วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > ใช้สมุนไพรใกล้ตัวรักษาโรค

ใช้สมุนไพรใกล้ตัวรักษาโรค

 
ใช้สมุนไพรใกล้ตัวรักษาโรค
ต่อไปนี้เป็นสมุนไพร 10 ชนิด ที่มีสรรพคุณเด่นๆ ในการช่วยรักษาโรคได้อย่างน่าทึ่ง และเป็นเหตุผลที่สมควรอย่างยิ่งในการนำมาปรุงอาหาร 
 
โรสแมรี–ทำให้เนื้อปลอดภัยจากสารก่อมะเร็ง
ระหว่างปรุงอาหาร หากผสมโรสแมรีลงในอาหารจานเนื้อ จะช่วยป้องกันการเกิด heterocyclic amines (HCAs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นเมื่อเนื้อได้รับความร้อนสูงมากๆ โดยเฉพาะส่วนของเนื้อแดง (red meat) ได้ชื่อว่ามีความเสี่ยงสูงสุด
 
ผลการวิจัยระบุว่า โรสแมรีป้องกันการเกิดสาร HCA ได้ราวร้อยละ 79
 
โดยเหตุที่โรสแมรีเป็นสมุนไพรชนิดแข็ง ไม่ใช่อ่อนนุ่ม จึงแนะนำให้เก็บด้วยการนำทั้งกิ่งใส่ในถุงพลาสติกที่มีซิปล็อกสำหรับเก็บในช่องแช่แข็ง และนำไปแช่แข็งก่อน แล้วจึงเด็ดใบมาใช้ตามต้องการ จากนั้นเก็บส่วนที่เหลือในถุงแล้วนำไปแช่แข็งต่อไป
 
ออริกาโน–ลดโคเลสเตอรอล
ผลการศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ว่า สารสกัดของออริกาโนซึ่งรวมถึง carvacrol ที่เป็นฟีนอลธรรมชาติในออริกาโน มีสรรพคุณในการลดระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างชะงัด
 
ผลการศึกษาของสหรัฐฯ กล่าวว่า สารต้านอนุมูลอิสระของออริกาโนมีประสิทธิภาพสูงกว่าสมุนไพรอื่นๆ อีก 27 ชนิดถึง 20 เท่า
 
ถ้าคุณหาออริกาโนสดไม่ได้ ให้ใช้ marjoram สด ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกันแทนได้
 
ใบกระวาน–ต่อสู้โรคเบาหวาน
ผลการวิจัยยืนยันว่า ใบกระวานมีบทบาทในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งป้องกันปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะโคเลสเตอรอลสูง ที่ทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานประเภทที่สองสูงขึ้น
 
นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สาเหตุเป็นเพราะสารโพลีฟีนอลในใบกระวาน เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติต่อสารต้านอนุมูลอิสระ
 
ใบกระวานสดให้รสชาติฉุนกว่าใบกระวานแห้ง แต่ก่อนใช้ต้องนำมาถูหรือขยี้เพื่อให้น้ำมันหอมระเหยออกมา เมื่อแห้งแล้วใบกระวานจะหมดความหอมหลังจาก 12 เดือนไปแล้ว
 
ไชว์ส (chives)–ป้องกันโรคหัวใจ
ไชว์สเป็นพืชสกุล Allium ซึ่งรวมถึงหัวหอม กระเทียมต้น และกระเทียม ที่อุดมไปด้วยสาร allicin จึงทำให้กระเทียมเป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต และเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่หลอดเลือด ซึ่งสำคัญต่อสุขภาพหัวใจเป็นอย่างยิ่ง
 
มะกรูด–ทำให้กระปรี้กระเปร่า
ผลการศึกษาในประเทศไทยระบุว่า เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างดมกลิ่นหอมของใบมะกรูด ซึ่งเป็นกลิ่นดั้งเดิมเฉพาะตัว พวกเขารู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่าขึ้นเป็นอย่างมาก
 
ให้นำใบมะกรูดมาใช้งานขณะอยู่ในสภาพสด แต่ถ้ามีเหลือ ให้เก็บในช่องแช่แข็งได้ ด้วยการเก็บในถุงซิปล็อก และวางไว้ข้างประตูของช่องแช่แข็ง
 
ผักชีฝรั่ง–ป้องกันมะเร็งเต้านม
ผักชีฝรั่งมี apigenin ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ของเนื้อเยื่อมะเร็งเต้านมเจริญเติบโตและแบ่งตัว โดยเข้าไปขัดขวางไม่ให้หลอดเลือดใหม่ๆ ก่อตัวขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่ขัดขวางพัฒนาการของมะเร็งเต้านม
 
ผักชีฝรั่งที่รู้จักกันทั่วไปมีสองชนิด คือ English ที่มีใบม้วนโค้งงอ และ Italian ที่มีใบแบน ชนิดหลังอ่อนนุ่มกว่าก็จริง แต่ฉุนกว่ามาก ให้เก็บผักชีฝรั่งทั้งสองชนิดในถุงพลาสติกที่ปิดปากถุงสนิทไม่มีอากาศเข้า แล้วใส่ไว้ในตู้เย็น
 
ผักชีลาว–ป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหาร
ผลการศึกษามากมายยืนยันว่า ผักชีลาวมีสรรพคุณช่วยป้องกันการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร เพราะมีฟลาโวนอยด์สองตัวที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ในผักชีลาวยังมีสารสกัดที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย จึงสามารถต่อต้านแบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร  
 
ให้เลือกใช้ผักชีลาวที่มีใบดกหนา ไม่เหี่ยวเฉา และก้านแข็ง มีสีสด
 
ผักชี–ป้องกันอาหารเป็นพิษ
ในใบผักชีมีสาร antibiotic มากกว่าสิบชนิดที่สามารถต่อสู้กับแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค หนึ่งในนั้นคือสาร dodecenal ที่มีสรรพคุณในการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย salmonella ได้ดีกว่ายาปฏิชีวนะถึงสองเท่า
 
นักวิจัยผู้ค้นพบครั้งสำคัญนี้ จึงแนะนำให้บริโภคอาหารที่ปรุงด้วยผักชีมากขึ้น เพื่อป้องกันอาการอาหารเป็นพิษ สำหรับผู้ที่ไม่ชอบรสชาติของผักชี สาเหตุเป็นเพราะยีนส์ในร่างกายของคุณเอง ซึ่งจากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้อธิบายว่า บางคนมียีนส์ที่ทำให้คุณรู้สึกว่าผักชีมีรสชาติเหมือน “สบู่”
 
ไทม์–ต่อสู้อาการปวดประจำเดือน
ผลการศึกษาที่เปิดเผยเมื่อต้นปี 2014 พบว่า สาร thymol ที่อยู่ในไทม์มีสรรพคุณในการช่วยระงับปวดและลดการบีบตัว ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับอาการปวดประจำเดือน
 
ไทม์มีสองชนิด คือ plain thyme และ lemon thyme โดยชนิดหลังมีกลิ่นส้มมากกว่า แต่เก็บรักษาเหมือนกันทั้งสองชนิด โดยห่อด้วยกระดาษอเนกประสงค์แผ่นใหญ่ แล้วใส่ในถุงพลาสติกที่ปิดปากถุงแน่น และเก็บในตู้เย็น
 
ใบสะระแหน่–บรรเทาโรคลำไส้แปรปรวน 
นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยอะดีเลด ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า สะระแหน่มีสรรพคุณทำให้เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายไวต่อความเจ็บปวดน้อยลง จึงส่งผลในการบรรเทาความเจ็บปวดจากอาการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโรคลำไส้แปรปรวนหรือ IBS (Irritable Bowel Syndrome) ที่คุกคามชาวออสเตรเลียทุกหนึ่งในห้าคน
 
สะระแหน่มีมากกว่า 25 ชนิด แต่ชนิดที่นำมาใช้ในการศึกษานี้รวมถึงเปปเปอร์มินต์ด้วย ซึ่งในบางรัฐของออสเตรเลียจัดให้เป็นวัชพืช ถ้าปลูกรวมกับสมุนไพรที่เติบโตช้าชนิดอื่นๆ เปปเปอร์มินต์อาจเจริญเติบโตและขยายพันธุ์จนสมุนไพรอื่นๆ ตายหมด จึงแนะนำให้ปลูกในกระถางแยกต่างหาก
 
 
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth   
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว