วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ปฏิรูปการศึกษาไทย นับหนึ่งไปได้ถึงไหน

ปฏิรูปการศึกษาไทย นับหนึ่งไปได้ถึงไหน

ศตวรรษที่ 20 หลายสิ่งหลายอย่างถูกพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่บางครั้งหลายคนวิ่งตามแทบไม่ทัน แม้แต่ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เคยถูกเพิกเฉยมาอย่างยาวนานกลับได้รับการใส่ใจและค่อยๆ ถูกแก้ไขให้ดีขึ้น

การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลทำให้เราได้มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะการทำงานในระบบราชการไทย หลายกระทรวงเริ่มบูรณาการและเห็นผลลัพธ์ที่ดีภายใต้คำว่า “ปฏิรูป” แต่นั่นคงไม่ใช่กับกระทรวงศึกษาธิการ

จนถึงวันนี้ นโยบายด้านการศึกษาไทยที่ยังคงมีอยู่แทบจะทุกรัฐบาล คือความพยายามที่จะ “ปฏิรูปการศึกษา” แน่นอนว่า การศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมในทุกมิติ ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยอาจทำให้หลายฝ่ายกุมขมับ ที่รัฐบาลทุกชุดเริ่มนับหนึ่งเมื่อก้าวเข้ามาบริหารประเทศ

รอยต่อของแต่ละรัฐบาลสร้างให้เกิดความยากในการทำงานแทบจะทุกกระทรวง ทบวง กรม การขาดไร้ซึ่งความต่อเนื่องและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขวางทางกั้นไม่ให้การศึกษาไทยก้าวไปสู่ความสำเร็จเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน

น่าแปลกที่กระทรวงการศึกษามีนโยบายที่จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปศึกษาดูงานยังประเทศเหล่านี้ ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาด้านการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันหลายคนยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการศึกษาไทยไม่เพียงแต่ยังไม่พัฒนา แต่ดูเหมือนจะมีโอกาสถอยหลังเข้าคลองอีกด้วย

เห็นได้จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจาก 63 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดโดย IMD (International Institute for Management Development) ซึ่งมักจะจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในหลายด้าน โดยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของไทยอยู่ที่อันดับ 56 ทั้งปี 2561 และ 2562

ไม่ใช่เพียงผลการจัดอันดับความสามารถด้านการแข่งขันเท่านั้น ที่เป็นการชี้ให้เห็นว่าไทยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านการศึกษาที่อาจถึงขั้นวิกฤต แต่รูปแบบการเรียนการสอนที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มุ่งเน้นไปที่ผลการสอบวัดผล มากกว่าจะสร้างรากฐานความรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน

หากจะนำเอาแนวความคิดของสิงคโปร์ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีแนวความคิดที่น่าสนใจว่า “การเรียนรู้ไม่ใช่การแข่งขัน” ซึ่งรูปแบบการศึกษาของสิงคโปร์จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อลดการเปรียบเทียบระหว่างเด็กนักเรียน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนหันมาจดจ่อกับการพัฒนาตนเองมากขึ้น

จริงอยู่ที่ว่า การท่องจำเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจในอนาคต ทว่า การศึกษาที่ดีควรผลักดันให้เด็กรู้จักใช้การวิเคราะห์ ตั้งคำถาม และร่วมอภิปรายในชั้นเรียน มากกว่าการสร้างโจทย์และหาคำตอบซึ่งนั่นเป็นการล้อมกรอบความคิดของผู้เรียนจนเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็นหลักสำคัญที่สร้างให้เกิดความเข้าใจในวิชาการต่างๆ มากขึ้น

ขณะที่นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการมุ่งมั่นดำเนินการภารกิจหลักตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนทุกแผนย่อยในประเด็น 12 การพัฒนาการเรียนรู้และแผนย่อยที่ 3 ในประเด็น 11 ศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และนโยบายรัฐบาลทั้งในส่วนนโยบายหลักด้านการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย และนโยบายเร่งด่วน เรื่องการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

หากจะพินิจพิจารณาแผนการทำงานและแนวทางนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในห้วงยามนี้ ดูจะไม่แตกต่างจากรัฐบาลก่อนหน้านัก เมื่อกระทรวงศึกษาฯ มีกรอบนโยบายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้แก่ 1. ปรับรื้อและเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการ โดยมุ่งปฏิรูปองค์กรเพื่อหลอมรวมภารกิจและบุคลากร เช่น ด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านการต่างประเทศ ที่สามารถลดการใช้ทรัพยากรที่ทับซ้อน

2. ปรับรื้อและเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารทรัพยากรโดยมุ่งปฏิรูปกระบวนการวางแผนงานโครงการแบบร่วมมือและบูรณาการที่สามารถตอบโจทย์ของสังคมและเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

3. ปรับรื้อและเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการและพัฒนากำลังคนของกระทรวงศึกษาธิการโดยมุ่งบริหารจัดการอัตรากำลังให้สอดคล้องกับการปฏิรูปองค์กร และ 4. ปรับรื้อและเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการศึกษาและการเรียนรู้โดยมุ่งให้ครอบคลุมถึงการจัดการศึกษาเพื่อคุณวุฒิ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณประจำปีสูงที่สุด โดยในปี 2563 ได้รับงบประมาณ 368,660.34 ล้านบาท จำนวนตัวเลขงบประมาณไม่น่าเป็นเหตุให้เกิดการตั้งคำถามว่าเหตุใดการศึกษาไทยถึงไม่เดินหน้าแต่กลับถอยหลัง

การเดินหน้าไปไม่ได้อย่างเต็มที่ของการศึกษาไทยอาจเป็นเพราะเมื่อมีการตรวจสอบการทุจริตกระทรวงศึกษา เป็นอีกกระทรวงที่พบปัญหาการทุจริตจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดนโยบายรัดเข็มขัดใน 4 เรื่อง คือ งด ลด ยกเลิก และทบทวน โดยงดศึกษาดูงานต่างประเทศเป็นเวลา 1 ปี เพราะเจ้าหน้าที่กระทรวงไปดูงานต่างประเทศมาหลายครั้งถึงเวลาที่ต้องนำความรู้เหล่านั้นมาจัดการการศึกษาเสียที

ลด การจัดการประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ และหันมาใช้เทคโนโลยีประชุมทางไกลแทน และยกเลิกการจัดอีเวนต์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมไปถึงให้ทบทวนงบประมาณที่ซ้ำซ้อนด้วยการปรับปรุงโครงสร้าง ควบรวมสายงานที่ใกล้เคียงกัน บูรณาการทำงานไว้ด้วยกัน

หากพิจารณาจากงบประมาณที่กระทรวงศึกษาฯ ได้รับแต่ละปี นับว่ารัฐบาลลงทุนด้านการศึกษาที่สูงมาก แต่คุณภาพการศึกษาเด็กไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม ที่การศึกษาแซงหน้าไทยไปแล้ว เมื่อดูผลคะแนน PISA ด้านความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (ปี 2012) มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำในระดับใกล้เคียงกันอย่างเห็นได้ชัด และหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

ทั้งนี้ในปี 2561 ผลการทดสอบ O-NET วิชาที่ผ่านเกณฑ์คือ วิชาภาษาไทย ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น ในขณะที่วิชาอื่นไม่บรรลุตามเป้าประสงค์

นอกจากนี้ ยังมีผลการทดสอบแบบสุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 15 ปี 3 วิชาที่สำคัญในโครงการ PISA ของกลุ่มประเทศ OECD ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ยในลำดับต่ำ การอ่านอยู่ลำดับ 57 จาก 70 ประเทศ (ข้อมูลจากปี 2558)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องคะแนนค่าเฉลี่ยในด้านความสามารถของเด็กไทยในรายวิชายังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กต่างจังหวัดหรือเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียน ที่อาจทำให้เด็กหรือผู้ปกครองตัดสินใจจบอนาคตทางการศึกษาของเด็กด้วยปัญหาทางด้านความพร้อมเรื่องการเงิน

ดูเหมือนว่าโจทย์ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการในห้วงยามนี้จะมีหลายด้านที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องการทุจริตภายใน การพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา ทั้งต่อตัวผู้เรียนและประสิทธิภาพของผู้สอน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา

รัฐบาลต้องหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากหล่มของการปฏิรูปเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารสามารถดำเนินงานต่อได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่กันหลายครั้ง จนสุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหนเสียที

แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศและช่วยให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ทว่า การศึกษาต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างแท้จริงที่จะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และเพราะการให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา จนยืนอยู่แถวหน้าของโลกได้อย่างภาคภูมิ

ใส่ความเห็น