วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ท่องเที่ยว 4.0 ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจ

ท่องเที่ยว 4.0 ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจ

 
 
ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งต้องยอมรับว่ารายได้ของประเทศส่วนใหญ่มาจากส่วนนี้ เมื่อสถานการณ์การส่งออกของไทยยังคงโคลงเคลงที่ยังต้องการจุดจับยึดเพื่อสร้างความมั่นคงมากกว่าที่เป็น 
 
ส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกคือเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงปรวนแปร ทั้งสถานการณ์ Brexit ที่ส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่น นับตั้งแต่ประเทศโซนยุโรป กระทั่งประเทศโซนเอเชีย และการที่ไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาในกรณีการค้ามนุษย์ได้ แม้ว่าปัจจุบันไทยจะถูกจัดอันดับขึ้นมาอยู่เทียร์ 2 ซึ่งถือว่ายังต้องเฝ้าระวัง 
 
นอกเหนือจากปัจจัยแวดล้อมข้างต้นที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไข ยังมีปัญหาที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยว ต้องหาทางออกเพื่อหยุดผลกระทบที่กำลังจะลุกลาม ซึ่งอาจจะส่งผลถึงรายได้การท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่จะสูญไป 
 
นั่นคือกรณีของผู้ประกอบการเชียงใหม่บางกลุ่มที่ไม่ต้องการนักท่องเที่ยวจีน จากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางประการ และการเผยแพร่เรื่องราวบนสื่อโซเชียล ในเชิงดูถูก จนเกิดกระแสการต่อต้านในวงกว้าง 
 
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ทางการไทยออกมาตรการควบคุมรถนักท่องเที่ยวจากจีนที่เดินทางบนเส้นทาง R3a เข้าสู่ไทยทางภาคเหนือ กระทั่งในวันนี้ที่สื่อจีนชวนคนจีนบอยคอตงดเที่ยวเชียงใหม่ นับเป็นการตอบโต้คนเชียงใหม่ที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต ผู้ให้บริการรถเช่า ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และที่สำคัญคือภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย
 
เพราะเมื่อดูจากตัวเลขสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนมิถุนายน 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนมกราคมยอดนักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ 814,593 คน เดือนกุมภาพันธ์ 958,204 คน เดือนมีนาคม 856,676 คน เดือนเมษายน 816,028 คน เดือนพฤษภาคม 738,570 คน และเดือนมิถุนายน 715,413 คน
 
ซึ่งสถิติโดยรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยอันดับหนึ่ง คือนักท่องเที่ยวจีน ถึงจุดนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงนั้นนำมาซึ่งรายได้ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน   
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Thai CCTV ได้จัดทำการ์ตูนชุด “ได้โปรดเข้าใจคนจีน” เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวจีน พร้อมทั้งวอนให้คนไทยเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวจีน ผลกระทบจากกระแสต่างๆ ทั้งมาตรฐานควบคุมรถนักท่องเที่ยวจีน ในที่สุด บุญทา ชัยเลิศ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่และอีกหลายสมาคมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ผ่อนปรนให้รถท่องเที่ยวของจีนเข้ามาได้เหมือนเดิม นอกเหนือจากการทำความเข้าใจในวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายที่จะทำให้ปัญหาคลี่คลายแล้ว การท่องเที่ยวยังเปิดเผยแผนแม่บทการท่องเที่ยวภายใต้ปีงบประมาณ 2560 ภายใต้การนำของ ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. คนแรกซึ่งเป็นบุคคลจากภายนอกองค์กร ที่หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นผู้นำการปฏิรูปแนวคิดใหม่ๆ ที่น่าจะแตกต่างจากเมื่อ 56 ปีที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้กรอบแนวคิดของ “ท่องเที่ยว 4.0” ยังดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายใหม่ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไทยแลนด์ 4.0” ที่มีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันคือ 1. สร้างความเข้มแข็งจากภายใน 2. เชื่อมโยงภายในสู่เศรษฐกิจโลก โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์การนำเทคโนโลยีและออกแบบอย่างมีดีไซน์ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวฐานราก โดยสร้างความมั่งคั่งทางการท่องเที่ยวผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์
 
ทั้งนี้ ททท. ยังมีแผนแม่บทการท่องเที่ยว ระยะ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งตั้งเป้าหมายในการพลิก “ชุมชนท่องเที่ยว” สู่ก้าวใหม่ด้วยการใช้นวัตกรรมดีไซน์การผลิตสินค้า ทั้งแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์พื้นเมือง ด้วยมาตรฐานซึ่งอุดมไปด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นวางขาย ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะตอบโจทย์ท้าทายการสร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนจากนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ
 
อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่ดูจะเป็นการท้าทายผู้ว่าการ ททท. คนใหม่ไม่ใช่น้อย เพื่อเป้าหมายของรายได้จากการท่องเที่ยวรวมประมาณ 2.87 ล้านล้านบาท โดยคิดแบ่งเป็นจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.87 ล้านล้านบาท และตลาดนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวในประเทศ 1 ล้านล้านบาท 
 
ซึ่งจะดำเนินไปภายใต้การบริหารในแบบที่ลดความเสี่ยง คือพึ่งพารายได้จากตลาดโลกให้น้อยลง โดยลดสัดส่วนที่เคยได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 67 เปอร์เซ็นต์ ลงมาเหลือ 65 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยโดยปรับขึ้นอีก 2 เปอร์เซ็นต์ จาก 33 เปอร์เซ็นต์ เป็น 35 เปอร์เซ็นต์
 
“ท่องเที่ยว 4.0” จะเน้นให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์เข้าถึงวิถีไทยอย่างลึกซึ้ง บูรณาการทำงาน การใช้งบประมาณระหว่างฝ่ายสินค้ากับทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของตลาดต่างประเทศ จะเน้นธีม Amazing Thailand โดยจะเน้นการสร้างคุณค่าจากประสบการณ์เข้าถึงเอกลักษณ์ชุมชนท้องถิ่นทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยวและสินค้า อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการเดินทางของตลาดทั้งในช่วงฤดูท่องเที่ยว ส่วนนอกฤดูการเดินทางท่องเที่ยวจะใช้ช่องทางสื่อโซเชียล กลุ่มบล็อกเกอร์ ในการสร้างจุดแข็ง
 
ส่วนตลาดในประเทศ ภายใต้ปี 2560 ดำเนินงานภายใต้ธีม “ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง” ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธีมของปีก่อน ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเรื่องความนิยมแต่งชุดไทยที่ขยายตัวมากขึ้น
 
ทั้งนี้การจะสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนับเป็นบูรณาการที่ดีนั้นจำต้องมีความร่วมมือกัน 4 ด้าน 1. ททท. ทำหน้าที่เชื่อมโยงโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาบูรณาการร่วมกับท้องถิ่น 2. ชุมชนต้องรักษาเอกลักษณ์และความเป็นเจ้าบ้านที่ดี 3. ผู้ประกอบการมีส่วนสำคัญจะต้องมีความเข้าใจผลิตแพ็กเกจให้สอดคล้องกับสินค้าท้องถิ่น ในขณะที่มัคคุเทศก์นำเที่ยวต้องรู้เรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ดี 4. นักท่องเที่ยวต้องนำความประทับใจร้อยเรียงเนื้อหานำไปบอกต่อยังกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
 
นอกจากนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดใหญ่ที่ไทยจะต้องหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวแล้ว ชาวรัสเซียถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจเมื่อมีอัตราการเพิ่มจำนวนการพักต่อทริปเฉลี่ย 17 วันและมียอดค่าใช้จ่ายสูงถึง 80,000 บาทต่อคนต่อทริป ซึ่งเมื่อไทยก้าวเข้าสู่ท่องเที่ยว 4.0 ในปีหน้า กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกที่เป็นเป้าประสงค์ของ ททท. คือการเพิ่มค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวรัสเซียเป็น 85,000 ต่อคนต่อทริป และคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมาไทยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
 
เมื่อไทยเป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์องค์รวม หรือ Health and Wellness Spa น่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวบรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ไม่ยากนัก
 
ความท้าทายในเรื่องของการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ และเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายใต้นโยบายท่องเที่ยว 4.0 ในการเข้าถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น การสร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจ จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการท่องเที่ยวไทยหรือไม่ คงไม่ใช่แค่อาศัยการทำงานจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงจะสามารถคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้