วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส พลิกโฉมการแพทย์ เปิดตัว NAEOTOM Alpha CT Scanner เครื่องแรกของโลก

ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส พลิกโฉมการแพทย์ เปิดตัว NAEOTOM Alpha CT Scanner เครื่องแรกของโลก

“การสนับสนุนแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ เป็นหน้าที่ของเรา วัตถุประสงค์หลักของบริษัทเราคือ การทำลายกำแพงที่เป็นอุปสรรคในการรับการรักษา เราช่วยหมอในการวินิจฉัยโรคด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์” คำกล่าวของ นายบีเยิร์น โบเด็นสไตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเมนต์ เฮลท์ธิเนียร์ส ประเทศไทย

พันธกิจหลักของซีเมนต์ เฮลท์ธิเนียร์ส กลายเป็นพันธสัญญาที่ทำให้ซีเมนต์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะเครื่อง CT Scanner เครื่องนี้ ที่ใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี “Photon-counting” นี้ถึง 20 ปี

นายบีเยิร์น โบเด็นสไตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเมนต์ เฮลท์ธิเนียร์ส ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ซีเมนต์ เฮลท์ธิเนียร์ส ได้เปิดตัว “NAEOTOM Alpha CT Scanner” เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่สุดล้ำเครื่องแรกของโลก ด้วยนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า “Photon-counting” มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการแพทย์ด้านการแสดงภาพ (Medical imaging) ที่มีความคมชัดสูงกว่า CT Scanner รุ่นก่อนหน้าและแบบดั้งเดิม ซึ่งเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับโลก ล่าสุดเตรียมนำเข้ามาเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งนวัตกรรมใหม่นี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการตรวจวินิจฉัย พร้อมพลิกโฉมหน้าเทคโนโลยีการวินิจฉัยทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เรารวบรวมนักวิจัยและพัฒนาระดับหัวกะทิเพื่อปฏิบัติการในครั้งนี้ และเราเริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งนับจนถึงตอนนี้เท่ากับว่า เราใช้เวลา 20 ปีสำหรับเทคโนโลยีนี้ NAEOTOM Alpha CT Scanner นับเป็นเครื่องแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยี Photon-counting ซึ่ง CT Scanner เครื่องนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับแพทย์ผู้วินิจฉัย ซึ่งเครื่องสามารถ Converse สัญญาณได้โดยตรง โดยไม่สูญเสียสัญญาณ ให้ภาพที่คมชัดขึ้น สามารถมองเห็นรอยโรคเล็กๆ ได้ ภาพเอกซเรย์รุ่นทั่วไปจะเป็นภาพแบบ 2 มิติ และสีขาว-ดำ แต่เทคโนโลยีที่เราใช้ในเครื่องนี้จะทำให้เราสามารถมองเห็นภาพเอกซเรย์ในลักษณะ 3 มิติ”

เครื่อง CT Scanner โดยทั่วไปจะใช้ตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วยรังสีเอกซ์ โดยการฉายรังสีเอกซ์ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลสร้างภาพ ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในเรื่องประสิทธิภาพความละเอียดของการแสดงผลของภาพ อีกทั้งเรื่องปริมาณรังสี รวมถึงการฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่เส้นเลือดที่อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายของผู้เข้ารับการวินิจฉัย จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมล่าสุดอย่างเทคโนโลยี Photon-counting ในเครื่อง NAEOTOM Alpha CT Scanner เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการวินิจฉัยที่มีความแม่นยำสูง การนำมาซึ่งนวัตกรรมล่าสุดนี้จะช่วยขจัดปัญหาและข้อจำกัดข้างต้นได้

ทั้งนี้เทคโนโลยี Photon-counting มีความสามารถในการตรวจจับอนุภาคโฟตอนของรังสีเอกซ์โดยตรง และแปลงผลเป็นภาพดิจิทัลที่มีคุณภาพความคมชัดสูงในระดับ Ultra-high resolution ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ให้พร้อมเดินหน้าอย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่ผู้ป่วยหลายคนมักมีความกังวล เมื่อต้องเข้ารับการวินิจฉัยด้วยการทำ CT Scan คือการที่ต้องเข้ารับการใช้รังสี หรือสารทึบรังสีในปริมาณที่สูง แต่สิ่งที่จะแตกต่างไปจากเครื่องสแกนตัวนี้คือ สามารถลดปริมาณการใช้รังสีและสารทึบรังสีได้ถึงร้อยละ 45

นายบีเยิร์นกล่าวเพิ่มเติมว่า “เทคโนโลยีใหม่ของเครื่อง NAEOTOM Alpha CT Scanner นอกจากจะเข้ามาช่วยปลดล็อกขีดความสามารถด้านการแสดงผลภาพทางการแพทย์ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องรุ่นเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว ยังมีจุดเด่นด้านการสแกนด้วยความไวสูง ที่สามารถตรวจจับภาพอวัยวะภายในได้อย่างแม่นยำ และมีความคลาดเคลื่อนต่ำ รวมถึงฟังก์ชันการลบชิ้นส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยออกจากภาพที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการตรวจหารอยโรคและนำมาสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อีกไฮไลต์สำคัญของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงรุ่นนี้คือ สามารถลดปริมาณการใช้รังสีและสารทึบรังสีสำหรับผู้ที่เข้ารับการวินิจฉัยได้ถึงร้อยละ 45 ทำให้ได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกายลดลง

การวินิจฉัยผู้ป่วยผ่านเครื่อง CT Scanner สามารถทำได้ถี่ขึ้น และเพิ่มพื้นที่การวินิจฉัยได้ทั่วถึง ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ได้รับข้อมูลที่จำเป็นต่อการวินิจฉัย ตลอดจนวางแผนและเพิ่มโอกาสเริ่มการรักษาล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

นอกจากความสำเร็จของเครื่อง NAEOTOM Alpha CT Scanner ซีเมนต์ยังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมไปถึงระบบอัลกอริทึมทางการแพทย์รูปแบบใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ อาทิ

AI-Rad Companion ระบบฐานข้อมูล (Big Data) ที่รวบรวมภาพผลการวินิจฉัยโรคของซีเมนต์ เฮลท์ธิเนียร์ส ที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อช่วยกำหนดทิศทางให้แพทย์วินิจฉัยแนวโน้มรอยโรคของผู้ป่วยได้แม่นยำยิ่งขึ้น จากการเทียบเคียงภาพผู้ป่วยและผลการวินิจฉัยในคลังข้อมูล ทำให้วิเคราะห์โรคได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และเพิ่มความครอบคลุมในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ผู้รักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

syngo Virtual Cockpit ระบบเชื่อมต่อทางไกลระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับอุปกรณ์ทางการรักษาที่ช่วยบดช่องว่างการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางในการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกผ่านการเข้าระบบ Virtual Cockpit ทำให้แพทย์สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างละเอียดทุกขั้นตอนเสมือนไปวินิจฉัยโรคอยู่ตรงหน้าผู้ช่วยโดยยังคงได้ผลลัพธ์การวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น

Cinematic Reality การนำเสนอภาพทางการแพทย์ที่สมจริงสูงผ่านเทคโนโลยี Cinematic Rendering ในทางการแพทย์จะใช้ในการสร้างภาพอวัยวะหรือร่างกายของผู้ป่วยขึ้นมาบนโลกเสมือนจริง หรือการทำให้ภาพเอกซเรย์อวัยวะในร่างกายธรรมดาๆ กลายเป็นภาพที่สามารถเคลื่อนไหวหรือจับต้องได้ด้วยมุมมองภาพ 3 มิติ สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางได้ตามความต้องการของแพทย์ และขจัดข้อจำกัดการมองเห็นสำหรับการวินิจฉัยอวัยวะและระบบภายในร่างกายที่ผิดปกติได้ ซึ่งทำให้ภาพที่ชัดเจน มีความละเอียดสูง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และมีมิติสมจริงยิ่งขึ้น เมื่อดูผ่านเทคโนโลยีความเป็นจริงแบบเสมือน (VR)

syngo Carbon ระบบการจัดเก็บและกระจายข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์แบบครบวงจร ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงเครือข่ายคลังข้อมูล การประมวลผล รวมถึงการรายงานผลการวินิจฉัยผ่านแพลตฟอร์มการจัดการและแสดงผลข้อมูล ซึ่งใช้งานง่ายพร้อมอำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ด้วยโซลูชันดิจิทัลครบจบในที่เดียว

ตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% โดย Krungthai Compass คาดไว้ว่า ในปี 2027 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7.44 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 3.38 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่าแสนล้านบาทในปี 2027 มีอัตราเติบโตเฉลี่ย (ปี 2019-2027) 8.1% ต่อปี

หากมองในแง่การส่งออก ปี 2564 ไทยมีมูลค่าส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นอันดับที่ 19 ของโลก โดยประเทศที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ส่งออกอันดับ 1 ของโลก คือ เยอรมนี และซีเมนต์ เฮลท์ธิเนียร์ส คือหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และส่งออกไปจำหน่ายหลายประเทศทั่วโลก

“เราคงไม่สามารถพูดได้ว่า เราอยู่ในตำแหน่งใดในฐานะการเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะเรามีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แต่เราจำกัดความตัวเราเองว่า เราคือ Leaders Innovations และเราไม่หยุดที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับวงการแพทย์”

“ซีเมนต์ เฮลท์ธิเนียร์ส ยังคงยึดมั่นปณิธานในการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนไข้ทั่วโลก ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการแพทย์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าของบริษัทในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ การันตีจากสิทธิบัตร Machine Learning กว่า 700 ชิ้น สิทธิบัตร Deep Learning อีกกว่า 275 ชิ้น รวมถึงการเป็นเจ้าของแอปพลิเคชัน AI-based อีกกว่า 60 แอปพลิเคชัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ให้บริการสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยด้วยการรักษาที่แม่นยำและตรงจุด ทั้งนี้ ซีเมนต์ เฮลท์ธิเนียร์ส เชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นล่าสุดนี้ จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอันนำมาสู่แนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นให้กับผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมทั้งปัจจุบันและในอนาคต” นายบีเยิร์นกล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบันซีเมนต์จำหน่ายไปแล้วประมาณ 60 เครื่อง โดยประเทศที่ติดตั้งเครื่อง NAEOTOM Alpha CT Scanner ส่วนใหญ่จะอยู่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และสิงคโปร์ การเปิดตัวในประเทศไทยครั้งนี้ แน่นอนว่า ซีเมนต์ เฮลท์ธิเนียร์สหวังว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่สั่งนำเข้าเครื่องนี้

นี่อาจเป็นความหวังใหม่ของการรักษา ที่ทั้งผู้ป่วยและแพทย์ผู้วินิจฉัยเฝ้ารอให้มีเทคโนโลยีล้ำสมัยมาช่วย จุดประกายความหวังนั้นแจ่มชัดยิ่งขึ้น เพราะทุกอย่างหมายถึงชีวิตของผู้คน.