วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > ภาคเกษตรวิกฤตหนัก ภัยแล้ง-ราคาตก ฉุดเศรษฐกิจไทย

ภาคเกษตรวิกฤตหนัก ภัยแล้ง-ราคาตก ฉุดเศรษฐกิจไทย

หลังจากกรมอุตุฯ ประกาศการเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าในช่วงเวลาดังกล่าวสถานการณ์ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในประเทศหลายระนาบ ดูจะร้อนระอุเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ทั้งสถานการณ์การเมืองที่ไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่นับวันกราฟการเติบโตจะค่อยๆ ไต่ลงอย่างไม่อาจต้านทาน ด้วยผลกระทบทั้งจากภายนอกประเทศและในประเทศ

อุณหภูมิในประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้แก่บรรดาเกษตรกรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่น้อย เพราะนั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า “ภัยแล้ง” ปีนี้เดินทางมาถึงเร็วกว่าปกติและอาจจะยาวนานขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นจากค่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส

การประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา นอกจากประชาชนต้องเตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแล้ว เกษตรกรจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตั้งรับเพื่อให้พร้อมกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ดูเหมือนจะกระหน่ำซ้ำเติมสภาพความแร้นแค้นให้หนักหน่วงขึ้น หากไร้ซึ่งความพร้อม

นอกเหนือไปจากสภาพอากาศที่เป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้น่าจะสร้างความวิตกกังวลให้ไม่น้อย เมื่อกรมชลประทานเปิดเผยรายงานสถานภาพน้ำในเขื่อนต่างๆ (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 13 มีนาคม 2562) ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศลดลง 13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเขื่อนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปริมาณน้ำน้อยเข้าขั้นวิกฤต คือ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ รนก. (ระดับน้ำเก็บกักของอ่างฯ) และเขื่อนในภาคกลาง ได้แก่ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา

ขณะที่เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย คือที่ระดับ 30-50 เปอร์เซ็นต์ รนก. ได้แก่ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนลำแซะ เขื่อนมูลบน เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำปาว เขื่อนแม่มอก เขื่อนแควน้อย และเขื่อนแม่กวง

แม้ตัวเลขปริมาณน้ำที่ใช้ได้ลดลงไปเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก หากแต่เมื่อพิจารณาด้วยความถี่ถ้วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่น้อยลงเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม นั่นมีความเป็นไปได้ว่าในเดือนเมษายนสถานการณ์น้ำอาจจะเข้าสู่วิกฤต ซึ่งไทยยังต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้งไปอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ฤดูแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2562 และอาจลากยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 อาจส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปรัง และอ้อยเป็นหลัก ซึ่งเป็นพืชที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อออกสู่ตลาดในช่วงนี้ จนอาจกระทบต่อรายได้เกษตรกรให้ต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น

ทั้งนี้ ผลกระทบจากภัยแล้งในปี 2562 อาจอยู่ในวงจำกัด ด้วยปัจจัยด้านพื้นที่และจำนวนพืชที่ได้รับผลกระทบโดยภัยแล้งที่เกิดขึ้นดังกล่าว นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตแล้ว ยังอาจไม่ได้เป็นปัจจัยผลักดันราคาข้าวและอ้อยได้อย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่อาจช่วยประคองราคาไว้ได้บ้างในระยะสั้น ท่ามกลางภาวะที่คู่แข่งในตลาดข้าวและอ้อยรุนแรงขึ้น ท้ายที่สุด อาจส่งผลต่อรายได้เกษตรกรในปี 2562 ให้ยังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.2-1.6 จากผลของแรงฉุดด้านผลผลิต

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวม 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP ทั้งนี้ หากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้ง และระดับความรุนแรงของฤดูแล้งอาจไม่เท่ากันในแต่ละเดือน

แน่นอนว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันเกิดจากภัยแล้งที่ศูนย์วิจัยกสิกรประเมินไว้นั้น จะมีมูลค่าเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ไทย เป็นตัวเลขที่ไม่น่ากังวล ทว่า จากการที่หลายสำนักประเมินและคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2562 ว่าจะขยายตัวในระดับต่ำเพียง 4.0 เปอร์เซ็นต์

ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในภาวะทรงตัว ซึ่งยังต้องอาศัยปัจจัยทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ แน่นอนว่าปัจจัยภายนอกนั้นไม่สามารถกำหนดหรือคาดหวังได้ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศน่าจะสามารถควบคุมได้ ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะสร้างให้เกิดเสถียรภาพได้มากน้อยแค่ไหน

นอกเหนือไปจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว ภัยแล้งที่ส่งสัญญาณเร็วกว่าทุกปี น่าจะสร้างผลกระทบทางตรงแก่เกษตรกร ที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว และอ้อย เพราะช่วงเวลาที่เกิดภาวะภัยแล้งนั้นเป็นช่วงเวลาสำหรับในการเก็บเกี่ยว

ปริมาณน้ำในเขื่อนสัมพันธ์กับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง ข้าว และอ้อย ทั้งนี้พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ขณะที่อ้อยพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมนั้น ตรงกับช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง ทั้งนี้ผลผลิตข้าวจากนาปรังนั้นมีสัดส่วน 23.5 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ และช่วงเวลาเก็บเกี่ยวดังกล่าวจะมีข้าวนาปรังเข้าสู่ตลาดมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังทั้งประเทศ นั่นอาจเกิดความเสียหายขึ้นมาได้ แต่ก็อาจจะเป็นตัวผลักดันให้ราคาข้าวในช่วงนี้สูงขึ้นได้

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าราคาข้าวอาจขยับขึ้นในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2562 แต่ภาพรวมราคาข้าวทั้งประเทศในปีนี้ยังหดตัว เพราะผลผลิตข้าวนาปรังมีเพียง 1 ใน 4 ของปริมาณข้าวทั้งประเทศ นั่นอาจไม่มีแรงหนุนเพียงพอในการผลักดันให้ภาพรวมราคาข้าวขยายตัวได้ในแดนบวก จึงคาดว่าราคาข้าวเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 10,650-10,740 บาทต่อตัน หรือหดตัวร้อยละ 0.8-1.7

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยการคาดการณ์แนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมเกษตร (GDP สินค้าเกษตร) ปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 จัดเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 เป็นผลจาก GDP ในสาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 2.7-3.7 จากปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4

ขณะที่แนวทางการรับมือภัยแล้งของกรมชลประทาน เบื้องต้น ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ขอให้เกษตรกรงดทำนาปรังต่อเนื่อง (นารอบที่ 3) เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตเพียงพอ

สำหรับแผนการใช้น้ำช่วงฤดูแล้ง กรมชลฯ ได้จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือประมาณ 27,492 ล้าน ลบ.ม. และจัดสรรน้ำในฤดูแล้งไปแล้วประมาณ 15,639 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 68 เปอร์เซ็นต์ ของแผนใช้น้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศ เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่ออุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ในเขตชลประทาน

ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,183 ล้าน ลบ.ม. หรือ 77 เปอร์เซ็นต์ของแผน คงเหลือปริมาณน้ำที่ใช้การได้ตามแผนฯ ประมาณ 1,817 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับภูมิสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีการนำเสนอทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการเป็น 3 แนวทางหลักได้แก่

1. โครงการระบบเก็บกักน้ำในถ้ำตามแนวพระราชดำริ (ถ้ำห้วยลึก) บ้านห้วยลึก หมู่ที่ 7 ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับกรมชลประทาน พิจารณาแนวทางเก็บกักน้ำในถ้ำ เพื่อให้สนับสนุนด้านการเกษตรในพื้นที่ที่ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกจัดสรรให้ราษฎรทำกิน โดยเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่อย่างคุ้มค่า

2. การบริหารจัดการน้ำด้วย “ธนาคารน้ำใต้ดิน” เป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม น้ำขัง โดยการขุดหลุมที่มีลักษณะก้นครก เพื่อจัดกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาช่วยฤดูฝนลงสู่ใต้ดิน โดยเป็นการกักเก็บน้ำ รักษาความชุ่มชื้นให้ผิวดินที่แห้งแล้ง ทำให้ต้นไม้บริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีฝนตกหนักก็มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใต้ดิน เหมือนเป็นการฝากน้ำไว้แล้วค่อยถอน (สูบ) เอามาใช้ในช่วงหน้าแล้ง

3. การออกแบบการจัดการน้ำตามภูมิสังคม โดยมีการยกตัวอย่าง “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบที่ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่เกษตรให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม

ภัยแล้งปีนี้ น่าจะถึงเวลาของการปรับตัวขนานใหญ่ของทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกรที่ต้องหันมาปลูกพืชน้ำน้อย กรมชลฯ ที่ต้องจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบ และแน่นอนที่สุดคือ คนไทยที่ต้องหันมาใส่ใจการอนุรักษ์ป่าอย่างจริงจัง เพราะความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติล้วนแล้วแต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ล้วนๆ

ใส่ความเห็น