วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > ศึกชิงจ้าวเวหา AirAsia ต้นแบบการเติบโต?

ศึกชิงจ้าวเวหา AirAsia ต้นแบบการเติบโต?

 
การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ เมื่อช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน ระหว่างควีนส์ปาร์คเรนเจอร์กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แม้ผลออกมาจะเสมอกันไปอย่างสนุกด้วยสกอร์ 2:2 แต่การแข่งขันในแวดวงธุรกิจสายการบิน ที่ทั้ง AirAsia และ Etihad ที่ต่างเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของทีมฟุตบอลชั้นนำทั้งสองแห่งนี้ ดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น
 
ความเป็นจริงด้านหนึ่งของการแข่งขันในเกมพรีเมียร์ลีกและธุรกิจการบินก็คือ ทั้งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ Etihad ไม่ใช่คู่ต่อกรในระดับเดียวกับควีนส์ปาร์คเรนเจอร์ และ AirAsia แต่อย่างใด หากแต่ในสังเวียนของการแข่งขันที่ไม่มีใครยอมใครนี้ เป้าหมายคือการได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าพึงใจต่างหาก
 
AirAsia เปิดตัวและเริ่มทำการบินในฐานะสายการบินราคาประหยัด เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 1996 หรือเมื่อ 18 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่า แม้จะเคลื่อนผ่านมรสุมหลายครั้งแต่ AirAsia ก็สามารถทะยานผ่านอุปสรรคและเติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ชั้นนำของทั้ง ASEAN และ Asia ไปแล้ว
 
ความสำเร็จของ AirAsia ในด้านหนึ่งอยู่ที่การวางยุทธศาสตร์และตำแหน่งทางธุรกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะการยึดมั่นใน “low cost” ซึ่งทำให้การบริหารและพัฒนาองค์กรดำเนินไปอย่างรัดกุม ทั้งในมิติของการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และการใช้เครื่องบินรุ่นเดียวประจำการในฝูงบิน เพื่อลดต้นทุนการซ่อมบำรุงและเกิดความสะดวกในการให้บริการ
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ แม้ว่าทุกประเทศในภูมิภาค ASEAN จะมีผู้ประกอบการสายการบินหลากหลาย และมีสายการบินแห่งชาติหรือ flag carrier ที่นำพาความภาคภูมิใจของแต่ละประเทศลอยล่องเหนือน่านฟ้า แต่ชื่อของ AirAsia กำลังโดดเด่นอยู่เหนือสายการบินแห่งชาติอย่าง Malaysia Airline ไปแล้ว
 
Tony Fernandes ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการแปลงสภาพของ AirAsia จากสายการบินที่ขาดทุนย่อยยับในปี 2001 ให้สามารถบันทึกผลประกอบการกำไรได้ภายใน 1 ปี แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับการที่เขาเป็นผู้ผลักดันให้รัฐบาลมาเลเซียดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการบินกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหมายถึงโอกาสในการเพิ่มจุดหมายปลายทางและสิทธิการลงจอดของ AirAsia 
 
ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดสายการบิน low cost ของผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบิน low cost ที่จัดตั้งโดยสายการบินที่มีฐานะเป็น flag carrier ของแต่ละชาติด้วย
 
การประชาสัมพันธ์ของ AirAsia ในช่วงที่ผ่านมาได้ข้ามผ่านบริบทของการมุ่งเน้นไปที่ค่าโดยสารราคาต่ำที่ดำเนินต่อเนื่องมาในช่วงก่อน ไปสู่การระบุถึงการเป็น ASEAN Airline ที่พร้อมจะนำพาผู้โดยสารจากทุกมุมโลกเดินทางเข้าสู่ภูมิภาคนี้
 
สอดรับกับข้อความในwebsite ของ AirAsia ที่นอกจากจะบอกเล่าความเป็นมาและเป็นไปของสายการบินแห่งนี้แล้ว ยังได้ระบุถึงการพัฒนาไปสู่การเป็น ASEAN Brand ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรแห่งนี้ไว้อย่างชัดเจน
 
บทบาทของ Air Asia ในห้วงเวลานับจากนี้ จึงไม่อาจประเมินว่าเป็นเพียงสายการบินต้นทุนต่ำแต่เพียงลำพัง หากแต่บางทีภายใต้กรอบโครงความร่วมมือระดับภูมิภาค AirAsia กำลังไต่ระดับขึ้นสู่การเป็น flag carrier ของ ASEAN ทั้งระบบ
 
กลไกสำคัญที่ทำให้ AirAsia แตกต่างและไปได้ไกลกว่าสายการบินราคาประหยัดแห่งอื่นๆ ในด้านหนึ่งอยู่ที่จุดเริ่มต้นของความคิดที่จะดำเนินธุรกิจ เนื่องเพราะ AirAsia ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้วัตถุประสงค์ของการเป็นสายการบิน low cost ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น แตกต่างจากสายการบินราคาประหยัดแห่งอื่นที่ถูกจัดตั้งขึ้นในฐานะที่เป็นเพียงอีกหน่วยธุรกิจของสายการบินที่มีการให้บริการเต็มรูปแบบอยู่แล้ว
 
ซึ่งในกรณีนี้ดูเหมือนว่าในหลายกรณีจะได้สะท้อนภาพให้เป็นประจักษ์แล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเพราะขาดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการหยัดยืนเพื่อนำพาองค์กร
 
ยังไม่นับรวมประเด็นว่าด้วยสายการบินราคาประหยัดแห่งอื่นๆ มีสถานะเป็นบริษัทลูกของสายการบินแห่งชาติ ที่เมื่อเกิดปัญหาในเชิงธุรกิจกลับไม่สามารถแก้ไขด้วยมิติของการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ กลับประเมินว่าจะมีภาครัฐเข้ามาโอบอุ้มดูแล ซึ่งทำให้กระบวนการพัฒนาในเชิงธุรกิจของสายการบินราคาประหยัด อยู่ในภาวะชะงักงันและพร้อมจะถูกกลไกทางการเมืองแทรกแซงอยู่เสมออีกด้วย
 
จริงอยู่ที่ว่า AirAsia ในระยะเริ่มแรกก็มีสภาพไม่แตกต่างจากบริษัทที่ได้รับการฟูมฟักจากรัฐบาลมาเลเซียแห่งอื่นที่ปรากฏตัวขึ้นจำนวนมาก จากผลของมาตรการที่จะกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ตามแนวนโยบายของ Dr.Mahathir bin Mohamad นายกรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพลของมาเลเซียในขณะนั้น
 
แต่เส้นทางการเติบโตของ AirAsia มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อีกทั้งในความเป็นจริง AirAsia ต้องประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก ก่อนที่ Tony Fernandes ผู้ก่อตั้งบริษัท Tune Air Sdn. Bhd. จะเข้ามารับโอนและครอบครองกิจการของ Air Asia และพลิกฟื้น AirAsia จนสามารถสยายปีกแผ่กว้างออกไปอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
จุดแข็งอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ AirAsia มีท่วงทำนองที่ก้าวหน้าและสามารถเป็นผู้นำในตลาดสายการบินราคาประหยัดได้อย่างมั่นคงอยู่ที่ความสามารถในการสร้างตลาดใหม่ๆ ควบคู่กับทางเลือกที่หลากหลาย ซึ่งทำให้บริการของ AirAsia ตอบสนองกับความต้องการของผู้โดยสารได้ครอบคลุม และมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำตลาดอย่างโดดเด่น
 
จำนวนและรุ่นของเครื่องบินเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ AirAsia มีศักยภาพเหนือคู่แข่งขันในตลาดสายการบินราคาประหยัดอย่างเห็นได้ชัด โดย AirAsia เลือกที่จะใช้ Airbus A320-200 เป็นเครื่องบินหลักในการให้บริการ และมีเครื่องบินประจำการในฝูงบินรวมมากถึง 170 ลำ และอยู่ระหว่างการสั่งซื้อเพิ่มอีก 58 ลำ
 
นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวในอนาคตด้วยการสั่งซื้อ Airbus A320neo เพิ่มอีก 291 ลำ ซึ่งจะยิ่งทำให้ AirAsia หนีห่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไปไกลอีกพอสมควรเลยทีเดียว
 
หากกล่าวเฉพาะในกรณีของ Thai  AirAsia ซึ่งมีเครื่องบินประจำการในฝูงบินรวม 40 เครื่องในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับสายการบินราคาประหยัดรายอื่นๆ ที่ช่วงชิงน่านฟ้าอยู่ในเมืองไทย ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างในเชิงศักยภาพการแข่งขันที่ห่างกันมากขึ้นไปอีก
 
แม้น่านฟ้าจะไร้ขัดจำกัด และยังมีที่ว่างให้เติมเต็มอย่างกว้างขวาง แต่ในการแข่งขันที่กำลังบีบอัดและเขม็งเกลียวเพื่อความอยู่รอดในธุรกิจการบินนี้ AirAsia อาจกำลังจะสร้างปรากฏการณ์ที่เป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่สำหรับน่านฟ้า ASEAN ก็เป็นได้
 
Relate Story