วันพฤหัสบดี, กันยายน 12, 2024
Home > Cover Story > “SAWAD” พลิกสินเชื่อห้องแถว ลุย “สถาบันการเงินทางเลือก”

“SAWAD” พลิกสินเชื่อห้องแถว ลุย “สถาบันการเงินทางเลือก”

การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ของ “กลุ่มศรีสวัสดิ์” ในรูปแบบโฮลดิ้งคอมปะนีและจัดตั้งกลุ่มธุรกิจการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกระดับจากสินเชื่อห้องแถวหรือ “ร้านสะดวกซื้อทางการเงิน” เป็น “สถาบันการเงินทางเลือก” แบบครบวงจร สะท้อนการแข่งขันที่ร้อนแรงในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและมูลค่าเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

ธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปรียบเทียบว่า ถ้าดูตัวเลขจำนวนรถยนต์ทุกประเภทที่จดทะเบียนในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 36 ล้านคัน แต่มีรถยนต์ที่ทำสัญญาเงินกู้กับเราแค่ 4 แสนกว่าคัน นั่นหมายถึงโอกาสการขยายตลาดอีกหลายเท่าตัว

ทั้งนี้ ระยะเวลากว่า 38 ปี นับตั้งแต่ ฉัตรชัย แก้วบุตตา ตัดสินใจเปิดธุรกิจปล่อยเงินกู้ด้วยวิธีจำนำทะเบียนรถเป็นหลักประกัน เริ่มจาก “บริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์” ให้บริการสินเชื่อในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยใช้วิธีเดินสายไปยังพื้นที่ชุมชนต่างๆ ตั้งสำนักงานห้องแถวเจาะถึงกลุ่มลูกค้า อาศัยจุดขายเรื่องการจัดระบบการให้สินเชื่อ มีหลักฐานสัญญาชัดเจน และกลยุทธ์สำคัญ คือ เจรจาผ่อนผันการชำระได้

เพียงไม่กี่ปี ศรีสวัสดิ์เติบโตอย่างรวดเร็วและปูพรมสาขาทั่วประเทศ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่ผู้เล่นรายใหญ่และกลุ่มแบงก์พาณิชย์แห่เข้ามาช่วงชิงตลาด “สินเชื่อรถแลกเงิน” บวกกับเจอวิกฤตการณ์ทางการเงินหลายครั้ง ทำให้ฉัตรชัยต้องปรับโครงสร้างธุรกิจหลายรอบ พร้อมๆ กับดึงลูกสาว 2 คน คือ ดวงใจและธิดา แก้วบุตตา เข้ามารับไม้ต่อลุยธุรกิจที่ต้องการภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่มากขึ้น

ล่าสุด กลุ่มศรีสวัสดิ์ยกเครื่องและวางแผนการใหญ่อีกครั้ง หลังเทกโอเวอร์กิจการบริษัทเงินทุน (บง.) กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) หรือ “บีฟิท” โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัทโฮลดิ้ง ชื่อ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และใช้ชื่อย่อหุ้น SAWAD ในการซื้อขายในตลาดหุ้นเช่นเดิม

ภายใต้อาณาจักร “SAWAD” มีบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท เงินสดทันใจ จํากัด ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันและนาโนไฟแนนซ์, บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอสดับบลิวพี จํากัด บริการรับจ้างติดตามหนี้และรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินมาบริหาร, บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนลโฮลดิ้ง จํากัด ดําเนินธุรกิจลงทุนในกิจการอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ, บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จํากัด ให้บริการรับจ้างตรวจสอบ ติดตามและเร่งรัดหนี้สิน และ บง.ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อจาก “บีฟิท” โดยอยู่ระหว่างขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจัดตั้งกลุ่มธุรกิจการเงินเป็นสถาบันการเงินทางเลือกใหม่ที่ให้เงินกู้แก่คนในชุมชนที่ต้องการใช้เงินด่วนภายใต้การกำกับของ ธปท.

นอกจากนี้ ยังมี บริษัท เอสดับบลิวพี เซอร์วิสเซส จํากัด ให้บริการด้านการบริหารจัดการและที่ปรึกษาด้านการจัดการระบบสินเชื่อรายย่อยและการผ่อนชําระให้บริษัทอื่นในประเทศกลุ่มอาเซียน โดยก่อนหน้านี้จัดตั้งบริษัทสาขาในเวียดนามและลาว รวมทั้งเตรียมรุกตลาดเปิดบริษัทสาขาในเมียนมาร์และอินโดนีเซีย

ธิดากล่าวว่า บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จํากัด จะรับโอนสินทรัพย์ไมโครไฟแนนซ์ทั้งหมด จาก SAWAD ไปดำเนินการ ส่วนบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันและนาโนไฟแนนซ์

ขณะที่ บง.ศรีสวัสดิ์ ซึ่งจะเป็นตัวจักรสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทั้งการขยายสินเชื่อใหม่ ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย อาชีพอิสระที่มีความต้องการใช้เงินด่วน แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่อนุมัติปล่อยกู้ หรือกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก ที่ต้องการเงินหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางที่อยู่ระหว่างรอธนาคารพาณิชย์อนุมัติสินเชื่อที่ต้องการสภาพคล่องไปขยายธุรกิจ และยังมีสินเชื่ออเนกประสงค์ สำหรับคนในชุมชนเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน หรือสินเชื่อส่วนบุคคล

ขณะเดียวกัน มีบริการรับฝากเงินในรูปแบบตั๋วเงินฝาก โดยเวลานี้เปิดรับฝากเงินเพียงแห่งเดียว ณ สำนักงานของ บง.ศรีสวัสดิ์ ถนนสาทร และอยู่ระหว่างรอ ธปท. อนุมัติออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบเงินฝากระยะยาว รูปแบบ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน เน้นเจาะกลุ่มคนมีรายได้ระดับสูง เนื่องจากกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 6 เดือน เฉลี่ยขั้นต่ำ 1.45% สำหรับบุคคลธรรมดาและ 1.35% สำหรับนิติบุคคล ถ้าเงินฝากมากกว่า 10ล้านบาทขึ้นไป ดอกเบี้ยเฉลี่ยขั้นต่ำ1.55% สำหรับบุคคลธรรมดาและ1.45% สำหรับนิติบุคคล ขณะที่ดอกเบี้ย 16-18เดือนเฉลี่ยขั้นต่ำ 1.70%

“หลังเงินทุนศรีสวัสดิ์เป็นสถาบันการเงินทางเลือกใหม่ บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้ขยายตัวร้อยละ 20-30 แม้ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวถึง 50% เพราะเราตั้งเป้าแบบ Conservative ระมัดระวังในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ อย่างปีก่อน บริษัทตั้งเป้า 20-30% แต่สามารถเติบโตถึง 50% เนื่องจากตลาดมีความต้องการเงินด่วนสูงมาก หรือมียอดสินเชื่อใหม่ 18,000 ล้านบาท จากยอดลูกค้าราว 400,000 ราย ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 20,000-25,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 2-3 ล้านรายภายใน 2-3 ปี รวมทั้งวางแผนขยายสาขาเพิ่มจาก 2,300 สาขา เป็น 3,500 สาขา ภายใน 3-5 ปี เรียกว่า มีสาขาอยู่ข้างๆ บ้านลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเกือบทุกพื้นที่”

แหล่งข่าวในวงการตลาดสินเชื่อระบุว่า มีการประเมินความต้องการกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีความต้องการเงินด่วนไม่ต่ำกว่า 18-20 ล้านคน ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายหันมารุกตลาดสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อทะเบียนรถ หรือ “รถแลกเงิน” แบ่งหลักๆ 2 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก ผู้ประกอบการที่เน้นกลุ่มลูกค้าระดับ A ถึง B- มีรายได้ประจํา เช่น พนักงานบริษัท ข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทในเครือธนาคารพาณิชย์ เช่น กรุงศรี ออโต้ (Car4Cash) ธนาคารทิสโก้ (TISCO Auto Cash)ธนาคารธนชาต (รถแลกเงิน หรือ Cash Your Car) ธนาคารกสิกรไทย (K-Car to Cash) ธนาคารไทยพาณิชย์ (My Car My Cash) และกรุงไทยธุรกิจลิสซิ่ง (KTBL Car Convenience Cash)

ส่วนกลุ่มที่ 2 เน้นกลุ่มลูกค้าระดับ B- ในต่างจังหวัด เช่น ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ลูกจ้างโรงงาน ลูกจ้างทั่วไป กลุ่มเกษตรกร กลุ่มลูกค้าระดับล่าง เช่น บริษัท เงินติดล้อ จํากัด (“เงินติดล้อ”) บริษัท จี แคปปิตอล จํากัด (มหาชน) (“จีแคปปิตอล”) บริษัท เมืองไทยลิสซิ่งจํากัด (“เมืองไทย ลิสซิ่ง”) บริษัท นิ่ม ซี่ เส็ง ลิสซิ่ง จํากัด (“นิ่ม ซี่ เส็ง ลิสซิ่ง”) โดยเน้นการพิจารณาวงเงินสินเชื่อจากฐานข้อมูลของลูกค้าในพื้นที่ การตรวจสอบข้อมูลของลูกค้ายังสถานที่จริงโดยพนักงานสาขาที่มีความคุ้นเคยกับชุมชน ประกอบกับเอกสารทางการเงิน นอกจากนั้นยังให้บริการสินเชื่อกับหลักประกันหลายประเภท เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถเพื่อใช้ในการเกษตร โฉนดที่ดิน

หากเปรียบเทียบทั้งสองกลุ่ม ผู้ประกอบการในกลุ่มแรกเน้นการอนุมัติสินเชื่อ โดยยึดเอกสารทางการเงินเป็นหลัก เน้นลูกค้าที่มีประวัติทางการเงินดี ซึ่งพบว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการระมัดระวังเรื่องการปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ส่งผลให้มีลูกค้าจำนวนมากถูกปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อและหันไปใช้บริการสินเชื่อของกลุ่มที่ 2 ซึ่งไม่เน้นการตรวจสอบเอกสารทางการเงินและยังได้ผลบวกจากมาตรการกวาดล้างเงินกู้นอกระบบของรัฐบาล

ที่สำคัญ กลุ่มศรีสวัสดิ์จะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจากมีเงินทุนอีกส่วนจากธุรกิจการรับฝากเงินและสามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างครบวงจร ทั้งตลาดสินเชื่อและตลาดเงินฝาก

ธิดากล่าวว่า กลุ่มลูกค้าของศรีสวัสดิ์ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยระดับล่างกับอีกส่วน คือ กลุ่มที่ต้องการสร้างประวัติทางการเงิน เพื่อกลับไปขอกู้แบงก์พาณิชย์ เพราะการกู้สินเชื่อทั้งมีและไม่มีหลักประกันกับศรีสวัสดิ์ ซึ่งไม่เน้นการตรวจสอบเอกสารทางการเงินหรือเครดิตบูโร และยืดหยุ่นเรื่องการชำระค่างวด ลูกค้าสามารถฟื้นฟูเครดิตตัวเอง ตรงนี้ถือเป็นจุดขายและจุดแข็งที่ดึงดูดให้ลูกค้าหันมาใช้บริการสินเชื่อเงินด่วนของบริษัทจำนวนมาก

นอกจากนี้ ศรีสวัสดิ์ยังพุ่งเป้าหมายไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีความต้องการเงินด่วนไม่ต่างจากลูกค้าคนไทย ตลาดสินเชื่อมีอัตราเติบโตสูง โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์และรถยนต์การเกษตร ล่าสุด เตรียมแผนเปิดสาขาใน สปป.ลาวอีก 2-3 สาขา และเวียดนามจะเปิดครบ 10 สาขาภายในสิ้นปีนี้ ส่วนที่พม่าจะเปิดสาขาครบ 8 สาขา

จาก “ร้านสะดวกซื้อทางการเงิน” สู่ “สถาบันการเงินทางเลือกใหม่” ภายใต้แผนการใหญ่ของเจนเนเรชั่นที่ 2 ซึ่ง “ดวงใจ” ล่าสุดโยกไปนั่งตำแหน่งซีอีโอ บง.ศรีสวัสดิ์ เปิดทางให้ “ธิดา” ลุยงานศรีสวัสดิ์คอร์ปอเรชั่นอย่างเต็มที่ ทั้งสองคนวางแผนอีกหลายโปรเจกต์ใหญ่ ทั้งการขออนุมัติทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ การขอใบอนุญาตเกี่ยวกับเคาน์เตอร์เซอร์วิส และอีไฟแนนซ์ ธุรกรรมโอนเงินผ่านระบบ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนสาขา

ทั้งหมดดูเหมือนจะปูทางสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ การยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์อีกแห่งของประเทศไทย

ใส่ความเห็น