ความพยายามของกลไกภาครัฐที่จะโหมประโคมความก้าวหน้าในนโยบายเศรษฐกิจว่าประสบผลสำเร็จและกำลังดำเนินไปท่ามกลางการฟื้นตัวขึ้น ดูจะเป็นข่าวดีที่ต้องรีบประชาสัมพันธ์ ไม่ต่างจากการโฆษณาสินค้าชั้นดีที่ต้องเร่งทำตลาด เพราะประเด็นดังกล่าวผูกพันอยู่กับดัชนีความเชื่อมั่น ไม่ว่าข้อเท็จจริงของสภาพการณ์ที่ปรากฏจะสอดรับกับความมุ่งหมายของรัฐหรือไม่ก็ตาม
รายงานตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปี 2560 ที่นำเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ซึ่งระบุว่าในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวร้อยละ 3.9 ดูจะสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความพึงพอใจให้กับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ไม่น้อย ก่อนที่จะระบุว่า เป้าหมายการเติบโตของปี 2561 ที่กำหนดไว้ในระดับร้อยละ 4.1 ดูจะเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่ายมั่นใจว่าจะผ่านไปได้อย่างไม่ลำบากนัก
เป็นการโหมประโคมข่าวดีอย่างกึกก้อง ไม่ต่างจากเสียงสนั่นของประทัดแห่งการเฉลิมฉลองต้อนรับปีหมา ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่เพิ่งผ่านมา สอดรับกับดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ได้รับการตีความว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของหลากหลายสำนัก
กระนั้นก็ดี ประเด็นหลักสำคัญของกลไกในการบรรลุสู่เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนับจากนี้ อยู่ที่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปรับฐานอุตสาหกรรมเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นกระแสโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อขยายฐานการส่งออกให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ความมั่นใจของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในด้านหนึ่งผูกพันอย่างแนบแน่นกับความพยายามผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งมีร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … หรือกฎหมายอีอีซีได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นประหนึ่งแรงกระตุ้นที่ทำให้เชื่อว่าโครงการอีอีซี ซึ่งเป็นความหวังใหม่ของไทยในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจะสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มรูปแบบ
ความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจไทยดังกล่าว ดูจะเป็นความเชื่อมั่นที่วางเดิมพันไว้กับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง จับต้องไม่ได้ และอาจต้องรอให้โครงการ EEC ที่หวังจะเป็นประหนึ่งหัวรถจักรที่จะลากจูงองคาพยพเศรษฐกิจไทยให้เคลื่อนผ่านหลักไมล์และเส้นทางยากลำบากไปถึงฝั่งฝัน ด้วยแรงขับเคลื่อนแห่งความหวังท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรอบข้าง ได้เริ่มต้นทำงานอย่างมีรูปธรรมเสียก่อน
ความหวังที่เกิดขึ้นจากการคาดการณ์ผลสำเร็จจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการพัฒนา EEC ในช่วงเวลา 10-20 ปีจากนี้ ได้รับการระบุว่าจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นจากการเติบโตในอัตราปกติไปอีกร้อยละ 2 และจะส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทย พัฒนาเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากระดับ 15 ล้านล้านบาทในปี 2560 ไปสู่ระดับ 30 ล้านล้านบาทในปี 2570 และเพิ่มเป็น 60 ล้านล้านบาทในปี 2580 เลยทีเดียว
ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากรใน 3 จังหวัดของพื้นที่พัฒนา EEC ยังได้รับการคาดหมายว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 21,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี หรือ 672,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยเร่งให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศเพิ่มสูงขึ้นจนบรรลุเป้าหมายการหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางที่ 10,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี หรือ 320,000 บาทต่อคนต่อปี ภายในปี 2569 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าการเติบโตปกติที่ไม่มีการดำเนินนโยบายถึง 5 ปี โดยคาดหมายว่าในปี 2569 คนไทยจะมีรายได้เฉลี่ยของประชากร 12,450 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี หรือ 398,400 บาทต่อคนต่อปี จากปัจจุบันที่มีรายได้เฉลี่ย 6,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี หรือ 211,200 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2560
หากประเมินในมิติที่ว่านี้โครงการพัฒนาพื้นที่ EEC จึงเป็นยิ่งกว่าโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภาครัฐ หากแต่เป็น “คาถาวิเศษ” ที่จะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งในส่วนของขนาดเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเร่งเป็น 2 เท่าในแต่ละช่วงเวลา 10-20 ปี และยังหนุนนำให้รายได้ต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลาไม่นานจากนี้
แม้ว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซีไปสู่เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว อยู่ที่การลงทุนภาครัฐที่มีคุณภาพ หากแต่ความเป็นไปของโครงการพัฒนาพื้นที่ EEC ทำให้กลไกภาครัฐประเมินภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไว้ค่อนข้างสวยหรูไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการสะสมทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีคุณภาพในระบบเศรษฐกิจ ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8.9 ต่อปี หรือแม้กระทั่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพ เข้าสู่พื้นที่ที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีกร้อยละ 8.1 ต่อปีอีกด้วย
การคาดการณ์ความเป็นไปของโครงการพัฒนาพื้นที่ EEC ในมิติที่ว่านี้ ดำเนินไปท่ามกลางการประเมินโดยใช้แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ระบุว่าแนวทางการพัฒนาอีอีซีจะทำให้รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี จาก 326,545 บาทต่อปีในปี 2560 เป็น 1,263,629 บาทต่อปีในปี 2580
รายได้ครัวเรือนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นดังกล่าวนี้ ในด้านหนึ่งถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยรายได้ดังกล่าวจะนำไปใช้ในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสามารถรองรับกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้ดียิ่งขึ้น
ประเด็นที่น่าสนใจพิจารณาประการหนึ่งก็คือในขณะที่หน่วยงานภาครัฐคาดหมายอนาคตในทิศทางและลักษณะที่เล็งผลเลิศ ในอีกด้านหนึ่งกลับปรากฏภาพการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปสู่แหล่งอื่นหรือแม้กระทั่งการย้ายกลับประเทศผู้ประกอบการเพื่อใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรกลที่ทันสมัยหรือเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ทั้งระบบการผลิตแบบ Automation และหุ่นปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) ที่กำลังเป็นกระแสหลักของยุคอุตสาหกรรมใหม่
ความเป็นไปของภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่เชื่อว่ากำลังไปได้ดีตามทิศทางที่รัฐมุ่งประสงค์รวมถึงภาพฝันที่สวยงามจากโครงการพัฒนาพื้นที่ EEC จะเป็นไปตามความคาดหมายหรือเป็นเพียงการประโคมฝุ่นควันแห่งความหวัง ที่นอกจากจะทำให้เกิดภาพที่บิดเบี้ยวและยังพร้อมจะเป็นมลภาวะที่ย้อนกลับมาทำลายสุขภาพทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
เวลา 20 ปีสำหรับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC อาจเนิ่นนานเกินไปสำหรับการสรุปประเมินความสำเร็จ หากแต่ข้อเท็จจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ไตรมาสนับจากนี้ คงช่วยสะท้อนและให้ภาพความสำเร็จ-ล้มเหลวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับรากหญ้าให้ได้ประจักษ์ในไม่ช้า และปีหมาจะเป็นปีหมาที่สดใสและเลี้ยงเชื่อง หรือจะเป็นสุนัขบ้าที่นำพาความป่วยไข้ครั้งใหม่ คงเป็นบทสรุปในศักยภาพและความสามารถของรัฐไปในคราวเดียวกัน