วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ท่า(ที)ใหม่ของสีหนุวิลล์ ตลาดใหม่ของ AEC

ท่า(ที)ใหม่ของสีหนุวิลล์ ตลาดใหม่ของ AEC

 
ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือน้ำลึกของประเทศไทยที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจแหลมฉบัง ซึ่งใช้เป็นท่าเทียบเรือในการขนส่งสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จนกลายเป็นต้นแบบให้กับท่าเรือสีหนุวิลล์ ท่าเรือน้ำลึกทางทะเลเพียงแห่งเดียวของประเทศกัมพูชา
 
กัมปงโสม ชื่อเดิมของสีหนุวิลล์ ซึ่งมีความหมายว่า เมืองที่ติดน้ำ กระทั่งมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น สีหนุวิลล์ หรือกรุงพระสีหนุ เมื่อมีการยกสถานะขึ้นเป็นจังหวัดในปี ค.ศ.2008 และเพื่อเทิดพระเกียรติแด่เจ้านโรดมสีหนุ ซึ่งพระองค์เคยใช้ชีวิตในช่วงทรงพระเยาว์ที่เมืองนี้ ด้วยความที่สีหนุวิลล์เป็นเมืองชายทะเลที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดของประเทศกัมพูชา รัฐบาลจึงต้องการจะพัฒนาให้สีหนุวิลล์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมอย่างเสียมราฐ กระทั่งความวุ่นวายภายในประเทศทำให้โครงการต้องชะงักไป กระทั่งสถานการณ์สงบ รัฐจึงเร่งจัดทำแผนแม่บทแบ่งเขตต่างๆ ในสีหนุวิลล์ เพื่อพัฒนาเมืองทั้งการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การค้า และการขนส่ง 
 
ท่าเรือสีหนุวิลล์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งมี Lou Kim Chhun ดำรงตำแหน่ง Chairman & CEO รับหน้าที่คุมพังงาของท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้ ด้วยระดับน้ำชายฝั่งที่มีความลึกตั้งแต่ระดับ 8.5 เมตร ถึง 13 เมตร ซึ่งสามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าและเรือเดินสมุทรได้ถึง 4 ลำพร้อมกัน ท่าเรือสีหนุวิลล์แห่งนี้จึงกลายเป็นความหวังทางธุรกิจและเป้าหมายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา ความต้องการที่จะให้ท่าเรือแห่งนี้เป็นมากกว่าฮับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมากกว่าการเป็นตัวสำรองในน่านน้ำทะเลอ่าวไทย
 
รัฐบาลกัมพูชาพัฒนาท่าเรือเพื่อใช้ในการรองรับเรือบรรทุกสินค้าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 สำหรับเฟสแรก เรื่อยมาจนกระทั่งเฟส 5 ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2012 กระนั้นการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือนี้ก็ยังมีปริมาณลดลง เมื่อผู้ประกอบการบางรายหันไปใช้ท่าเรือไก๋แม็บทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ในระหว่างนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือ (Sihanoukville Port Special Economic Zone) หรือ SPSEZ ยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนให้กู้ในการก่อสร้างและความช่วยเหลือทางวิชาการจากประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านการดำเนินงานของ Japan International Cooperation Agency (JICA) มูลค่า 33 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นมาถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้คำปรึกษากับโครงการ
 
เสถียรภาพทางการเมืองของกัมพูชาที่เริ่มมีความมั่นคงขึ้นตามลำดับ สีหนุวิลล์จึงปล่อยกลยุทธ์ใหม่อย่างท่าเรือเฟส 6 ให้ทอดสมอลงในทะเล ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน และบรรดาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ การขยับขยายของท่าเรืออาจจะไม่เห็นผลลัพธ์เร็วนัก CEO อย่าง Lou Kim Chhun จึงปั้นนโยบายที่เป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือ ด้วยข้อเสนอที่อาจจะสร้างความน่าสนใจให้นักธุรกิจจากต่างชาติหันมาลงทุนในภูมิภาคนี้
 
ปัจจัยที่ออกมากระตุ้นการลงทุนได้แก่ การที่นักลงทุนสามารถเช่าที่ดินเพื่อทดลองก่อนลงทุนจริงในระยะเวลา 2 ปี และสามารถเช่าที่ดินโรงงานได้ระยะยาวถึง 50 ปี หรือมาตรการลดภาษีในระยะเวลา 9 ปี ถึงขั้นยกเว้นภาษีนำเข้าและสินค้าส่งออกในบางรายการ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในเรื่องการออกวีซ่าถาวรให้แก่นักลงทุนและครอบครัวที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือ 
 
กระนั้นการที่กัมพูชามีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ในจังหวัดสตึงฮา ซึ่งทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าและกำลังไฟจากจังหวัดนี้เองที่ถูกส่งต่อมาระยะทาง 23 กิโลเมตร ยัง จ.สีหนุวิลล์ ซึ่งสามารถจ่ายไฟได้ทั้งเมือง ซึ่งดูจะไม่เป็นปัญหาถ้าสีหนุวิลล์จะเป็นมากกว่าเมืองท่องเที่ยว และแม้เมืองนั้นจะมีความต้องการกระแสไฟมากขึ้นอันเนื่องมาจากการดำเนินงานของท่าเรือและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งผู้บริหารของท่าเรือการันตีความพร้อมของกำลังการจ่ายไฟให้กับผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมหนัก
 
แม้จะมีนโยบายมากมายที่ออกมากระตุ้นการลงทุนในประเทศกัมพูชา แต่การจัดอันดับ “Doing Business Index” ของกลุ่มประเทศใน AEC ปี พ.ศ. 2557 ของธนาคารโลก กัมพูชาถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 8 เท่านั้น ซึ่งปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนคงหนีไม่พ้นเรื่องแรงงานที่เดินทางออกไปหางานยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย ที่มีอัตราค่าแรง 250-300 บาทต่อวัน  
 
แนวความคิดของ Lou Kim Chhun ที่ว่า ให้โรงงานย้ายเข้ามาแหล่งแรงงาน เพื่อป้องกันแรงงานย้ายออกนอกพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยกระตุ้นการลงทุนในเรื่องที่ว่านักลงทุนสามารถจ้างเจ้าหน้าที่จากประเทศของตนเองได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งต้องดูว่าอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจนทำให้เกิดความต้องการแรงงานจำนวนมากนั้นจะช่วยลดปัญหาแรงงานเดินทางออกไปนอกประเทศได้หรือไม่ หรือนโยบายนี้รัฐบาลกัมพูชาจำเป็นต้องแก้ปัญหาในเรื่องของอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ที่อาจจะจูงใจให้ผู้ใช้แรงงานปักหลักอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนได้ 
 
Single Window หรือพิธีการด้านศุลกากรตามมาตรฐานการดำเนินการเดียวกัน ภายใต้ข้อตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เพื่อให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสอดคล้อง สะดวกและปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน คือมาตรการที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือสีหนุวิลล์นำมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งผู้ประกอบการและทุกหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง
 
นอกเหนือไปทางเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือที่กัมพูชาได้รับการสนับสนุนในด้านเงินกู้และทางวิชาการจาก JICA (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น) แล้ว ห่างออกไป 12 กิโลเมตรยังเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษดิวตี้ฟรี ที่ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐบาลจีนถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
 
แม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือ แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษดิวตี้ฟรี กลับได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่าที่เขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากจีน เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างต่อหัวของแรงงานจีนหนึ่งคน จะสามารถนำมาจ่ายเป็นค่าจ้างให้แรงงานกัมพูชาได้ถึง 6 คน ดูจะเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลจีนและนักลงทุนหันมาให้ความสนใจ และขยายอำนาจทางการค้าการลงทุนมายังภูมิภาคนี้ 
 
รัฐบาลกัมพูชากำหนดให้เขตอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นเขตปลอดภาษีสำหรับการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก และเก็บภาษีเฉพาะสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ นโยบายเรื่องภาษีนี้จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานนับแสนๆ คน หากมีบริษัทผู้ผลิตหลายร้อยแห่งเข้าไปลงทุนดำเนินกิจการ  อีกทั้งยังมีการเปิดศูนย์ฝึกภาษาจีนและภาษาเขมร ภายในเขตเศรษฐกิจดิวตี้ฟรีเพื่อช่วยให้การสื่อสารระหว่างนายจ้างและลูกจ้างทำได้ง่ายขึ้น
 
ด้วยทำเลที่ตั้งของจังหวัดกำปงโสม หรือ สีหนุวิลล์ ดูจะได้เปรียบในหลายๆ ด้าน ทั้งยุทธศาสตร์ที่ติดกับทะเลจนกลายเป็นท่าเรือน้ำลึกในปัจจุบัน และการค้นพบน้ำมันดิบในแปลงสำรวจน่านน้ำอ่าวไทยของกัมพูชา ความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากทั้งจีนและญี่ปุ่นที่เข้ามาสนับสนุนทั้งเงินกู้และวิชาการ ประกอบกับเสถียรภาพทางการเมืองที่เริ่มนิ่ง ความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคที่เริ่มมีมากขึ้น กัมพูชาจึงกลายเป็นประเทศที่ใครต่อใครให้ความสนใจ นอกจากจะมองในแง่ของความน่าลงทุนแล้ว คงถึงเวลาที่ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านควรจะตระหนักรู้ และสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด เพราะเพียงการพัฒนาที่ย่ำอยู่กับที่ในเวลานี้คงจะไม่เพียงพอเสียแล้ว หากต้องการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่น่าลงทุน 
 
Relate Story