วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
Home > Cover Story > สงครามการค้ายกที่สอง กระทบเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก?

สงครามการค้ายกที่สอง กระทบเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก?

ความเคลื่อนไหวของ 2 ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ตอบโต้กันชนิดที่เรียกได้ว่า หมัดต่อหมัด กับการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า แรงเหวี่ยงหมัดที่ 2 ประเทศสร้างขึ้นก่อให้เกิดความวิตกกังวลไม่น้อยกับนานาประเทศคู่ค้า หลายฝ่ายจับตามองว่าสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะยุติลงเมื่อใด และจะมีบทสรุปอย่างไร

แม้ว่าหลายเดือนก่อนหน้าจะมีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติสงครามการค้าของทั้ง 2 ประเทศ แต่น่าแปลก ในขณะที่การเจรจายังดำเนินไปตามครรลองที่ควรจะเป็น และยังไม่มีบทสรุปใดๆ ออกมา ผู้นำอย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับประกาศอัตราเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม

นับเป็นหมัดแรกที่สหรัฐฯ เหวี่ยงเข้าใส่จีน การเรียกเก็บภาษีนำเข้าครั้งนั้นนับเป็นมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท จากสินค้าจำนวน 818 รายการ และหลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ ทรัมป์เดินหน้าประกาศเรียกเก็บภาษี 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ จากสินค้า 282 รายการ

แน่นอนว่า จีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจในซีกโลกตะวันออก คงไม่นิ่งเฉยรอให้สหรัฐฯ รัวหมัดใส่แต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อรัฐบาลจีนตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราเดียวกัน นับเป็นมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง และฝ้าย เป็นต้น

ระลอกแรกของการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากจะทำให้หลายฝ่ายกังวลกับสถานการณ์การค้าโลกแล้ว ยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุการกระทำครั้งนี้ของผู้นำสหรัฐฯ

เหตุผลของการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกานับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถแทรกแซงกลไกราคาสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศของตนเอง ซึ่งจะทำให้สินค้าในสหรัฐฯ มีราคาถูกกว่าสินค้านำเข้า

แง่มุมหนึ่งต้องชื่นชมว่า กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นการสร้างโอกาสให้บริษัทเอกชนในสหรัฐฯ ให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยังได้เรียกร้องเชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ สินค้าที่ผลิตในประเทศของตัวเอง เพื่อเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง

การตอบโต้ของทั้งสหรัฐฯ และจีนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้จะสร้างความวิตกให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศไปแล้ว แต่เมื่อการเจรจายังไม่อาจหาข้อยุติได้ คลื่นยักษ์ระลอกสองก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

ยกที่สอง เป็นการยกระดับความดุเดือดในการแลกหมัดของ 2 ประเทศมหาอำนาจ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกครั้ง ด้วยอัตราเดิมที่ 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นมูลค่าถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.28 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สร้างรางรถไฟ

หากประมวลตัวเลขมูลค่ารวมการขึ้นภาษีนำเข้านับตั้งแต่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการนั้น จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.65 ล้านล้านบาทไปแล้ว

และดูเหมือนว่าจนถึงวันนี้มาตรการต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากจีนอาจจะยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศกร้าวว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอีกครั้ง และครั้งนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกันยายน ซึ่งหากคำขู่ของทรัมป์เกิดขึ้นจริง จะทำให้การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากเหตุผลการสร้างให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในแง่ที่ผลักดันให้เอกชนในสหรัฐฯ สามารถแข่งขันราคาสินค้าภายในประเทศกับสินค้านำเข้าจากจีนได้แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าจะกลายเป็นชนวนสงครามการค้าครั้งนี้คือ การที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนเห็นด้วยในข้อตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ยังมีเรื่องโครงการอุดหนุนอุตสาหกรรม และโครงสร้างเรื่องกำแพงภาษี

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคำขู่ของสหรัฐฯ จะไม่ช่วยให้เกิดข้อยุติสงครามการค้าในครั้งนี้ได้ รังแต่จะยิ่งเพิ่มแรงปะทุให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ซึ่งทางการจีนจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯ เพิ่ม และมีความเป็นไปได้ว่า จีนอาจจะยื่นเรื่องต่อองค์การการค้าโลก เพื่อช่วยหาข้อยุติต่อมาตรการการตั้งกำแพงภาษีที่เกิดขึ้น

เพราะหากจีนไม่รีบหาทางออกเรื่องนี้ สถานการณ์การส่งออกของจีนอาจจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น และการแก้ปัญหาอาจจะอยู่ที่การต้องยอมให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเพื่อให้ผลดีเกิดขึ้นกับผู้ส่งออก หรืออาจเป็นได้ว่ามาตรการโต้ตอบของจีนอาจจะไปจบลงที่บริษัทเอกชนสัญชาติอเมริกันที่กำลังดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศจีน

ทั่วโลกกำลังเฝ้ามองสถานการณ์สงครามการค้า ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ในครั้งนี้อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งอัตราการเติบโตอาจจะลดลงไป 0.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020

ทั้งนี้หากจะพิจารณาจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในจีนที่เติบโตช้าลงไปในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ เริ่มประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้า ทำให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ไม่น้อยว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกอาจจะเป็นไปอย่างที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์

ขณะที่เมื่อย้อนกลับมามองว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดจากสงครามการค้าครั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรก ตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคม 2561 มีมูลค่า 146,235 ล้านเหรียญดอลลาร์ มีอัตราการขยายตัวที่ 10.57 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 143,296 ล้านเหรียญดอลลาร์ ซึ่งขยายตัว 14.84 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การค้าใน 7 เดือนแรกเกินดุล 2,939 ล้านเหรียญดอลลาร์

สงครามการค้าที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ส่งผลต่อการส่งออกของจีน แน่นอนว่าไทยได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เมื่อสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลาดสหภาพยุโรปมีการขยายตัว 9 เปอร์เซ็นต์ ตลาดญี่ปุ่นขยายตัว 11.7 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่า ตลาดสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนที่ลดลงเล็กน้อยที่ 1.9 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการส่งออกที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือน

โดยสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ลดลงเป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป

ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีนชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสินค้าในหมวดเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การส่งออกไม้แปรรูป และรถยนต์นั่ง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อนานาประเทศ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งนอกจากตัวเลขปัจจัยฐานการส่งออกที่สูงในปีที่ผ่านมา ที่จะทำให้เส้นทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโตสูงถึง 11.0 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตลาดทั้งปี 2561 มูลค่าส่งออกสินค้าไทยน่าจะขยายตัวที่ 8.8 เปอร์เซ็นต์

ทั้งไอเอ็มเอฟและศูนย์วิจัยกสิกรไทยดูจะแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากรองผู้อำนวยการ สนค. สุรีย์พร สหวัฒน์ ที่มองแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะยังขยายตัวได้ดีสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก แม้จะมีความผันผวนจากปัจจัยชั่วคราว อย่างความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ความผันผวนของตลาดเงิน และยังมีการคาดการณ์ว่า ส่งออกไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 8 เปอร์เซ็นต์

การดวลหมัดครั้งที่ 3 ที่จะเริ่มขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา ยังไม่แน่ว่าท้ายที่สุดแล้วสงครามการค้าครั้งนี้จะลงเอยด้วยบทสรุปเช่นไร จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้าสินค้า จะพึงระวังและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะถึงแม้ว่าไทยจะไม่ได้อยู่ในสงครามเต็มตัวนัก หากแต่คงจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

ใส่ความเห็น