วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > เคานต์ดาวน์เศรษฐกิจไทย ปลุก “สตรีทฟูด” พลิกวิกฤต

เคานต์ดาวน์เศรษฐกิจไทย ปลุก “สตรีทฟูด” พลิกวิกฤต

เริ่มเคานต์ดาวน์เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ปี 2563 ท่ามกลางข้อมูลหลายสำนักที่ฟันธงในทิศทางเดียวกัน คือ “แย่” และต้องถือว่า 2 วันสุดท้ายของปี 2562 บรรดาห้างร้านต่างอัดงบจัดเต็มสร้างบรรยากาศการนับถอยหลัง เพื่อดูดเม็ดเงินก่อนปิดยอดขายรายได้ เพราะไม่ใช่แค่การชี้ขาดผลการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน แต่ยังหมายถึงผลสะท้อนความสำเร็จและความล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งใหญ่

หากประมวลตัวเลขต่างๆ แม้ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,223 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11-20 ธ.ค. 2562 คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 137,809 ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจเมื่อ 14 ปีที่แล้ว โดยมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.9% จากปี 61 ที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 135,279.74 ล้านบาท

แต่อัตรา 1.9% กลับเป็นตัวเลขการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 14 ปี สาเหตุหลักมาจากประชาชนกังวลภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจึงใช้จ่ายอย่างระมัดระวังที่สุด โดยค่าใช้จ่าย 137,809 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวในประเทศ 60,449.57 ล้านบาท ท่องเที่ยวต่างประเทศ 35,843.09 ล้านบาท เลี้ยงสังสรรค์ 11,006 ล้านบาท ทำบุญ 9,613.32 ล้านบาท ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 17,436.11 ล้านบาท ซื้อสินค้าคงทน 2,294.24 ล้านบาท และซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 1,166.95 ล้านบาท

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการว่า ธนาคารพาณิชย์จะเบิกจ่ายธนบัตรจาก ธปท. ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเทศกาลปีใหม่ 2563 เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 120,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2562-1 มกราคม 2563 รวม 5 วัน จะมีรายได้หมุนเวียนรวมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ รวม 23,800 ล้านบาท จะมีชาวไทยเดินทางในประเทศมากกว่า 3.16 ล้านคน/ครั้ง และมีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่กว่า 11,800 ล้านบาท

ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเที่ยวไทยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 จะมีประมาณ 690,000 คน เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้ประมาณ 12,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% ซึ่งเป็นอัตราชะลอตัว

สำหรับภาคค้าปลีกซึ่งหวังดึงเม็ดเงินช่วงเทศกาลส่งท้ายปีนั้น นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ออกมาสรุปภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2562 มีสัญญาณการหดตัวในทุกหมวดสินค้าและทั้งปีจะเติบโตเพียง 2.8% ลดลงจากปี 2561 ที่เติบโต 3.2% เนื่องจากกำลังซื้อตกต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางลงล่าง และหนี้ครัวเรือนยังไม่มีแนวโน้มลดลง

สิ่งที่สะท้อนชัดเจน คือยอดขายในหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น เครื่องดื่ม อาหาร เติบโตลดลงชัดเจน

ขณะที่กำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางที่มีรายได้ประจำเริ่มอ่อนแอ ส่งผลให้หมวดสินค้ากึ่งคงทน เติบโตถดถอยลง เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา ซึ่งหมวดนี้เคยเติบโตเฉลี่ย 8-12% กลับเติบโตเพียง 3.2%

ที่สำคัญ ประเมินภาพรวมค้าปลีกในปี 2563 จะไม่แตกต่างจากปี 2562 โดยประเมินรายได้ทางการเกษตรจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยในกรอบ -0.5% ถึง 0% และการปรับค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 5-6 บาทต่อวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 จะกดดันการจ้างงานภาคบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และก่อสร้าง จะได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากต้องใช้แรงงานทักษะต่ำจำนวนมาก และไม่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนได้ทันที ซึ่งข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า การจ้างงานของภาคบริการโดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และการก่อสร้าง มีจำนวนมากกว่า 11 ล้านคน

นายวรวุฒิย้ำว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรอบนี้เป็นวงกว้างและยืดเยื้อยาวนาน ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งมีผลกระทบหลักต่อผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ชนชั้นบน สัดส่วนราว 30% ของประชากร และหนี้ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเป็นหนี้ทางธุรกิจ ซึ่งการฟื้นฟูธุรกิจใช้เวลาไม่นาน ต่างจากรอบนี้ที่กินระยะเวลาตั้งแต่ปี 2556-2565 มีผลต่อชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเป็นหลัก สัดส่วนราว 70% ของประชากร หนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ครัวเรือน ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อเป็นสำคัญ ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้เป็นวงกว้างและต้องใช้เวลาฟื้นฟูนาน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนรับรู้ความรุนแรงและพยายามหากลยุทธ์กระตุ้นการใช้จ่ายแบบเร่งด่วนๆ เริ่มตั้งแต่การประกาศนโยบายจัดพื้นที่ถนนคนเดินวอล์กกิ้ง สตรีท ในเขตกรุงเทพมหานคร และขยายไปยังส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด ภายใต้แนวคิด “เดิน กิน ชิม เที่ยว” โดยนำร่องในพื้นที่ กทม. ไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา บนถนนสีลมและเยาวราช โดยถนนสีลมมีประชาชนมาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 80,000 คน สร้างรายได้มากกว่า 8 ล้านบาท

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังวางแผนจัดต่อเนื่อง โครงการ Thailand Street Food Festival 2020 อัดฉีดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่าปีละ 3 ล้านล้านบาท เพราะสตรีทฟูดของไทยได้รับการจัดอันดับจากสถาบันระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าว CNN จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีอาหารริมทาง หรือสตรีทฟูด ดีที่สุดในโลก นักท่องเที่ยวสามารถเสาะหาอาหารได้ตลอดทั้งวันทุกพื้นที่

ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุด้วยว่า ในปี 2560 ภาพรวมสตรีทฟูด มีมูลค่าสูงถึง 276,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2559 ถึง 4.3% และมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่องได้อีก 4 ปีติดต่อกัน หรือประเมินมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 340,000 ล้านบาท ในปี 2564 อัตราขยายตัวเฉลี่ย 5.3% ต่อปี จากการประเมินตัวเลขปี 2559 ที่มีผู้ประกอบการอิสระที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหารริมทางประมาณ 103,000 ร้าน คิดเป็น 69% ของร้านอาหารทั้งหมด มูลค่าราว 228,000 ล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 5.4% ต่อปี

มีรายงานอีกว่า กลุ่มประเทศที่มีนักท่องเที่ยวนิยมท่องเที่ยวสไตล์สตรีทฟูดในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งติดกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง

เบื้องต้นรัฐบาลวางโครงการ Thailand Street Food Festival 2020 จะจัดต่อเนื่อง 6 ครั้ง 6 สถานที่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ เริ่มกิจกรรมแรก ช่วงวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ บริเวณถนนสีลม คาดว่าจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 คนและน่าจะมีเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท

ครั้งที่ 2 วันที่ 29 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ครั้งที่ 3 วันที่ 3-6 เมษายน เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

ครั้งที่ 4 วันที่ 25-26 เมษายน จังหวัดเชียงใหม่

ครั้งที่ 5 วันที่ 1-3 พฤษภาคม จังหวัดขอนแก่น และครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคมที่จังหวัดภูเก็ต

ว่ากันว่า รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตั้งเป้าหลังจบโครงการจะสามารถปลุกเศรษฐกิจต่อเนื่องในครึ่งปีหลังของปี 2563 และจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงปลุกความเชื่อมั่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

ใส่ความเห็น