วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐศาสตร์แห่งเทศกาล แรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทย?

เศรษฐศาสตร์แห่งเทศกาล แรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทย?

ความเป็นไปทางเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายปลายปี ดูจะดำเนินไปท่ามกลางกระแสข่าวดีที่เสริมสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง จากเหตุที่ในช่วงปลายปีเช่นว่านี้ มีกิจกรรมที่ส่งเสริมและกระตุ้นการจับจ่ายอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ออกพรรษา มาสู่ฤดูกฐิน เทศกาลกินเจ และไล่เรียงไปสู่ลอยกระทง ควบคู่กับกิจกรรมส่งเสริมการขาย ไม่ว่าจะเป็นมหกรรมหนังสือระดับชาติ (Book Expo 2017) ในช่วง 18-29 ตุลาคม และมอเตอร์เอ็กซ์โป 30 พฤศจิกายน ถึง 11 ธันวาคม ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นสภาวะทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยเลย

แม้ว่าบรรยากาศโดยทั่วไปของสังคมไทยจะยังอยู่ในความโศกเศร้าและโหยหาอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้กำหนดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หากแต่ในอีกมิติหนึ่ง คลื่นมหาชนที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นอานิสงส์ที่แผ่ซ่านครอบคลุมทุกแขนงธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่พักบริเวณโดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง ที่มีอัตราการจองห้องพักล่วงหน้าเต็มตั้งแต่ช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้แล้ว

ขณะเดียวกันการเดินทางของมหาชนผู้ภักดีจากทั่วทุกสารทิศที่เดินทางเข้ามาถวายสักการะอาลัย ได้หนุนนำภาคการขนส่งให้ดำเนินไปด้วยอัตราเร่งอย่างต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี ยังไม่นับรวมผลต่อเนื่องจากกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยหนุนนำการสะพัดของเงินตราทั้งโดยทางตรงและโดยอ้อมอีกนับประเมินมูลค่ามิได้

การกระจายรายรับรายได้จากกิจกรรมทางสังคมที่ดำเนินต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี ทำให้กลไกภาครัฐประวิงเวลาในการนำเสนอมาตรการใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเหตุที่เชื่อมั่นว่า กลไกและสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดำเนินอย่างเป็นธรรมชาตินี้จะมีแรงส่งที่มากเพียงพอให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีบรรลุสู่เป้าหมายที่กำหนดวางไว้ได้

ความมั่นใจของกลไกภาครัฐจากตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วงนี้ ซึ่งต่างประเมินสถานการณ์เชิงบวกต่อเนื่องนำไปสู่ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุน และกลายเป็นประกายความหวังให้รัฐเชื่อมั่นในทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ หากแต่ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าระบบการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาทั้งในมิติของสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าและการวางยุทธศาสตร์ระยะยาว ยังเป็นประเด็นที่สั่นคลอนและท้าทายศักยภาพการบริหารของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่อง และอาจทำให้ตัวเลขประมาณการที่มีแนวโน้มสดใส อาจไม่ปรากฏขึ้นจริงในระยะถัดไปจากนี้

ความคาดหมายที่เชื่อว่าภาคการส่งออกจะเติบโตและเป็นจักรกลที่ช่วยหนุนนำพัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วงปีที่กำลังจะมาถึง ยังผูกพันอยู่กับธุรกิจอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร ในขณะที่ภาวะน้ำท่วมนาแล้งกลายเป็นวัฏจักรที่ไร้ทิศทางการบริหารที่มีรูปธรรมในทางปฏิบัติ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้สินค้าส่งออกในกลุ่มนี้ขาดเสถียรภาพในเชิงปริมาณแล้ว ยังเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงราคาสำหรับการแข่งขันกับต่างประเทศอีกด้วย

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของกลไกภาครัฐในช่วงที่ผ่านมากลายเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดคำถามและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสำเร็จ-ล้มเหลวอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุถึงตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มมากขึ้นจากสาเหตุสินค้าการเกษตรราคาตกต่ำ ก่อนที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะต้องออกมาชี้แจงว่า NPL สินเชื่อทางการเกษตรของ ธ.ก.ส. มีลักษณะตามฤดูกาล ที่จะปรับขึ้นสูงในช่วงต้นฤดูการผลิตและลดต่ำลงในช่วงปลายฤดูการผลิต หลังจากเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ออกไป

ข้อเท็จจริงของวัฏจักรที่ว่านี้ ได้รับผลกระทบในช่วงต้นฤดูการผลิตที่เกษตรกรหลายพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ความไม่สามารถในการชำระหนี้ แม้ว่าในมุมมองของกลไกรัฐจะระบุว่า ธ.ก.ส. ได้เข้าไปช่วยเหลือและเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยค่าสินไหมทดแทนกรณีที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ทำประกันภัยนาข้าว หรือแม้กระทั่งการระบุว่า ธ.ก.ส. ได้กันสำรองเพื่อรองรับความเสียหายจากหนี้ NPL ดังกล่าวแล้ว

หากแต่ในด้านหนึ่งกรณีดังกล่าวได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า กลไกรัฐอาจไม่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจ แต่ประชาชนหรือเกษตรกรต่างหากที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางปัจจัยการผลิต ที่เกิดจากการไม่ได้รับผลเชิงบวกจากนโยบายที่ควรมีลักษณะป้องกันมากกว่าการตามแก้ปัญหา และยังสอดรับกับความกังวลใจว่าด้วยความผันผวนจากปัจจัยเหนือความคาดหมายจากปัญหาภัยธรรมชาติในอนาคตอีกด้วย

การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่เชื่อว่าสังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออก โดยสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อาจมีสถานะเป็นเพียงมายาภาพช่วงสั้นๆ หลังจากที่องค์การวิสาหกิจระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (International Enterprise Singapore) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลสิงคโปร์ ระบุในรายงานว่า ยอดส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน (Non-oil Domestic Export: NODX) ของสิงคโปร์ในเดือนกันยายนปรับตัวลดลง 1.1% จากผลของยอดการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลงมากถึง 7.9% หลังจากที่ในเดือนสิงหาคมสินค้ากลุ่มนี้ขยายตัวมากขึ้นถึง 20.8%

การแกว่งตัวของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีของสิงคโปร์ ในด้านหนึ่งสะท้อนความวูบไหวของสินค้าในกลุ่มนี้อย่างเด่นชัด และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันด้านนวัตกรรมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำหรับสิงคโปร์ที่ไม่มีภาคการเกษตรหรือมีภาคการเกษตรเป็นสัดส่วนที่น้อย อาจมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้พยายามระบุทิศทางการพัฒนาให้เป็นครัวแห่งโลก จากข้อเท็จจริงที่สังคมไทยยังเป็นสังคมเกษตรกรรมที่น่าจะต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารที่มีสถานะเป็นปัจจัยสี่ได้อย่างต่อเนื่อง หากดำเนินนโยบายและวางยุทธศาสตร์ในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง

เทศกาลและฤดูกาลที่ผันผ่านไปอาจช่วยกระตุ้นบรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอยในเชิงธุรกิจหลากหลาย หากแต่สำหรับผู้กำหนดและนำเสนอนโยบาย การคิดหวังให้ฤดูกาลต่างๆ ทำหน้าที่ในการนำพาดอกผลให้งอกเงย โดยปราศจากเข็มมุ่งในการพัฒนาหรือความสามารถในการเอาใจใส่ดูแล ก็คงไม่ต่างจากการรอคอยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกลไกธรรมชาติอย่างไร้การจัดการ ซึ่งบ่อยครั้งภัยจากธรรมชาติอาจเป็นภัยคุกคามที่ยากจะฟื้นฟูสภาพให้กลับมาโดยง่าย แล้วก็คงถึงเวลาแห่งเทศกาลจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือบำบัด เป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด ท่ามกลางภาวะทางเศรษฐกิจ ที่ยังมองไม่เห็นโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองอย่างจริงจังเสียที

ใส่ความเห็น