Home > Green Bridge

“สะพานเขียว” สีเขียวเชื่อมย่าน สะพานเชื่อมเมือง

ทางเดินลอยฟ้าทาสีเขียวสบายตาขนาบข้างด้วยรั้วสแตนเลสทอดผ่านชุมชนเก่าแก่และศาสนสถานใจกลางย่านธุรกิจของเมือง เชื่อมสวนสาธารณะขนาดใหญ่สองแห่งเข้าไว้ด้วยกัน มีร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่เป็นระยะ และถูกโอบล้อมด้วยตึกสูงรอบด้าน ที่รู้จักกันในชื่อ “สะพานเขียว” กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนไม่น้อย ในฐานะพื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่หลายสถานที่ถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 การได้ออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านจึงกลายเป็นสิ่งที่ใครหลายคนถวิลหา “สะพานเขียว” อาจจะเป็นที่รู้จักของใครหลายคน แต่ในขณะเดียวกันใครอีกหลายคนยังคงไม่รู้ถึงการมีอยู่ของพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองแห่งนี้ แม้ว่าจะถูกสร้างมาตั้งแต่ปี 2543 แล้วก็ตาม สะพานเขียวเป็นโครงสร้างทางเดินและจักรยานยกระดับที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District – CBD) ของกรุงเทพฯ เชื่อมระหว่างสวนลุมพินีสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศและสวนเบญจกิติเข้าด้วยกัน โดยมีจุดเริ่มต้นที่สี่แยกสารสินพาดผ่านชุมชนโปโล ชุมชนโบสถ์มหาไถ่ และชุมชนร่วมฤดี แหล่งพักอาศัยของชาวบ้านหลายร้อยครัวเรือน คร่อมคลองไผ่สิงโต ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร ทอดยาวไปจนถึงปากซอยโรงงานยาสูบ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 1.3 กิโลเมตร นับเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนทั้งในเชิงของมิติเศรษฐกิจและสังคม และเป็นสกายวอล์กแห่งแรกๆ ของกรุงเทพฯ แต่ก่อนจะเป็นสะพานเขียวอย่างในทุกวันนี้ ในอดีตสะพานเขียวทำหน้าที่เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนที่ใช้เดินทางไปมาระหว่างแยกสารสินและซอยโรงงานยาสูบ และใช้เพื่อการออกกำลังกายของคนในพื้นที่บ้าง โดยมีการใช้งานพลุกพล่านเพียงช่วงเช้าและยามเย็น แต่แทบไร้การใช้งานในช่วงเวลากลางวัน เพราะความร้อนระอุของเมือง รวมถึงโครงสร้างของสะพานที่ไร้ที่กันแดดกันฝน และร่มเงาจากต้นไม้ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ไม่เอื้อกับการออกมาทำกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน เพราะตลอดเส้นทางกว่า 1.3 กิโลเมตร ค่อนข้างเปลี่ยว ไฟส่องสว่างมีไม่เพียงพอ เป็นแหล่งมั่วสุมและเอื้อต่อการเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ จึงยากที่จะปฏิเสธว่าสะพานเขียวเป็นพื้นที่อันตรายในภาพจำของใครหลายคน

Read More