วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > เซเว่นฯ-แม็คโคร ทุ่ม 2 หมื่นล้าน ปลุกแนวรบค้าปลีกเดือด

เซเว่นฯ-แม็คโคร ทุ่ม 2 หมื่นล้าน ปลุกแนวรบค้าปลีกเดือด

“ซีพีออลล์” ปรับเปลี่ยนตัวขุนพลครั้งใหญ่ เมื่อนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 โดยให้ลูกชายคนโต “สุภกิจ เจียรวนนท์” ขึ้นนั่งเก้าอี้แทนพร้อมๆ กับการเร่งเดินหน้าแผนการลงทุนรุกแนวรบค้าปลีก ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น และแม็คโคร ใช้เม็ดเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน หุ้นบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ “MAKRO” เคลื่อนไหวคึกคักรับข่าวใหม่ต่อเนื่องตลอดหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะการประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2562 ซีพีออลล์และบริษัทย่อยสามารถทำรายได้รวม 138,896 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 8.6% และมีกำไร 5,416.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 5,416.83 ล้านบาท

ปี 2562 ซีพีออลล์ยังตั้งเป้าการเติบโต 7% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 527,860 ล้านบาท และมีกำไร 20,930 ล้านบาท

ส่วนสยามแม็คโคร ซึ่งปีนี้ดำเนินธุรกิจในไทยครบรอบ 30 ปี คาดการณ์จะมีรายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่าจีดีพีประเทศจากปีก่อน สร้างรายได้รวมประมาณ 192,000 กว่าล้านบาท เติบโต 3.3% โดยไตรมาสแรกมีรายได้แล้ว 51,798 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,518 ล้านบาท

ต้องถือว่า ปี 2562 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงและการเปิดเกมรุกครั้งใหญ่ของซีพี ชนิดที่ผู้เล่นในสมรภูมิค้าปลีกต่างจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการปลุกภาพรวมตลาดค้าปลีกที่ยังหนีไม่พ้นวิกฤตกำลังซื้อซบเซา แม้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังมั่นใจว่า ตลาดค้าปลีกโดยรวมมีโอกาสขยายตัว 3.5-3.8% มีมูลค่าประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท จากปีก่อนมีการขยายตัว 3% และมีมูลค่ารวม 3.5 ล้านล้านบาท

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้ บริษัทวางแผนขยายร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 700 สาขา และตั้งเป้าภายในปี 2564 จะมีสาขารวมทั้งสิ้น 13,000 สาขา จากสิ้นปี 2561 มีสาขารวม 10,988 สาขา แบ่งเป็นร้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 4,834 สาขา และร้านในต่างจังหวัด 6,154 สาขา โดยปีนี้วางงบลงทุนรวม 11,500-12,000 ล้านบาท

แบ่งเป็นงบลงทุนขยายสาขาเพิ่มอีกอย่างน้อย 700 สาขา ประมาณ 3,800-4,000 ล้านบาท งบรีโนเวตสาขาต่างๆ อีก 2,400-2,500 ล้านบาท งบลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ รวมถึงปรับปรุงศูนย์กระจายสินค้า 4,000 ล้านบาท และงบลงทุนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอีก 1,300-1,400 ล้านบาท

ที่สำคัญ การเปิดสาขาใหม่จะเน้นร้านสแตนด์อะโลน สัดส่วนมากถึง 50% ตามโมเดลแฟลกชิปสโตร์สาขาแรก สาธิต พีไอเอ็ม และสาขาที่ 2 ธาราพัทยา ซึ่งคอนเซ็ปต์ของร้านสแตนด์อะโลนจะปรับเปลี่ยนตามทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แต่องค์ประกอบหลัก คือ พื้นที่ร้านขนาดใหญ่ มีโซนนั่งพักผ่อน รับประทานอาหารและเครื่องดื่ม การผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านประหยัดพลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เช่น จัด Digital Energy Saving Monitor จอ LED แสดงผลการใช้พลังงานของอาคารแบบเรียลไทม์ตามเกณฑ์อาคารเขียวของสถาบันอาคารเขียวไทย มีป้าย Digital Signage ปรับเปลี่ยนแสดงโลโกหรือสัญลักษณ์ของร้านค้า จอ LED ขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี Mesh OLED อยู่หน้าร้าน ใช้แสดงโปรโมชัน มี Digital Wall และจอ 24 shopping Kiosk ให้ลูกค้ากดเลือกซื้อสินค้า จากนั้นนำ QR Code ไปชำระเงินและรับสินค้าได้ทันที มี Self Checkout ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องรอคิวชำระค่าสินค้า เพียงนำสินค้ามาสแกนที่เครื่อง สามารถชำระค่าสินค้าผ่านบัตร Smart Purse หรือ True Money Wallet ได้ทันที

ที่ขาดไม่ได้ คือ หุ่นยนต์ เซวี่บ็อท (Sevy Bot) ผู้ช่วยอัจฉริยะ สามารถจับการเคลื่อนไหวและสื่อสารกับลูกค้าได้ในระยะใกล้ เช่น ยกมือไหว้สวัสดี โบกมือทักทาย เคลื่อนที่ไปได้รอบร้าน 24 ชม. ซึ่ง Sevy Bot จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามสาขาและทำเล อย่างสาขาสาธิตพีไอเอ็ม มีชื่อว่า ‘น้องแมงมุม’ สาขาธาราพัทยา ชื่อว่า ‘สินสมุทร’

ทั้งนี้ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาสแตนด์อะโลนเน้นเจาะพื้นที่ตามแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ รวมทั้งจับมือกลุ่มธุรกิจต่างๆ เช่น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ โรงพยาบาล สถานศึกษา เพื่อขยายสาขาในโครงการต่างๆ

สำหรับสินค้าที่วางจำหน่ายจะเพิ่มกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารที่ลดเกลือ อาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ สินค้าสมุนไพร ขยายมุมสินค้าความงาม “ออลล์ บิวตี้ คอร์เนอร์” และยาสามัญ-อุปกรณ์การแพทย์ “เอ๊กซ์ต้า” (eXta) ตามเทรนด์สุขภาพสังคมสูงวัย นอกจากนั้น เน้นบริการตามเทรนด์ใหม่ๆ เช่น แบงกิ้งเอเย่นต์รับฝากเงิน โดยอาศัยโนว์ฮาวของเคาน์เตอร์เซอร์วิสและไทยสมาร์ทการ์ด เพื่อรองรับสังคมไร้เงินสด จากปัจจุบันจับมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และเร่งขยายบริการขนส่ง “สปีดดี” ให้ครบทุกสาขาจากที่เปิดอยู่แล้ว 3,800 สาขา เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ด้าน “แม็คโคร” เตรียมวางแผนการลงทุนเชิงรุกตลอดทั้งปี โดยทุ่มงบลงทุนสูงถึง 8,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในไทย 5,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนที่ลงทุน 2,500 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาใหม่ 7-8 สาขา ที่เหลือลงทุนด้านระบบซอฟต์แวร์และด้านฟูดเซอร์วิส

นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 3 บริษัทเตรียมเปิดแม็คโครสาขาใหม่ที่เป็นแม็คโครยุค 4.0 สาขาแรกที่ลาดกระบัง พื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตร จะเป็นสาขาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาทำงาน เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุค 4.0 ที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการจ่ายเงิน การใช้สัญลักษณ์ป้ายบอกราคาเป็นดิจิทัล การเก็บเงินแบบใหม่ “คิวบัสติ้ง” คือ มีการคิดราคาตั้งแต่ตอนยืนเรียงคิว และการสื่อสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยทัชสกรีนมากขึ้น โดยเป็นสาขาทดลองแห่งแรกและมีแผนเปิดสาขาใหม่ๆ ให้เป็นรูปแบบนี้ พร้อมทยอยปรับสาขาเก่าๆ ด้วย

รวมทั้งวางแผนเปิดช่องทางจำหน่ายที่หลากหลายไม่ใช่เพียงแค่หน้าร้านหรือออฟไลน์สโตร์เท่านั้น โดยทำเป็นโอทูโอ หรือการขายออนไลน์ด้วย ซึ่งมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันของแม็คโครและมีร้านค้าดาวน์โหลดมากกว่า 5 แสนราย จากระบบฐานลูกค้าทั้งหมดประมาณ 3 ล้านราย ซึ่งแอปนี้จะทำให้ลูกค้าสามารถหาข้อมูลและสั่งซื้อสินค้าได้ทางออนไลน์

ส่วนในต่างประเทศมีงบลงทุนรวม 2,700 ล้านบาท จากปีก่อนที่ลงทุนเพียง 750 ล้านบาท โดยเตรียมแผนขยายสาขาในจีนที่เมืองกวางโจว จะเป็นสโตร์ขนาดกลาง พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร และจะลุยลงทุนต่างประเทศ ทั้งลงทุนเอง 100% เช่น ที่อินเดีย จีน เมียนมา กับร่วมลงทุน เช่น ที่กัมพูชา ซึ่งล่าสุด แม็คโครเปิดบริการ 5 สาขาในต่างประเทศ ได้แก่ กัมพูชา 2 สาขา ที่พนมเปญและเสียมเรียบ อินเดีย 3 สาขาและปีนี้มีแผนขยายในเมียนมาและจีน

ขณะที่สาขาในประเทศไทยเปิดให้บริการแล้ว 129 สาขา แบ่งเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าแม็คโคร รูปแบบคลาสสิก 79 สาขา แม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส 25 สาขา อีโค พลัส 13 สาขา แม็คโคร ฟู้ดช้อป 5 สาขา และสยามโฟรเซ่น 7 สาขา โดยสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแม็คโคร 96% กลุ่มต่างประเทศและกลุ่มฟูดเซอร์วิส หรือการจำหน่ายสินค้านำเข้าและส่งออกรวมกัน 4% โดยตั้งเป้าหมายอีก 5 ปี กลุ่มต่างประเทศและฟูดเซอร์วิสจะมีสัดส่วนรายได้รวมกันเพิ่มเป็น 20%

ตามเป้าหมายของแม็คโครต้องการเป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่งอาหารและเครื่องดื่มในเอเชีย ซึ่งจากข้อมูลของบริษัทจัดอันดับเรตติ้ง PLIMSOLLของประเทศอังกฤษ ระบุว่า สยามแม็คโคร มีรายได้สูงสุดติดอันดับทอป 50 ของธุรกิจประเภทนี้ทั่วโลก แต่หากนับอันดับในเอเชีย ไม่รวมรัสเซีย สยามแม็คโครมีรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มมิตซูบิชิของญี่ปุ่น

มาถึงจิ๊กซอว์ค้าปลีกอีกตัวของซีพี คือ ซีพีเฟรชมาร์ท หลังจากปรับคอนเซ็ปต์หลายรอบและงัดรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “คอมแพ็คซูเปอร์” เจาะตลาดมินิซูเปอร์มาร์เก็ต สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในแง่ความหลากหลาย (Variety) ของสินค้าหมวดปรุงอาหาร ทั้งกลุ่มวัตถุดิบอาหารสด อาหารแห้ง ผลไม้สด กลุ่มเครื่องดื่ม ซอสปรุงรสต่างๆ สินค้าโกรเซอรีในครัวเรือน และจุดขายสำคัญ คือ จำหน่ายสินค้าในเครือซีพีเอฟและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ทั้งหมดในราคาที่ถูกกว่า มีบัตรสมาชิกเพื่อรับส่วนลดเพิ่มขึ้นหรือสะสมแต้มแลกสินค้าพรีเมียม

ล่าสุด ซีพีเฟรชมาร์ทเร่งขยายโซน “Coffee Counter” และโซน TO GO หรือมุมอุ่นอาหารพร้อมรับประทานในร้านมากขึ้น เพื่อทดลองการตอบรับของกลุ่มลูกค้า ก่อนขยายเต็มรูปแบบรองรับการเจาะทำเลใหม่ๆ เช่น ในปั๊มน้ำมัน ย่านชุมชน โครงการที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม เพื่อปูพรมสาขาครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า

แน่นอนว่า การผนึกกำลังของเครือข่ายค้าปลีก “ซีพี” ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร และซีพีเฟรชมาร์ท จะสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ที่คู่แข่งเบอร์รองๆ จำต้องแก้เกมครั้งใหญ่ตามไปด้วย

ใส่ความเห็น