วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ชฎาทิพ จูตระกูล รู้ลึก คิดต่าง สร้างการใหญ่

ชฎาทิพ จูตระกูล รู้ลึก คิดต่าง สร้างการใหญ่

 
ในบรรดานักธุรกิจสุภาพสตรีระดับแนวหน้าของเมืองไทยชั่วโมงนี้ หากไม่กล่าวถึง “ชฎาทิพ จูตระกูล” ก็คงต้องถือว่าผิดธรรมเนียมและตกเทรนด์ไปโดยปริยาย ไม่ใช่เพราะเธอเพิ่งเปิดตัวโครงการใหม่ที่หวังสร้างให้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทยในนาม ICONSIAM แต่เพียงลำพังเท่านั้น
 
หากแต่เป็นเพราะแนวความคิดในการบริหารธุรกิจของ ชฎาทิพ จูตระกูล ที่เป็นกรอบโครงให้ศูนย์การค้าแต่ละแห่งในเครือสยามพิวรรธน์ ทั้ง สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และพาราไดซ์ พาร์ค ดำเนินไปท่ามกลางความไม่หยุดนิ่ง และมีพลวัตอยู่เสมอ
 
“เราอยู่กับที่ไม่ได้ เพราะเมื่อจุดยืนของเราตั้งแต่วันแรก คือการเป็น Trend Setter ฉะนั้นเราต้องทำตัวเองให้ Step ahead เพราะถ้าเราไม่ทำก็เท่ากับเรา Step behind” ชฎาทิพระบุ
 
ชฎาทิพเป็นลูกสาวคนเดียว และเป็นลูกคนสุดท้องของพลโทเฉลิมชัย และแพทย์หญิงลัดดา จารุวัสตร์ มีพี่ชายสองคนที่อายุห่างกันถึง 15 และ 10 ปี คือ ชาญชัย และชาลี เป็นลูกสาวที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางอ้อมอกพ่อแม่ ในขณะที่พี่ชายทั้งสองไปศึกษาต่อต่างประเทศตั้งแต่เล็ก
 
ชฎาทิพเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสยามเซ็นเตอร์และกลุ่มสยามพิวรรธน์เมื่อปี 2529 ตั้งแต่ที่ไม่เคยรู้ว่าธุรกิจศูนย์การค้าคืออะไร เป็น “โอกาส” ที่เฉลิมชัย จารุวัสตร์ ผู้เป็นบิดา หยิบยื่นให้ แม้ในขณะนั้นชฎาทิพอาจไม่ได้ต้องการนัก 
 
เธอเริ่มต้นเข้าไปทำงานเป็นพนักงานฝ่ายบัญชี ก่อนที่จะย้ายมาดูแลส่วนงานเซลส์โปรโมชั่น ซึ่งทำให้สามารถเรียนรู้และทำความรู้จักบริษัทได้อย่างถ่องแท้ รู้ถึงปัญหาของลูกค้าที่เดินเข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้า ในขณะเดียวกันก็เริ่มทำความรู้จักกับลูกค้าที่มาเช่าพื้นที่บริษัท เพื่อให้เข้าใจการทำธุรกิจของเขาเช่นเดียวกัน
 
ความสามารถในการแก้ปัญหาและกู้วิกฤตการณ์คืนมา ทำให้เธอได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ ในปี 2539 โดยตลอดระยะเวลา 18 ปีของการคุมบังเหียนของบริษัท ชฎาทิพต้องเผชิญกับ “มรสุมเศรษฐกิจ” และ “คลื่นยักษ์ของการแข่งขัน” นับครั้งไม่ถ้วน
 
นอกเหนือจากการประคับประคองสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้ ชฎาทิพยังเปิดตัวศูนย์การค้าแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่และเป็น “talk-of-the-town” เพิ่มขึ้นอีก ในนาม สยามพารากอน ด้วยการร่วมมือกับกลุ่มเดอะมอลล์ เมื่อปลายปี 2548 
 
ก่อนที่จะร่วมกับกลุ่ม MBK เข้าไปปรับปรุงห้างเก่า เสรีเซ็นเตอร์ ให้กลายเป็น “พาราไดซ์ พาร์ค” เพื่อสร้างสรรค์ “สวรรค์แห่งการชอปปิ้งของกรุงเทพฯ ย่านตะวันออก” เมื่อกลางปี 2552 โดยใช้เงินลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงเป็นการชิมลางนอกพื้นที่กลางใจเมืองเป็นครั้งแรกของกลุ่มสยามพิวรรธน์ แต่ยังถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถเป็นมืออาชีพในการบริหารศูนย์การค้าของชฎาทิพเป็นอย่างดีอีกด้วย
 
ความสำเร็จที่ว่านี้ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มซีพีสนใจเข้ามาร่วมจับมือกับสยามพิวรรธน์ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ขนาดยักษ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่าโครงการกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งจะถูกสร้างเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพื่อดึงดูดลูกค้าจากทั่วโลกและเพื่อรองรับการเปิดประตูอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ใน 2558
 
ความเป็นไปของอภิมหาโครงการที่ว่านี้ ในด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสไตล์การทำงานที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของ ชฎาทิพ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องรายละเอียดและลงลึกในทุกแง่มุมการทำงาน เพื่อให้โครงการนี้ประกอบส่วนเป็นรูปเป็นร่าง ในฐานะ World Class Destination อย่างที่เธอมุ่งหมายให้เป็น
 
“งานที่ทำเราต้องใส่ใจทุกรายละเอียด ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้ เราจะต้องลงลึก รู้ให้จริง ไม่ใช่ทำอะไรแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่อย่างงั้นงานเราจะออกมาไม่ดี” ชฎาทิพเคยระบุในการให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อไม่นานมานี้
 
รายละเอียดที่ว่านี้ หมายรวมถึงการพิจารณาในมิติของวัฒนธรรม ที่ต้องสอดรับกับภูมิทัศน์และความเป็นไปโดยรวมของสังคมไทย และมีอัตลักษณ์ที่เด่นชัด ไม่ใช่การลอกเลียนแบบหรือผลิตซ้ำงานจากแห่งอื่นมาจัดวางในพื้นที่ใหม่เท่านั้น
 
นี่เป็นเหตุให้การบริหารธุรกิจแบบชฎาทิพ นอกจากจะต้องละเอียด “รู้ลึก รู้จริง” แล้ว ยังต้อง “คิดต่าง” จากคนอื่น เพื่อหาคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ สำหรับการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ 
 
“เราจะต้องเป็นผู้กำหนดเทรนด์ตลาดเอง ต้องเป็นผู้สร้างตลาดใหม่ๆ ไม่ใช่ไปวิ่งตามตลาด” เป็นทัศนะที่เด่นชัดของชฎาทิพมาโดยตลอด
 
การมาถึงของ ICONSIAM บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้มีความน่าตื่นตาตื่นใจในมิติของการลงทุนและกลุ่มผู้ร่วมทุนเท่านั้น หากแต่ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาโครงการที่เรียกว่า Magnificent Location นี้ ได้เปิดพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ทั้งย่านเจริญนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งเหนือและฝั่งใต้ สีลม สาทร สำเพ็ง นราธิวาสราชนครินทร์ รวมทั้งฝั่งธนบุรีและราชพฤกษ์ให้เชื่อมโยงกันอย่างมีพลัง
 
“โครงการนี้เป็นโครงการในฝัน เลยก็ว่าได้ ซึ่งทำเลที่ตั้งของโครงการ ทำให้เราได้เปรียบจากสถานที่และคุณค่าของสถานที่ ที่มีเรื่องราว มีเรื่องเล่า โครงการนี้จะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย จะเป็นโครงการที่มีการกล่าวขวัญกันทั่วโลกแน่นอน โครงการนี้จะช่วยเสริมและเพิ่มโอกาสให้กรุงเทพมหานครแข็งแกร่ง เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและธุรกิจของภูมิภาคอาเซียน” ชฎาทิพย้ำ
 
เป็นแนวความคิดของนักธุรกิจหญิงที่ มุ่งหมาย “สร้างการใหญ่” จากท่วงทำนองของการ “รู้ลึก และคิดต่าง” ในการพัฒนา “แลนด์มาร์ค” แห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่จะสำเร็จลุล่วงสมดังเจตจำนง และไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ อนาคตจะเป็นเครื่องพิสูจน์
 
 
Relate Story