วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Life > “สะพานเขียว” สีเขียวเชื่อมย่าน สะพานเชื่อมเมือง

“สะพานเขียว” สีเขียวเชื่อมย่าน สะพานเชื่อมเมือง

ทางเดินลอยฟ้าทาสีเขียวสบายตาขนาบข้างด้วยรั้วสแตนเลสทอดผ่านชุมชนเก่าแก่และศาสนสถานใจกลางย่านธุรกิจของเมือง เชื่อมสวนสาธารณะขนาดใหญ่สองแห่งเข้าไว้ด้วยกัน มีร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่เป็นระยะ และถูกโอบล้อมด้วยตึกสูงรอบด้าน ที่รู้จักกันในชื่อ “สะพานเขียว” กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนไม่น้อย ในฐานะพื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่หลายสถานที่ถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 การได้ออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านจึงกลายเป็นสิ่งที่ใครหลายคนถวิลหา

“สะพานเขียว” อาจจะเป็นที่รู้จักของใครหลายคน แต่ในขณะเดียวกันใครอีกหลายคนยังคงไม่รู้ถึงการมีอยู่ของพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองแห่งนี้ แม้ว่าจะถูกสร้างมาตั้งแต่ปี 2543 แล้วก็ตาม

สะพานเขียวเป็นโครงสร้างทางเดินและจักรยานยกระดับที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District – CBD) ของกรุงเทพฯ เชื่อมระหว่างสวนลุมพินีสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศและสวนเบญจกิติเข้าด้วยกัน โดยมีจุดเริ่มต้นที่สี่แยกสารสินพาดผ่านชุมชนโปโล ชุมชนโบสถ์มหาไถ่ และชุมชนร่วมฤดี แหล่งพักอาศัยของชาวบ้านหลายร้อยครัวเรือน คร่อมคลองไผ่สิงโต ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร ทอดยาวไปจนถึงปากซอยโรงงานยาสูบ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 1.3 กิโลเมตร นับเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนทั้งในเชิงของมิติเศรษฐกิจและสังคม และเป็นสกายวอล์กแห่งแรกๆ ของกรุงเทพฯ

แต่ก่อนจะเป็นสะพานเขียวอย่างในทุกวันนี้ ในอดีตสะพานเขียวทำหน้าที่เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนที่ใช้เดินทางไปมาระหว่างแยกสารสินและซอยโรงงานยาสูบ และใช้เพื่อการออกกำลังกายของคนในพื้นที่บ้าง โดยมีการใช้งานพลุกพล่านเพียงช่วงเช้าและยามเย็น แต่แทบไร้การใช้งานในช่วงเวลากลางวัน เพราะความร้อนระอุของเมือง รวมถึงโครงสร้างของสะพานที่ไร้ที่กันแดดกันฝน และร่มเงาจากต้นไม้ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ไม่เอื้อกับการออกมาทำกิจกรรมต่างๆ

อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน เพราะตลอดเส้นทางกว่า 1.3 กิโลเมตร ค่อนข้างเปลี่ยว ไฟส่องสว่างมีไม่เพียงพอ เป็นแหล่งมั่วสุมและเอื้อต่อการเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ จึงยากที่จะปฏิเสธว่าสะพานเขียวเป็นพื้นที่อันตรายในภาพจำของใครหลายคน ทำให้ที่ผ่านมามีคนรู้จักและใช้งานสะพานแห่งนี้น้อยกว่าที่ควร จนเกือบถูกทิ้งร้างไปในบางช่วง

ประกอบกับความทรุดโทรมทั้งพื้นผิวของสะพานเป็นหลุมเป็นบ่อ ราวสแตนเลสเสียหาย และไฟส่องสว่างที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามเวลาที่ผ่านมากว่า 20 ปี จึงทำให้เกิดโครงการฟื้นฟูสะพานเขียวให้กลับมามีสภาพที่สวยงามและสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

โดยในปี 2563 สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้รับอนุมัติจัดสรรงบประมาณปี 2562 จำนวน 39 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงสะพานเขียว ซ่อมแซมพื้นผิวและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ชำรุด เสริมความแข็งแรงให้โครงสร้าง ติดกล้อง CCTV เพิ่มความร่มรื่น สวยงาม สะดวก และปลอดภัย จนกลายเป็นสะพานเขียวโฉมใหม่ที่ดึงดูดให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้ามาทำความรู้จักกับพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองแห่งนี้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายสถานที่ถูกสั่งปิดและต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ทำให้ผู้คนถวิลหาชีวิตนอกบ้านมากขึ้น สะพานเขียวที่เคยเป็นที่รู้จักของคนเฉพาะกลุ่มจึงกลายเป็นที่รู้จักของคนในวงกว้าง

เราจึงเห็นภาพของผู้คนมากหน้าหลายตาทั้งคนในชุมชนและผู้มาเยือนต่างเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ที่สะพานเขียว ทั้งออกกำลังกาย วิ่ง ปั่นจักรยาน เดินเล่น พักผ่อน ไถ surf skate หรือกิจกรรมยอดฮิตอย่างโพสต์ท่าถ่ายรูปสวยๆ ที่หลายคนบอกว่าถ่ายออกมาแล้วเหมือนไปเดินเล่นอยู่ในญี่ปุ่นเสียจริงๆ

นอกจากนั้น เรายังเห็นป้ายโฆษณาอาหารเครื่องดื่มของชาวชุมชน บางบ้านปรับชั้นสองของบ้านที่ติดกับขอบสะพานเปิดเป็นร้านขายขนมเครื่องดื่มให้กับผู้มาเยือน สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดกรุงเทพมหานครยังได้ยื่นของบประมาณปี 2564 จำนวน 260 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์สะพานเขียว พร้อมขยายเส้นทางเพิ่มอีก 300 เมตร รวมเป็นระยะทาง 1.6 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565

โดยกรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) พร้อมภาคีวิชาชีพสถาปนิกอย่าง ATOM Design, Studio TAILA, Landscape Collaboration และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เดินหน้าออกแบบฟื้นฟูสะพานเขียวอีกครั้ง โดยยึดแนวคิด “สีเขียวเชื่อมย่าน สะพานเชื่อมเมือง” เชื่อมสวน ชุมชน และเมืองเข้าไว้ด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ The Sky Green Bridge เพิ่มความเขียวให้สะพานเขียวได้เขียวสมชื่อ ด้วยการเพิ่มพรรณไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศของกรุงเทพฯ เพิ่มทางลาดให้เหมาะกับการเดิน-วิ่ง-ปั่น ตามหลัก Universal design ที่ทุกคนสามารถใช้ได้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการติดตั้งอัฒจันทร์สำหรับชมทัศนียภาพของเมืองและศาสนสถานสำคัญอย่าง โบสถ์พระมหาไถ่ของชาวคริสต์ และมัสยิดอินโดนีเซียของชาวมุสลิมที่อยู่สองข้างทาง

The New City Landmarks สร้างแลนด์มาร์กใหม่ใน 3 จุดสำคัญของสะพานเขียว ได้แก่ บริเวณสะพานลอยข้ามแยกสารสิน ทางลอยฟ้าเหนือทางพิเศษมหานคร และสะพานลอยข้ามถนนรัชดาภิเษก ให้มีความสวยงามโดดเด่น มีโครงสร้างที่สามารถกันแดดกันฝนได้ และเน้นวัสดุโปร่งเพื่อให้ความรู้สึกสบายตาน่าใช้งาน พร้อมปรับพื้นที่ด้านล่างตัวสะพานจากเดิมที่เคยรกร้างไม่เป็นระเบียบให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

The Learning Wetland ออกแบบสะพานเขียวโซนคลองไผ่สิงโตให้เป็นสวนลอยน้ำแห่งการเรียนรู้เรื่องการบำบัดน้ำเสีย, The New Common Space เพิ่มพื้นที่ส่วนกลางในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ พลิกจุดอับสู่จุดทำกิจกรรม สามารถทำการค้าขายสร้างรายได้เข้าชุมชนได้ และ The Bridge of Light เสริมความปลอดภัยให้กับสะพานเขียวด้วยแสงสว่างในยามค่ำคืน

แต่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่คณะทำงานไม่ควรมองข้าม คือระยะห่างระหว่างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าบางช่วงของสะพานเขียวนั้นใกล้ชิดกับบ้านเรือนที่ขนาบข้างเป็นอย่างมาก ความรู้สึกถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวจากสายตาของผู้ที่สัญจรไปมาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย บางบ้านใช้วิธีติดเหล็กดัด หาวัสดุอะไรมากั้น หรือปิดตายหน้าต่างเพื่อบดบังสายตาของคนภายนอก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการออกแบบพื้นที่สาธารณะอันเป็นแหล่งรวมทุกความหลากหลายมาไว้ด้วยกัน การทำงานที่สอดประสานและรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่น่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างดี

และเมื่อโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สะพานเขียวแห่งนี้แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ นอกจากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ แล้ว “สะพานเขียว” แห่งนี้จะไม่เพียงทำหน้าที่เป็นเส้นทางสัญจรเท่านั้น แต่เป็นดั่งตัวเชื่อมคน ชุมชน เมือง และเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน

ใส่ความเห็น