วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > NEDA เชื่อมเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ผ่านระบบราชการไทย

NEDA เชื่อมเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ผ่านระบบราชการไทย

 
ความเป็นองค์การมหาชนของ สพพ. (สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน) หรือ NEDA หน่วยงานที่มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศเพื่อนบ้านเกิดการพัฒนาจนสามารถก้าวเดินไปสู่หมุดหมายที่สำคัญพร้อมๆ กัน
 
ที่ผ่านมา NEDA ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านวิชาการต่อประเทศเพื่อนบ้านหลายต่อหลายโครงการ ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจสร้างภาพลักษณ์เทียบเท่าหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ไม่แตกต่างกันอย่าง ADB (Asian Development Bank) หรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) ต่อสายตาคนภายนอกได้ 
 
กระทั่งปีนี้รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มอบหมายงานสำคัญให้ NEDA ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักด้านการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน สังเกตได้จากการลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ลงนามไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 หลัง คสช. เข้ามาควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้ไม่นาน 
 
และเมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา ได้กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และล่าสุดยังแสดงวิสัยทัศน์ไกลออกไปตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ ด้วยความพยายามใหม่ที่จะปลุกปั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 36 ตำบล ใน 10 อำเภอ ของ 5 จังหวัดชายขอบ
 
ทั้งนี้ศักราชใหม่ของ NEDA ที่มีโครงการเกิดใหม่และโครงการที่ยังต้องการการสานต่อหลายโครงการ ได้แก่ 
 
1. โครงการก่อสร้างประตูกั้นน้ำ Tan Thuan ที่นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท  
 
2. โครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) สปป.ลาว ระยะทาง 120 กิโลเมตร งบประมาณ 1.9 พันล้านบาท
 
3. โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ งบประมาณ 1.4 พันล้านบาท 
 
4. โครงการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบรายละเอียด โครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบทและถนนเชื่อมโยงไปยังถนนหมายเลข 5 งบประมาณ 17 ล้านบาท ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลเช่นกัน 
 
หากแต่เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลมองเห็นความเชี่ยวชาญที่นอกเหนือไปจากงานก่อสร้างถนนและเส้นทางคมนาคมหรือไม่ หรือมองเห็นแค่ความคุ้นชินและปฏิสัมพันธ์อันดีที่ NEDA มีต่อกลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) เท่านั้น 
 
ภายใต้กรอบโครงนโยบายที่รัฐบาลมอบหมายให้ NEDA เข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 แห่งนั้น ดูจะเป็นที่น่าแปลกใจไม่น้อยที่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนั้นขัดแย้งกับความสามารถในการดำเนินงานที่ถูกจำกัดด้วยงบประมาณที่ไม่ใช่เพียงมาด้วยความล่าช้าเท่านั้น หากแต่ยังเป็นจำนวนตัวเลขที่น้อยกว่าเป้าประสงค์และปริมาณงานในด้านการพัฒนา 
 
NEDA หน่วยงานที่มีคำว่า “องค์การมหาชน” ต่อท้ายอีกทั้งบทบาทสำคัญก็ไม่ได้ต่ำด้อยไปกว่าองค์กรที่มีความเป็นสากลมากกว่าอย่าง JICA เท่าใดนัก 
 
นอกเหนือไปจากการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว NEDA ยังเป็นหน่วยงานที่สามารถผูกโยงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน หากแต่ปัญหาเรื่องงบประมาณและระบบการทำงานในแบบแผนของราชการไทย ประหนึ่งโซ่ตรวนที่ผูกรั้งทำให้ทุกย่างก้าวในการทำงานขาดอิสระในแบบที่องค์การมหาชนควรจะเป็น 
 
ข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่นที่ไม่เพียง NEDA เท่านั้นที่ไม่สามารถสร้างงานที่มีประสิทธิผลได้ หากแต่องค์การมหาชนอื่นๆ ที่ต้องแฝงตัวอยู่ภายใต้กรอบการทำงานแบบราชการไทยเองก็ต้องพัฒนาแบบมีขีดจำกัดเช่นกัน ทั้งที่ศักยภาพของ NEDA ที่น่าจะก้าวไปได้ไกลกว่าการเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV หรือเป็นเพียงองค์กรเล็กๆ ที่ทำงานภายใต้กรอบโครงของดวงตราวายุภักษ์
 
นอกเหนือจากองค์การมหาชนอย่าง NEDA แล้วแน่นอนว่ายังมีหน่วยงานหรือองค์กรที่กำลังร่วมกันพัฒนาประเทศอีกหลายหน่วยงานด้วยกัน หากแต่ก็เป็นไปในทิศทางที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนโดยปราศจากความร่วมไม้ร่วมมือ หรือจะ Joint Venture กันก็แต่เฉพาะงานช้างเท่านั้น 
 
หลักใหญ่ใจความภาระรับผิดชอบของ NEDA ที่จะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) สพร. (สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ) และสภาพัฒน์ หรือแม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง ส่งผลให้ NEDA เองจำเป็นที่จะต้องทำตัวประหนึ่งเส้นด้ายที่คอยต่อร้อยผสานองค์กรต่างๆ เข้าหากันทั้งเพื่อผนึกกำลังกันในการทำงาน ให้เป็นไปในทิศทางที่จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ
 
ปัจจุบันแม้ NEDA จะเป็นเพียงองค์กรหนึ่งที่เป็นเพียงผู้ปฏิบัติงานตามกรอบนโยบายของรัฐบาล และเป็นตัวเชื่อมโยงประสานสายสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ถูกกำหนดมาเรียบร้อยแล้ว แต่ในอนาคตอันใกล้องค์การมหาชนอย่าง NEDA อาจจะเป็นผู้สร้างกรอบโครงหรือเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชาติก็เป็นได้
 
ดังนั้นหากจะเปรียบ NEDA เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศก็คงไม่แปลกนัก หากแต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณที่ล่าช้าเพราะต้องรอกระบวนการผ่านการอนุมัติจาก ครม. ถึงจะทำเรื่องขอเบิกเป็นงบประมาณออกมาเพื่อดำเนินการต่างๆ ได้  แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่การร้องขอจะสมหวัง หากจำนวนตัวเลขที่ได้รับการอนุมัติไม่ตรงตามต้องการองค์กรต่างๆ คงต้องมองหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาและเพื่อให้การทำงานยังดำเนินต่อไปได้
 
แหล่งเงินทุนอื่นๆ ที่ NEDA ใช้ในการแก้ไขปัญหาทางการเงินได้แก่ ธนาคารในสังกัดของรัฐบาลอย่างธนาคารออมสิน และ EXIM Bank ด้วยการนำเงินกู้ที่ได้จากธนาคารไปปล่อยกู้อีกต่อซึ่งรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่างของดอกเบี้ย และ NEDA ยังมีเงินหมุนใช้ในระบบจากดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ไปพร้อมทั้งเงินต้นบางส่วนที่อาจมีผู้ทยอยคืนมา
 
นอกเหนือไปจากปัญหาในเรื่องงบประมาณที่ล่าช้า และรูปแบบการทำงานในระบบราชการไทยแล้วยังมีเรื่องการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง การโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ ยังผลให้การทำงานที่ควรต่อเนื่องสะดุดลง ทั้งที่การทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศชาติและประเทศเพื่อนบ้านควรจะดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพ หรือหากจะมีอุปสรรคต่อการพัฒนาควรจะเป็นเรื่องข้อจำกัดในขีดความสามารถของบุคลากร มากกว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านอื่น
 
ดูเหมือนว่าองค์การมหาชนเล็กๆ อย่าง NEDA ที่อาจถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติจะมีแต่ปัญหารอบด้านให้ต้องคอยแก้  ซึ่งคงเป็นบทพิสูจน์ของผู้ปฏิบัติงานและผู้อำนวยการคนใหม่ที่มีทัศนคติแตกต่างไปจากผู้คนในระบบราชการ ว่า NEDA จะยังคงเป็นเพียงเส้นด้ายที่ร้อยเกี่ยวหน่วยงานต่างๆ เพื่อเดินไปสู่หลักไมล์พร้อมๆ กัน หรือจะเป็นเส้นด้ายที่มีความแข็งแรงพร้อมกับมีเข็มทิศนำทางจนสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชาติได้