วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
Home > Cover Story > คนไร้บ้านกับ COVID-19 เสี่ยงทั้งติดเชื้อและอดตาย?

คนไร้บ้านกับ COVID-19 เสี่ยงทั้งติดเชื้อและอดตาย?

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ดำเนินต่อเนื่องในสังคมไทย กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อทั้งการได้รับหรือติดเชื้อ COVID-19 มากที่สุดอีกกลุ่มหนึ่งดูจะเป็นกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งแม้ทุกฝ่ายจะระบุว่าไม่ควรมองข้ามหรือละเลย หากแต่ในความเป็นจริง กลุ่มคนไร้บ้านเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะมีความเสี่ยงด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจและปากท้องอีกด้วย

แม้ว่ามูลเหตุหรือจุดเริ่มต้นของ “คนไร้บ้าน-คนไร้ที่พึ่ง-คนเร่ร่อน-คนจรจัด-คนตกงาน” อาจแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มคน หากแต่ด้วยเงื่อนไขปัจจุบันพวกเขาถูกนิยามด้วยคำจำกัดความว่า “ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ” ซึ่งจากข้อมูลของมูลนิธิอิสรชน องค์กรเอกชนที่ทำงานช่วยเหลือคนเร่ร่อน ระบุว่าในปี 2562 กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนไร้บ้านรวมกว่า 4,392 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยซึ่งอยู่ในระดับไม่ถึง 3 พันคนเสียอีก แต่ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญเท่าใดนัก

ความเป็นไปของคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยป้ายรถเมล์หรือสถานที่ที่มีแสงสว่างเป็นที่พักพิง หาเลี้ยงชีพโดยการเก็บขวดหรือของเก่าขาย รับจ้าง เป็นแรงงานรายวัน หรือค้าขายทั่วไป ซึ่งในมิติของสุขอนามัยและสุขภาพพื้นฐาน ต้องยอมรับว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สุขอนามัยไม่ดีนัก เพราะต้นทุนการอาบน้ำของคนไร้บ้านสูงถึงครั้งละ 15-20 บาท เทียบเท่าอาหาร 1 มื้อ คนไร้บ้านจึงเลือกเก็บเงินไว้ซื้อหาอาหารประทังชีวิตและปล่อยให้เนื้อตัวมอมแมมจนเป็นภาพติดตา นอกจากนี้ การที่คนไร้บ้านมักอาศัยรวมกลุ่มกัน จึงง่ายต่อการระบาดของโรคติดต่อ คนไร้บ้านจำนวนมากยังเป็นวัณโรค ในบางพื้นที่สัดส่วนคนไร้บ้านที่เป็นวัณโรคสูงถึงร้อยละ 80 เรียกว่าเสี่ยงเป็นพิเศษต่อโรค COVID-19 ที่มุ่งโจมตีระบบทางเดินหายใจ

ประเด็นว่าด้วยสุขภาพของคนไร้บ้านไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่งานวิจัยในต่างประเทศ ก็พบว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่สุขภาพแย่กว่าคนทั่วไป อัตราการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่า โดยโรคส่วนใหญ่ที่เป็นคือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและโรคหัวใจ และมีการประเมินว่าจากจำนวนคนไร้บ้านราว 600,000 คนในสหรัฐฯ จะมีมากกว่า 60,000 คน เสี่ยงติดไวรัสในช่วง 8 สัปดาห์ข้างหน้า ล่าสุดมีคนไร้บ้านในนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนียเสียชีวิตจาก COVID-19 แล้ว

องค์กรเพื่อสังคมในหลายประเทศ ทั้งในออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร เรียกร้องให้รัฐบาล สนใจกลุ่มคนไร้บ้าน เพราะเผชิญความเสี่ยงสูงในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในแง่พื้นฐานสุขภาพของคนไร้บ้านที่ไม่ดีอยู่แล้ว การไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือป้องกันโรค การไม่มีสถานที่กักตัวเองให้ปลอดภัย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาดด้วย นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่รัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการให้คนอยู่บ้าน เพื่อลดการติดเชื้อความสามารถในการหารายได้ ไม่ว่าจะขายของเล็กๆ น้อยๆ หรือรับบริจาคของคนไร้บ้านก็ย่อมน้อยลง ทำให้ยังชีพได้ยากขึ้นด้วย

การแก้ปัญหาหรือบรรเทาทุกข์ในกรณีของคนไร้บ้านที่น่าสนใจดูเหมือนจะเป็นกรณีของนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ซึ่งเช่าโรงแรม 2 แห่ง ปริมาณห้องพัก 300 ห้อง เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้คนไร้บ้านใช้กักตัว รวมถึงกรณีของผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียประกาศจัดหาห้องพักโรงแรมจำนวน 51,000 ห้อง ให้คนไร้บ้านใช้กักตัว หรือที่กรุงปารีส รัฐบาลจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับคนไร้บ้าน 2 แห่ง รองรับผู้ป่วย COVID-19 ที่อาการไม่รุนแรง ซึ่งสะท้อนภาพของการบริหารจัดการและนโยบายดูแลคนไร้บ้านเป็นอย่างดี

หากแต่ภาพที่ปรากฏในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครกลับดำเนินไปอย่างน่ากังวลและน่าห่วงใยอย่างยิ่ง เพราะภายใต้สถานการณ์ปกติกลุ่มคนไร้บ้าน ก็เข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างยากลำบากอยู่แล้ว และในสถานการณ์ของการแพร่ระบาด COVID-19 พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากหนักหน่วงขึ้นไปอีก เพราะเมื่อพิจารณาจากบทบาทของรัฐในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปดูแลตัวเองได้อย่างยากลำบาก ทั้งปัญหาเรื่องความขาดแคลนหน้ากากอนามัย ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ทำให้คนไร้บ้านดูเหมือนจะถูกผลักให้ต้องดูแลตัวเองอย่างลำพัง ท่ามกลางสังคมที่พยายามกล่าวถึงการแสดงออกซึ่งน้ำใจไมตรี

ภาพของคนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่งและคนตกงานจำนวนมากที่เข้าแถวอย่างมีระเบียบเพื่อรอคอยการแจกจ่ายและแบ่งปันอาหารจากประชาชนสู่ประชาชนริมรั้วสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ในด้านหนึ่งสะท้อนภาพความงดงามที่ยังพอมีเหลืออยู่ในสังคมไทย และบ่งชี้ว่าคนไร้บ้านไม่ได้อยู่ในฐานะของคนไร้ระเบียบ แต่อีกด้านหนึ่งได้ชี้ให้เห็นความด้อยศักยภาพในการอำนวยประโยชน์และบรรเทาทุกข์ของกลไกรัฐ

มิพักต้องกล่าวถึงการจำกัดการแบ่งปันอาหารและสิ่งของในหมู่ประชาชนต่อประชาชน เพียงเพราะความกังวลว่าจะขัดต่อพระราชกำหนดฉุกเฉินที่ห้ามการชุมนุมของคนจำนวนมากและการแพร่ระบาดของโรค จนนำไปสู่การบังคับใช้กฏหมายที่ไม่สะท้อนความมีประสิทธิภาพของรัฐ และยังขาดความตระหนักถึงการบริหารจัดการอย่างมีระบบและอำนวยประโยชน์ต่อความจำเป็นเร่งด่วนที่ประชาชนพึงได้รับอีกด้วย

การเปิดศูนย์บริการสำหรับกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้านที่เข้ารับบริการรายใหม่ เพื่อไม่ให้ไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้ใช้บริการรายเดิม ในฐานะที่เป็นจุดคัดกรองเบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมกับการให้บริการด้านปัจจัยสี่และการให้ที่พักกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วันดูจะเป็นความพยายามที่ดี แม้ว่าอาจจะไม่สามารถตอบสนองหรือรองรับกลุ่มคนไร้บ้านได้ทั้งระบบ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่าแผนรองรับด้านสถานที่ในภาวะวิกฤต ยังมีไม่เพียงพอและยังมีความจำเป็นที่ต้องจัดหาสถานที่ เจ้าหน้าที่ และบริการต่างๆ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเพิ่มอีกมาก

การลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูล ความรู้และวิธีปฏิบัติตนในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร รวมทั้งกิจกรรม “Give Masks Get More” (หน้ากากอนามัยจากใจเพื่อน) ซึ่งตัดเย็บโดยเจ้าหน้าที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ รวมทั้งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อส่งมอบผ่านองค์กรภาคีเครือข่ายด้านคนไร้บ้าน สำหรับนำไปแจกจ่ายให้กับคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เพื่อให้มีหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สามารถนำไปซัก แล้วกลับมาใช้ใหม่อีกได้ แม้จะเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการรองรับคนไร้บ้านภายใต้สถานการณ์ COVID-19 แต่นั่นย่อมไม่เพียงพอหากปราศจากการบูรณาการในมิติของมาตรการบรรเทาทุกข์ที่เป็นระบบ

การใส่ใจคนไร้บ้านท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ไม่ว่าจะเรื่องสุขอนามัยทั่วไปหรือการหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับกักตัว ไม่ได้เป็นประเด็นความเปราะบางทางมนุษยธรรมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ยังไม่นับรวมถึงความสำคัญจำเป็นในการควบคุมและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างยั่งยืน เพราะไม่ควรมีคนกลุ่มใดถูกตัดออกจากสังคมให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเชื้อซึ่งย่อมหมายถึงการเป็นพาหะหรือผู้แพร่เชื้อและการระบาดครั้งใหม่ได้อยู่ดี การแก้ปัญหาให้กับคนไร้บ้านในสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จึงเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสทั้งสำหรับกรุงเทพฯ และประเทศไทยในระยะยาว

การเยียวยาภายหลังภาวะวิกฤต โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพด้านทักษะอาชีพและการช่วยเหลือในลักษณะทุนประกอบอาชีพ ตลอดจนสร้างช่องทางและโอกาส เพื่อการระดมทรัพยากรการช่วยเหลือเพื่อส่งมอบต่อผู้ประสบปัญหาเดือดร้อนอาจเป็นมิติของขั้นตอนสำคัญนับจากนี้ หากแต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเผชิญในขณะนี้อยู่ที่กลุ่มคนไร้บ้านไร้ที่พึ่งและคนตกงานเหล่านี้ จะทนเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 หรือเครียดจากปัญหาปากท้องที่อดอยากและนำพาชีวิตรอดไปหลังวิกฤตเพื่อรอรับการเยียวยานี้หรือไม่

ใส่ความเห็น