วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > รุกโซเชียลมีเดียสู้วิกฤต ออนไลน์บุ๊กกิ้ง ขายบ้าน ขายรถ

รุกโซเชียลมีเดียสู้วิกฤต ออนไลน์บุ๊กกิ้ง ขายบ้าน ขายรถ

ยุควิกฤตโควิด-19 ที่ต้องคุมเข้มมาตรการ Social Distancing รักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ช่องทางออนไลน์กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของทุกธุรกิจ ทั้งการจัดอีเวนต์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ประชุมออนไลน์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งสงครามโปรโมชั่นของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ ขายบ้าน ขายรถ ชนิดที่เรียกว่า สังคมยุคใหม่ การจองซื้อคอนโดมิเนียมหลักล้าน ไม่ต่างอะไรกับการคลิกสั่งพิซซ่าสักถาด

เพราะหากเข้าถึงลูกค้าที่มีกำลังซื้อได้มากเท่าไร ยิ่งหมายถึงโอกาสสร้างยอดขายเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทุกบริษัทยังมั่นใจถึง Real Demand และเป็นความต้องการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ขึ้น หลังเจอบทเรียนการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัส โควิด-19

ขณะเดียวกัน สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เริ่มมีกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์และยานยนต์เข้ามาใช้เป็นสื่อโฆษณาเจาะกลุ่มลูกค้ามากขึ้น จนถือเป็นกลุ่มผู้ซื้อสื่อหลักแซงหน้ากลุ่มอื่นๆ

ทั้งนี้ หากคลิกดูความเคลื่อนไหวของโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ในแต่ละวัน จะเห็นโพสต์โฆษณาของบริษัทยักษ์ใหญ่เกือบทุกแบรนด์ เด้งขึ้นมาให้เห็นต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง อย่างโพสต์ขายโครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ Aspire งามวงศ์วานของค่ายเอพี (ไทยแลนด์) โครงการ นิช โมโน รามคำแหง ของค่ายเสนาดีเวลลอปเมนท์ โครงการบ้านเดี่ยวสไตล์ญี่ปุ่น โนเบิล เกเบิล คันโซ วัชรพล พร้อมอยู่ ราคาเริ่มต้น 6.49 ล้านบาท ของกลุ่มโนเบิลฯ หรือจะเป็นคฤหาสน์หรู ราคาเริ่มต้น 11.9-17 ล้านบาท ของเอสซีแอสเสท ซึ่งทุกแบรนด์พยายามดึงดูดกลุ่มลูกค้าด้วยแคมเปญ โปรโมชั่น และแนบช่องทางการลงทะเบียนเพื่อเยี่ยมชมโครงการผ่านเว็บไซต์ ไลน์ และคอลเซ็นเตอร์

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจน คือ เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด ได้รายงานมูลค่างบโฆษณาช่วง 2 เดือนแรก ปี 2563 (มกราคม- กุมภาพันธ์ 2563) มีเม็ดเงินรวม 17,865 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วอยู่ที่ 17,666 ล้านบาท แม้มีอัตราเติบโตเพียง 1% แต่แยกรายสื่อพบว่า สื่อทีวีมีมูลค่าสูงสุด 10,398 ล้านบาท เนื่องจากมาตรการ Social Distancing ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่บ้านและมีโอกาสดูทีวีมากที่สุด

ตามด้วยสื่ออินเทอร์เน็ตมีมูลค่า 3,006 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ทั้งปีนี้น่าจะเติบโตได้มากกว่า 10% ส่วนสื่อโฆษณานอกบ้าน และสื่อเคลื่อนที่ มีเม็ดเงินรวม 2,025 ล้านบาท

เมื่อเจาะลึกเฉพาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องถือว่า กลุ่มแสนสิริเป็นค่ายแรกๆ ที่เร่งรุกกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้ระบบ “24 Hrs. Pre-Sale Online Booking” พรีเซลแบบออนไลน์เรียลไทม์ 100% เปิดขายโครงการเดอะ ไลน์ พหลโยธิน พาร์ค ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกซื้อโครงการผ่านช่องทางออนไลน์แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง มีระบบติดต่อและรับคำปรึกษาจากที่ปรึกษาการขาย Online Agent ผ่าน Live Chat หรือ VDO Call เพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการและเสริมระบบธุรกรรมการเงิน ที่สามารถชำระเงินจองผ่านบัตรเครดิต โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

นอกจากนี้ ยังจับมือกับ “ลาซาด้า” เปิด “แสนสิริ ออฟฟิเชียล สโตร์ บน LazMall” ซึ่งสามารถสร้างยอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้รุกการขายผ่าน Multi-channel ซื้อขายครบในทุกช่องทางในยุคโควิด-19 ประกอบด้วย แสนสิริ ไลน์ ออฟฟิเชียล, Facebook: Sansiri PLC, เว็บไซต์ www.sansiri.com, และช่องทางใหม่ “24 Hrs. Online Booking” พรีเซลแบบออนไลน์เรียลไทม์ 100% ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากจากการนำร่องเปิดขายโครงการ เดอะ ไลน์ พหลโยธิน พาร์ค และเพิ่มโครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่เข้ามาอีก 10 โครงการ ใน 10 ทำเล

ได้แก่ โครงการเดอะไลน์ สุขุมวิท 101 เดอะไลน์ พหลฯ ประดิพัทธ์ และเดอะไลน์ วงศ์สว่าง

โครงการเดอะเบส สุขุมวิท 50 และเดอะเบส เพชรเกษม

โครงการดีคอนโดแคมปัส กำแพงแสน ดีคอนโดแคมปัส รีสอร์ทโดม-รังสิต และดีคอนโด บลิซ

โครงการลากาซิตา หัวหิน และโครงการคาวะเฮาส์

“24OnlineBooking เป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อให้ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของคอนโดจากแสนสิริง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ https://onlinebooking.sansiri.com ไม่ว่ากลุ่มลูกค้าจะอยู่ที่ไหนสามารถเลือกจองยูนิตคัดพิเศษ สามารถชำระเงินจากทุกที่ผ่านระบบจองออนไลน์ ที่สำคัญการจองผ่านระบบออนไลน์มีโปรโมชั่นเฉพาะ เช่น ได้ราคาเริ่มต้นเพียงยูนิตละ 990,000 บาท จองเพียง 1,999 บาท และแถมฟรีทองคำ 1 บาททุกยูนิต โดยลูกค้ารอเพียงการยืนยันทางโทรศัพท์และอีเมลเท่านั้น”

ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ค่ายอื่นๆ หันมาบุกช่องทางออนไลน์มากขึ้น อย่างกลุ่มไรมอนแลนด์ งัดแผนส่งเสริมการขาย O2O (Online to Offline) ให้ลูกค้าสามารถรับชมโครงการระดับลักชัวรีผ่านระบบออนไลน์ก่อนตัดสินใจเข้าชมโครงการจริง เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อและเข้าถึงลูกค้าโดยตรง ซึ่งรองรับกลุ่มกำลังซื้อสูงและกลุ่มเป้าหมายที่เน้นเรื่องความปลอดภัยในการติดต่อเข้าชมโครงการ

ส่วนบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ล่าสุดทีมบริหารเฉพาะกิจประกาศใช้กลยุทธ์การตลาดและการขายผ่านช่องทางดิจิทัล เน้นการสร้างประสบการณ์การขายแบบไร้รอยต่อให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้เยี่ยมชมโครงการเองที่บ้าน ทั้ง Facebook Live พาเยี่ยมชมโครงการพร้อมมอบโปรโมชั่นพิเศษ โดยนำร่องโครงการทาวน์โฮม แบรนด์บ้านพฤกษา พฤกษาวิลล์ และเดอะคอนเนค รวมทั้งเปิดแพลตฟอร์มการจองบ้านออนไลน์พร้อมราคาและเงื่อนไขสุดพิเศษ (Hot Deals) ผ่านทาง www.pruksa.com และให้บริการผ่าน Line

ไม่ใช่แค่สินค้าชิ้นใหญ่อย่าง “บ้าน” ที่หันมาใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น เพราะปรากฏว่า รถยนต์กลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่เข้ามาเจาะช่องทางนี้เช่นเดียวกัน

สุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดรถยนต์กำลังเป็นที่จับตา เนื่องจากค่ายรถยนต์ต่างเปลี่ยนกลยุทธ์นำเสนอผลิตภัณฑ์และกิจกรรมส่งเสริมการขายให้ลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างหนัก หลังจากสถิติการขายรถยนต์ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-กุมภาพันธ์) มียอดขายรวม 139,959 คัน ลดลง 12.8% จากปีก่อน โดยตลาดรถยนต์นั่งเติบโตลดลง 7.9% และตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เติบโตลดลง 15.9% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและผู้บริโภคยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 นอกจากนี้ หลายบริษัทตัดสินใจหยุดไลน์การผลิตรถยนต์ เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดและตัดต้นทุนค่าใช้จ่าย

สำหรับวงการรถยนต์ต้องถือว่า บริษัท ฟอร์ด ประเทศไทย ออกมาปลุกกระแสสร้างปรากฏการณ์การทำตลาดออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จัด Ford Motor Show Live มหกรรมขายรถฟอร์ดออนไลน์ทั่วประเทศ ให้ลูกค้ารับชมกิจกรรมถ่ายทอดสดจากโชว์รูมผ่านช่องทาง YouTube Ford Thailand www.youtube.com/user/FordThailand และ Facebook Ford Thailand www.facebook.com/FordThailand รวมทั้งอัดแคมเปญส่วนลด 100,000 บาท จำนวน 70 รางวัล รวมมูลค่า 7,000,000 บาท เพื่อส่วนลดเพิ่มเติมจากแคมเปญส่งเสริมการขายปกติ

วิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ในไตรมาสแรกปีนี้ย่ำแย่กว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนมาก แต่บริษัทยังเดินหน้าทำกิจกรรมการตลาดและเชื่อว่ารูปแบบการทำตลาดจะเปลี่ยนไป ซึ่งฟอร์ดพยายามนำเสนอวิธีการทำตลาดที่แตกต่างจากคู่แข่ง

เช่น ก่อนหน้านี้จับมือลาซาด้าทำแคมเปญร่วมกัน และมีการจัดงาน ฟอร์ด มอเตอร์โชว์ ไลฟ์ เพื่อขายรถออนไลน์ ซึ่งหลังจากนี้จะมองหาพันธมิตรทางออนไลน์ เพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและนำเสนอแพลตฟอร์มการขายรถยนต์เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

ด้าน “มาสด้า” จัดงานเปิดตัว “ซีเอ็กซ์-30” ผ่านช่องทางออนไลน์ และเปิดรับจองลูกค้าผ่านระบบ “สกาย บุ๊คกิ้ง” โดยถือว่า ซีเอ็กซ์-30 เป็นโมเดลแรกที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบครบวงจรมากที่สุดตั้งแต่การเปิดตัว การรับ-ส่งข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ และการจองซื้อรถ ซึ่งลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาจองที่โชว์รูม เพียงแค่คลิกหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และสามารถจองผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที

ทั้งการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์และรูปแบบการทำตลาด แม้ด้านหนึ่ง คือความจำเป็นที่เกิดจากพิษโควิด-19 แต่อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจยักษ์ใหญ่สามารถเรียนรู้ว่า วิกฤตบีบให้หาแนวทางใหม่ ซึ่งสามารถเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่ให้ผลลัพธ์ดีกว่าเดิมด้วย

ใส่ความเห็น