขนาดพื้นที่ ราคา และกิจกรรมแปลกใหม่มากกว่า 20 รายการ ที่ไม่ใช่แค่เจาะกลุ่มเด็กแต่ยังขยายฐานลูกค้าครอบคลุมถึงผู้ใหญ่อายุมากกว่า 35 ปีด้วย

ที่สำคัญ ฟันปาร์คหรือธีมปาร์คถือเป็นอีกหนึ่งแม็กเน็ตชิ้นพิเศษของโปรเจกต์มิกซ์ยูสและศูนย์การค้าภายใต้แนวคิด “รีเทลเทนเมนต์ (Retailtainment)” หรือ Retail + tainment เพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้บริการในหลากหลายกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เหมือนการมีโรงภาพยนตร์ สวนน้ำ โคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือแม้กระทั่งร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตยุคใหม่ นับจากนี้ต้องผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างความสนุกสนานในการจับจ่ายมากขึ้น

มาร์ค กุมาราสินห์ ประธานกรรมการบริหาร ซุปเปอร์พาร์ค เอเชีย กล่าวถึงแนวคิดการทำสวนสนุกของซุปเปอร์พาร์คแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ เพราะเน้นการสร้างกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวสามารถร่วมเล่นได้ เป็นไอเดียและหัวใจหลักที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อครั้งหนึ่งนายทาเนลี ซูติเน็น นักธุรกิจชาวฟินแลนด์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งซุปเปอร์พาร์ค กำลังนั่งอยู่ในร้านอาหารและลูกสาววัย 4 ขวบเข้ามาคว้าแขนให้ออกไปเล่นกับเธอ แต่เขาต้องรู้สึกอึดอัดกับเครื่องเล่นขนาดเล็กในสนามเด็กเล่นจนปิ๊งไอเดียขึ้นมาทันทีว่า ทำไมไม่สร้างสวนสนุกที่ผู้ใหญ่และเด็กเล่นสนุกด้วยกันได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งนั่นก็คือจุดกำเนิดซุปเปอร์พาร์คแห่งแรกที่เมืองวูโอคาตติ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 2012

ปัจจุบันซุปเปอร์พาร์คเปิดสาขาในฟินแลนด์รวม 10 สาขา และขยายออกสู่ประเทศต่างๆ รวม 6 สาขา เริ่มจากประเทศแถบยุโรปและช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทแม่มีนโยบายเจาะตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเข้าไปปักหมุดในฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และล่าสุด คือประเทศไทย ส่วนปี 2563 กำลังศึกษาลู่ทางการลงทุนในหลายประเทศ เช่น เกาหลี ประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และอินเดีย

สำหรับ “ซุปเปอร์พาร์ค ประเทศไทย” เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทตัดสินใจเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ในไอคอนสยามประมาณ 4,000 ตารางเมตร และถือเป็นสาขาที่ใช้เงินลงทุนสูงสุดเมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ทั่วโลก เพราะมีหลายเกมที่ลงทุนสร้างรูปแบบเฉพาะสาขาในประเทศไทย รวมทั้งการอัปเกรดเกมจากซุปเปอร์พาร์ค ฟินแลนด์ เพื่อสร้างความพิเศษ โดยนำเสนอฐานเครื่องเล่นมากกว่า 20 ชนิด

ภายในพื้นที่กิจกรรมแบ่งเป็น 3 โซน ประกอบด้วย โซนดินแดนนักผจญภัย (Adventure Area) โซนนี้เหมาะกับเด็กๆ พ่อแม่ เช่น ห้องเรียนอัจฉริยะ (iTeacher•Lü) ด่านโหนสลิงดัง จิ้งจอกแห่งสายลม (Flying Fox) เครื่องเล่นสไลด์เรือยาง (Tube Slide) เมืองนักผจญภัยตัวน้อย (Kid’s Adventure City) ด่านเครื่องกีดขวาง-หนทางสู่ยอดนินจา (Super Ninja) สนามสิงห์นักถีบ (Pedal Car Track)

โซนเกมอารีน่า หรือสังเวียนเจ้าแห่งเกม (Game Arena) ซึ่งผู้เล่นสามารถเสิร์ฟและแข่งขันกันในเกม เช่น เกม SuperTennis ซึ่งเป็นเกมรูปแบบใหม่และมีเฉพาะที่ซุปเปอร์พาร์ค ประเทศไทยแห่งเดียว เกมโชว์วงสวิง Baseball 2.0 เกมโรโบคีปเปอร์ ชิงประตูโกลจักรกล (Robo Keeper-AI goalie) เกมแข่งกระโดดชู้ตลูกในสตรีทบาสเกตบอล (Street Basketball) โดยทุกฐานเครื่องเล่นมีเรดาร์และระบบดิจิทัลคอยวัดคะแนน ผู้เล่นสามารถท้าดวลแข่งขันเพื่อนๆ

สุดท้ายเป็นโซนฟรีสไตล์ฮอลล์ (Freestyle Hall) เช่น ซุปเปอร์บิ๊กดร็อป (SuperBigDrop) เกมรูปแบบใหม่ความสูงกว่า 7 เมตร เกมซุปเปอร์ไคลม์-ฝ่าอุปสรรคหน้าผาจำลอง สูงกว่า 8 เมตร (SuperClimb) เกมสเกต แอนด์ สกู๊ต เวิลด์-โลกติดล้อ (Skate and Scoot World) หรือการกระเด้งลอยตัวกลางอากาศบนแทรมโพลีน แพล็ตฟอร์ม เวทีฟรีจัมปิ้ง (Trampoline Platform)

เกมซุปเปอร์บ็อกเซอร์-AI มวยอัจฉริยะ (SuperBoxer-AI boxing) เกมซุปเปอร์สกี ซีมูเลเตอร์ (SuperSki Simulator) และซุปเปอร์ไอซ์สเกตติ้ง (Super Ice Skating)

นายมาร์คกล่าวว่า แม้ไอคอนสยามเน้นจับกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่บริษัทวางเป้าหมายจับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวคนไทย กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งบริษัทเร่งทำตลาดเสนอขายโปรแกรมกับโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด กลุ่มโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษา นอกจากนี้ เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยมีหัองจัดเลี้ยง จำนวน 6 ห้อง รองรับทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ รวมถึงการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ซุปเปอร์พาร์คไม่ใช่ผู้เล่นรายใหญ่รายเดียว ที่ผ่านมามีกลุ่มทุนเข้ามาเจาะตลาดคนไทยในคอมมูนิตี้มอลล์และศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายเจ้า

อย่างสวนสนุก Kidzania Bangkok ในศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยวางตัวเองเป็นศูนย์การเรียนรู้และความบันเทิงสำหรับเด็กวัย 4-14 ปี ภายในมีกิจกรรมมากมายให้เด็กๆ สวมบทบาทเป็นอาชีพต่างๆ มีอาคารร้านค้า ท่าอากาศยาน ธนาคาร โรงละคร โรงพยาบาล เขตโรงงานหลายประเภทและยานพาหนะที่จำลองจากสถานที่จริง อัตราค่าเข้า ผู้ใหญ่ 460 บาท เด็กโต อายุ 4-14 ปี ราคา 780 บาท เด็กเล็ก อายุ 2-3 ปี ราคา 490 บาท

สวนสนุก Playtime สวนสนุกในร่มที่ได้รับมาตรฐานจากสถาบัน TUV Rhoneland Group of Germany อยู่ในโครงการ Park Lane เอกมัย สุขุมวิท 63 จับกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 14 ปี อัตราค่าเข้า ผู้ใหญ่ 130 บาท เด็กโต สูงเกิน 105 ซม. 390 บาท เด็กเล็ก สูงไม่เกิน 105 ซม. 250 บาท

ส่วน Harbor Land เจ้านี้ถือเป็นสวนสนุกที่ประสบความสำเร็จและสามารถขยายสาขาได้อย่างต่อเนื่อง จากสาขาแรกที่ศูนย์การค้าฮาร์เบอร์ พัทยา จนล่าสุดมีสาขารวม 6 แห่ง ได้แก่ สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ เมกาบางนา เกตเวย์ บางซื่อ และสาขาต่างจังหวัด ได้แก่ ฮาร์เบอร์ พัทยา, ตึกคอม ชลบุรี, ศรีราชา และอุดรธานี อัตราค่าเข้าอยู่ระหว่าง 300-580 บาท โดยบังคับให้ผู้ใหญ่เข้าใช้บริการ เพื่อดูแลเด็กด้วย

Famplayland ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลอีสต์วิลล์ ที่นี่ชูจุดขายกิจกรรมที่เหมาะกับเด็กวัยต่างๆ เช่น Air bag Freedrop ให้เด็กสามารถกระโดด มี Rope Bridge หรือสะพานเชือกให้ปีนป่าย มีโซน Toddler’s Cave โซนพัฒนาการสำหรับน้องเล็กตั้งแต่อายุ 1-3 ขวบโดยเฉพาะบ้านบอลและโซนจัดกิจกรรมปาร์ตี้วันเกิด อัตราค่าเข้า เด็กโต สูงเกิน 100 ซม. ขึ้นไป 410 บาท ส่วนเด็กเล็ก สูงตั้งแต่ 75-100 ซม 310 บาท

ด้าน Funarium ในห้างสรรพสินค้า Zpell นอกจากเครื่องเล่นต่างๆ แล้ว ยังเน้นความเป็นแหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ คลาสสอนทำอาหารสำหรับเด็กๆ อายุ 3-13 ปี และคลาสพิเศษที่จัดขึ้นหมุนเวียนกันไป เช่น คลาสเรียนเทนนิส การเล่นละครเงา คลาสเต้น ห้องเกมเลเซอร์ Fun Rope Course อัตราค่าเข้า ผู้ใหญ่ 70 บาท เด็กเล็ก สูงไม่เกิน 105 ซม. 180 บาท ส่วนเด็กโต อายุไม่เกิน 13 ปี 250 บาท

นอกจากนี้ ยังมีสวนสนุก Line Village Bangkok ที่เล่นตามกระแสไลน์เฟรนด์ ความน่ารักของบราวน์และผองเพื่อน ได้แก่ โคนี่ แซลลี่ ช็อกโก มูน เจมส์ บอส เอ็ดเวิร์ด เจสสิก้า ลีโอนาร์ด ภายในหมู่บ้านที่อบอุ่น มีร้านค้า ร้านอาหารของบรรดาตัวการ์ตูนที่น่ารัก ห้องหนังสือ อัตราค่าเข้า ผู้ใหญ่ 850 บาท เด็ก ความสูงระหว่าง 90-140 ซม. 650 บาท ผู้สูงอายุ อายุ 65 ปีขึ้นไป 650 บาท

ขณะที่หากเปรียบเทียบอัตราค่าเข้าใช้บริการในซุปเปอร์พาร์คเน้นความหลากหลาย มีทั้งบัตรใช้บริการทั้งวัน (All Day pass) ราคา 450 บาท วันธรรมดา จันทร์- ศุกร์ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ 650 บาท บัตรพิเศษช่วงเย็น วันธรรมดา ราคา 220 บาท บัตรซุปเปอร์เดย์ วันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันปิดภาคเรียน ช่วงเช้า ราคา 450 บาท รอบกลางวันราคา 500 บาท รอบเย็นราคา 380 บาท ซึ่งมาร์ค กุมาราสินห์ ระบุว่า ราคาที่เข้าถึงได้และหลากหลายเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ต้องการเพิ่มความถี่ของกลุ่มลูกค้า

แต่ทั้งหมดจะบรรลุเป้าหมายและเดินหน้าปักหมุดขยายฐานต่อไปได้หรือไม่ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจกำลังซื้อหดตัว ธุรกิจสวนสนุกสุดท้ายจะ “สนุก” หรือ “ไม่สนุก” อย่างที่คิด อีกไม่นาน รู้ผลลัพธ์แน่

ใส่ความเห็น