วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Life > เวลาติดปีกบินจริงหรือ

เวลาติดปีกบินจริงหรือ

 
ประสบการณ์การท่องเที่ยวในวันหยุดที่ทำให้อิ่มเอมหัวใจ จากการได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้ชมสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามน่าสนใจ ได้เปิดหูเปิดตาเต็มที่ ทำให้คุณมักรู้สึกเสียดายเมื่อการท่องเที่ยวสิ้นสุดลง และคิดว่าเวลาแสนสุขนี้น้อยเกินไป แต่เมื่อกลับถึงบ้าน และคิดทบทวนถึงการท่องเที่ยวครั้งนี้ คุณกลับรู้สึกว่าช่วงเวลานั้นช่างยาวนานเสียจริง ทั้งที่จริงๆ แล้วคุณไปเพียงไม่กี่วัน
 
Claudia Hammond ผู้เขียนหนังสือ Time Warped: Unlocking the Mysteries of Time Perception และอาจารย์ผู้บรรยายวิชาจิตวิทยาชาวอังกฤษ ไขปริศนาแห่งความรู้สึกนี้ว่า เป็นประสบการณ์ “the holiday paradox” ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่อธิบายว่า ความรับรู้เกี่ยวกับเวลาของเราไม่เพียงถูกกำหนดด้วยประสบการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับวิธีที่สมองและร่างกายของเราตอบสนองต่อเวลาด้วย
 
ผลการวิจัยเกี่ยวกับเวลาชี้ว่า เราสามารถเรียนรู้การควบคุมเวลาให้ผ่านไปเร็วขึ้นหรือช้าลงด้วยซ้ำ
ความรับรู้ต่อเวลาของเรานั้นมากกว่า 60 วินาทีเป็นหนึ่งนาที และ 60 นาทีเป็นหนึ่งชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังทำอะไร อยู่ในสภาวะอารมณ์อะไร และเมื่อเติบโตขึ้น ประสบการณ์เกี่ยวกับเวลาของเราก็แตกต่างกันไปด้วยดังนี้
 
ความรู้สึกขัดแย้งเกี่ยวกับวันหยุด
จำวันแรกที่คุณขับรถไปที่ทำงานใหม่ซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่คุณไม่คุ้นเคยได้ไหม คุณต้องขับไปตามเส้นทางที่ไม่เคยไปมาก่อน จึงรู้สึกว่าต้องใช้เวลานานมากกว่าจะไปถึงที่หมาย แต่เดี๋ยวนี้คุณกลับรู้สึกว่าใช้เวลาเพียงชั่วพริบตาก็ถึงที่ทำงานแล้ว
 
ทำไมรึ
 
เพราะสมองของคุณรับรู้การพ้นผ่านของเวลาโดยอิงกับประสบการณ์ใหม่ๆ ความรับรู้ใหม่ๆ ต้องใช้พลังสมองมากขึ้น เพื่อให้เราพัฒนาความจำที่ถาวรและมีรายละเอียดมากกว่าความจำที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ซึ่งในกรณีหลังคุณจึงรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วกว่า เพราะสมองไม่ต้องตื่นตัวเรียนรู้หรือจดจำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย
 
ข้อเท็จจริงข้างต้นนำมาอธิบายปรากฏการณ์ “ความรู้สึกขัดแย้งเกี่ยวกับวันหยุด” หรือ “the holiday paradox” ได้เช่นกัน ในกรณีที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันจากวันเสาร์ถึงวันจันทร์ แล้วคุณอยู่กับบ้าน ทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ สลับกับการดูรายการโทรทัศน์ เวลาผ่านไปเร็วมากจนคุณรู้สึกว่า เผลอแป๊บเดียวก็ถึงวันอังคารต้องไปทำงานอีกแล้ว
 
แต่ถ้าคุณเดินทางท่องเที่ยว ประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้ความรับรู้เกี่ยวกับเวลาของคุณเปลี่ยนไป “คุณไปยังสถานที่ใหม่ และได้เที่ยวชมสิ่งใหม่ๆ ถึง 9 รายการในช่วงเช้า เมื่อหวนคิดกลับไป คุณจะรู้สึกว่า เช้าวันนั้นเวลาผ่านไปช้ากว่าปกติ” Hammond อธิบาย “ถ้าให้คุณจดรายการเกี่ยวกับกิจกรรมที่จำได้ในระหว่างวันหยุด อาจมีมากถึง 10–20 รายการ และคุณจำได้อย่างถาวรตลอดไปเสียด้วย”
 
 
นาทีระทึกขวัญ
ใครที่เคยมีประสบการณ์ “นาทีระทึกขวัญ” เช่น กระโดดบันจี้จัมพ์ ย่อมซาบซึ้งใจดีกับความรู้สึกที่ว่า นาทีระทึกขวัญนั้นดูเหมือนช่างยาวนานเหลือเกินจนไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร แม้เมื่อนำวิดีโอมาเปิดดูในภายหลัง คุณก็ยังรู้สึกว่ามันยาวนานกว่าปกติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
 
Hammond อธิบายว่า “ความกลัวที่ประทับความทรงจำอันโดดเด่นเป็นพิเศษให้กับสมองและความจำนี่เอง ที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้เราเกิดความรับรู้เกี่ยวกับเวลาที่บิดเบือนไปจากความจริง หลังผ่านพ้นเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความกดดัน เรามักจดจำและรำลึกถึงทุกรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เราเห็นและได้ยิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปเชื่องช้าเหลือเกิน”
 
ช่วงเวลาพิเศษ
ให้ตอบคำถามนี้ทันที: หนังสือเล่มโปรดของคุณชื่ออะไร
 
คำตอบของคุณมักเป็นหนังสือที่เคยอ่านช่วงอายุระหว่าง 15–25 ปี ซึ่งเป็นคำตอบในลักษณะเดียวกันสำหรับคำถามเกี่ยวกับช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด หรือทุกข์ที่สุด หรือภาพยนตร์เรื่องโปรด
 
ทั้งนี้ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เราพัฒนาความทรงจำส่วนใหญ่ที่สามารถจดจำได้ดีที่สุดขึ้นมา
 
เลื่อนวันประชุมเข้ามาหรือออกไป
คุณเป็นคนชอบวันจันทร์หรือวันศุกร์
 
ประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้เมื่อต้องสัมพันธ์กับเวลา เพราะมีคนสองประเภทคือ คนที่เชื่อว่าพวกเขาเคลื่อนที่ไปพร้อมกับเวลา อีกประเภทหนึ่งคือคนที่เชื่อว่า เวลาเป็นฝ่ายเคลื่อนเข้าหาพวกเขา
 
เพื่อให้เข้าใจประเด็นนี้แจ่มชัดขึ้น ศาสตราจารย์ Lera Boroditsky แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทดลองโดยตั้งคำถามกับนักศึกษากลุ่มตัวอย่างว่า “การประชุมที่จะมีขึ้นในวันพุธต้องเลื่อนไปอีกสองวัน พวกคุณคิดว่าการประชุมจะมีขึ้นในวันใด”
 
นักศึกษาที่ตอบว่าวันจันทร์หรือวันศุกร์มีจำนวนเท่ากัน ผู้ที่ตอบวันจันทร์มองว่า เวลาเป็นสายพานที่นำเอาอนาคตมาสู่พวกเขา ดังนั้น การเลื่อนวันประชุมออกไปจึงหมายถึงเลื่อนให้เร็วขึ้นสองวัน ขณะที่ผู้ตอบวันศุกร์รู้สึกว่า พวกเขากำลังเคลื่อนไปสู่อนาคตพร้อมๆ กับเวลา ดังนั้น การเลื่อนวันประชุมออกไปจึงหมายถึงเลื่อนจากกำหนดเดิมออกไปอีกสองวัน
 
 
 
มีเวลาไม่เพียงพอ
คุณเคยถูกบีบคั้นจากตารางเวลาที่แน่นเสียจนรู้สึกว่า เวลาติดปีกบินเร็วเกินไป และคุณไม่สามารถทำกิจกรรมทุกอย่างให้เสร็จสิ้นตามตารางเวลานั้นใช่หรือไม่ ถ้าคุณไม่เครียดกับสภาพนี้จนเกินไป คุณต้องยอมรับว่า วิถีชีวิตอย่างนี้น่าตื่นเต้นใช่หรือไม่ แต่ถ้าคุณซึมเศร้า ตกใจกลัว คุณจะอยู่ในสภาพเหมือนนักโทษที่รู้สึกว่า วันเวลาผ่านไปเชื่องช้าเหลือเกินกับการต้องจับเจ่าทำกิจกรรมซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย
 
Marion Noulhiane นักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องนี้จึงทดลองโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกต้องทำบททดสอบเพียงลำพังเพราะไม่มีใครชอบพวกเขา ผลคือ พวกเขาต้องทำงานอยู่กับตัวเองอย่างสิ้นหวัง และรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน พวกเขาคิดว่าใช้เวลาทำบททดสอบราว 63.6 วินาที ขณะที่กลุ่มที่มีเพื่อนๆ ชอบใช้เวลาเพียง 42.5 วินาที ทั้งที่เป็นบททดสอบมาตรฐานเดียวกันคือใช้เวลา 40 วินาที
 
 
 
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว