วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > น่านฟ้าใหม่ของ GMM “Content is King Again”

น่านฟ้าใหม่ของ GMM “Content is King Again”

 

กระแสความแรงของซีรีส์วัยรุ่น “ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น” เรียกได้ว่าไม่เป็นรอง “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” บางคนมองว่า กระแสแรงยิ่งกว่าละครภาคค่ำของช่องฟรีทีวีเสียอีก

เพราะขณะที่ซีรีส์สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ออกอากาศทางช่อง 3 ฟรีทีวี ซีรีส์ฮอร์โมนฯ ของ GTH ออกอากาศทางช่อง One ผ่านทางทีวีดาวเทียม GMM Z ของค่ายแกรมมี่เป็นหลัก ก่อนจะกลายเป็นกระแสบอกต่อจนผู้คนต้องไปตามดูทาง You Tube ส่งผลให้ยอดวิวทะลุหลักหลายล้านวิว

กระแสตอบรับดังกล่าวไม่เพียงทำให้ตัวช่อง ONE และแบรนด์ GMM Z เป็นที่รู้จักแก่ผู้ชมมากขึ้น แต่ยังส่งผลให้เหล่าแบรนด์สินค้าและมีเดียเอเยนซี่หันมาสนใจลงโฆษณาในแพลตฟอร์มใหม่ของแกรมมี่เพิ่มขึ้น นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า ถ้า “คอนเทนต์ดี” ไม่ว่าออกอากาศผ่านช่องทางไหนผู้ชมและสปอนเซอร์ก็จะตามไป

“…ใครที่มี ‘คอนเทนต์ที่ดี’ มากที่สุดถือเป็นผู้ชนะเพราะ Content is King”

เป็นคำกล่าวของ “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” หัวเรือใหญ่แห่งค่ายแกรมมี่ ที่ประกาศไว้เมื่อครั้งมีงานแถลงนโยบายของแกรมมี่ประจำปี 2547 แม้ว่าธีมงานในครั้งนั้นระบุว่า “Music never dies” แต่คอนเทนต์ที่ “อากู๋” หมายถึง กินความรวมถึงรายการโทรทัศน์, ละคร, และภาพยนตร์ของค่ายแกรมมี่ทั้งหมด

แม้เวลาจะผ่านไปนานนับ 10 ปี หากแต่ในงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง GMM Z และ AIS ในการนำ “คอนเทนต์” ประเภทรายการบันเทิงส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ที่จัดขึ้นเมื่อ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา “ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มงาน Platform GMM Z ยืนยันว่า ในยุคของ “สงครามแพลตฟอร์ม (Platform)” ในที่สุดแล้ว ผู้ที่มี “คอนเทนต์ดี” มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะอีกครั้ง

ด้วยรากฐานความเป็น Content Provider มากว่า 30 ปี ทำให้แกรมมี่ได้สั่งสมบุคลากรระดับยอดฝีมือไว้มากมายบวกกับประสบการณ์ในการผลิตคอนเทนต์ดีๆ อีกมหาศาล แต่ด้วยข้อจำกัดของแพลตฟอร์ม หรือช่องทางนำเสนอที่มีเพียงฟรีทีวี 6 ช่อง ทำให้คอนเทนต์สร้างสรรค์จำนวนมากไม่ได้ถูกนำเสนอ

“สมัยก่อนช่องทางการนำเสนอไปสู่ผู้บริโภคมีน้อย ดังนั้นเฉพาะคอนเทนต์ที่ดีจึงจะมีสลอต (slot) ออกอากาศได้ ฉะนั้น Content is King แต่ยุคหลังมีทั้งยูทูป, อินเทอร์เน็ต, ดาวเทียม, 3G ฯลฯ แพลตฟอร์มมีมากขึ้น มันก็ลดความสำคัญของคอนเทนต์ลงไปบ้าง แต่วันนี้ เมื่อทุกคนพยายามเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มกันหมด สงครามแพลตฟอร์มเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะชนะกันในสงครามนี้คือ คอนเทนต์ ฉะนั้น “Content is King Again” เพราะทุกคนต้องกลับมาให้ความสำคัญกับคอนเทนต์อีกครั้ง” ฟ้าใหม่อรรถาธิบาย

ทันทีที่ “ผู้บริหารมืออาชีพ” อย่างธนา เธียรอัจฉริยะ ประกาศถอนตัวจาก GMM Z หลังจากถูกอุตสาหกรรมทีวีดาวเทียม “รับน้อง” ค่อนข้างแรง ไพบูลย์ใช้โอกาสการแถลงประกาศทิศทางธุรกิจของ GMM Z ที่จัดขึ้นในธีม “GMM Z Revolution 2013” เปิดตัวผู้บริหารคนใหม่แห่ง GMM Z คือ ลูกชายทั้ง 2 คน ได้แก่ “ฟ้าใหม่” และ “ระฟ้า” โดยคนหลังเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มงาน Content Management ซึ่งกล่าวได้ว่า ทั้งสองหนุ่มรับบทบาทสำคัญและหนักหนาพอกัน กับภารกิจสานฝันของผู้เป็นพ่อให้เป็นจริง 

“ชีวิตของเราที่ผ่านมาแขวนไว้กับความพึงพอใจและไม่พึงพอใจ ในการต่อสัญญากับเจ้าของสื่อแบบปีต่อปีมาตลอด ผมใฝ่ฝันอยากจะทำสถานีโทรทัศน์ (ฟรีทีวี) ของตัวเองมากว่า 15 ปี และควรจะได้ทำธุรกิจบรอดแคสต์ตั้งแต่อายุกว่า 40 ปี แต่ต้องรอจนอายุกว่า 60 ปี” อากู๋กล่าว 

ดังนั้น เมื่อกฎหมายเปิดโอกาสให้กิจการไม่ใช่คลื่นความถี่ ทั้งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม สามารถดำเนินกิจการได้ แกรมมี่จึงเริ่มขยายธุรกิจสู่กิจการ “ทีวีดาวเทียม” โดยเมื่อ 2 ปีก่อน แกรมมี่ได้จับมือกับ PSI ในการทำทีวีดาวเทียม โดยที่แกรมมี่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ป้อนเข้าสู่แพลตฟอร์มของ PSI

กระทั่งตลาดโตขึ้น บางแพลตฟอร์มเริ่มเก็บเงินค่าเรียงช่อง (ช่องหมายเลขแรกๆ จะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงกว่า) แกรมมี่ในฐานะ Content Provider จึงต้องหาลู่ทางสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง ด้วยการลงทุนสร้างแพลตฟอร์มหรือ “ท่อส่ง” สำหรับคอนเทนต์ของตัวเอง จนกลายมาเป็น One Sky ในปี 2554 ก่อนจะรีแบรนด์เป็น “GMM Z”

GMM Z เปิดตัวและแจ้งเกิดในปีที่ผ่านมาด้วยคอนเทนต์กีฬา ที่ติดตามมาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ซึ่งแม้จะทำให้แกรมมี่ขายกล่องรับสัญญาณ GMM Z ได้ถึง 1.5 ล้านกล่อง แต่หลังจากหมดฤดูกาลฟุตบอลยูโร ดูเหมือน GMM Z ยังไม่มีคอนเทนต์ออกมาสร้างความตื่นเต้นให้ผู้ชมได้เท่าที่ควร

ด้วยเหตุนี้ อากู๋จึงต้องจัดทัพใหม่ด้วยการดึง “4 ขุนพล” ได้แก่ สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา จากค่ายเอไทม์, ถกลเกียรติ วีรวรรณ จากค่ายซีนาริโอ, จินา โอสถศิลป์ จาก GTH และสถาพร พานิชรักษาพงศ์ มาร่วมบริหาร หลังการจัดทัพไม่นานจึงได้ซีรีส์ฮอร์โมนฯ ออกมา

นอกจากช่อง One ทีวีดาวเทียมของแกรมมี่ยังมีช่องดังซึ่งต่อยอดมาจาก “คอนเทนต์” ที่เป็นต้นทุนเดิมอีกหลายช่อง อาทิ ทั้ง Acts Channel และ Green Channel เป็นต้น พร้อมกับแว่วมาว่าจะมีการนำเอาละครซิทคอมเรตติ้งดีอย่าง “เป็นต่อ” มาต่อยอด รวมถึงเอาหนังดังของค่าย GTH มาสร้างภาคต่อฉายเฉพาะช่องรายการของ GMM Z เท่านั้น

ฟ้าใหม่มองว่า ปี 2555 ถือเป็นปีแนะนำตัวของ GMM Z แต่สำหรับปีนี้ถือเป็นปีสำคัญ เพราะ GMM Z จะเริ่มเดินหน้าลุยตลาด “เพย์ทีวี (Pay TV)” อย่างเต็มที่ด้วยการเปิดให้บริการช่องรายการใหม่ภายใต้ชื่อ GMM Z Pay TV เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยในเดือนสิงหาคม-กันยายน GMM Z น่าจะได้นำคอนเทนต์ระดับโลกจากค่าย “FOX” กว่า 30 ช่อง เข้ามาร่วมทัพเพย์ทีวี ซึ่งแกรมมี่ต้องทุ่มเงินซื้อคอนเทนต์นี้ไปร่วม 2 พันล้านบาท

เพราะเชื่อว่า “คอนเทนต์คือหัวใจของการขับเคลื่อนเพย์ทีวี” แกรมมี่จึงได้เตรียมงบก้อนโตอีกก้อนไว้เพื่อประมูลคอนเทนต์กีฬาดัง 2 รายการ ได้แก่ ฟุตบอลยูโร 2016 และไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาลล่าสุด

ฟ้าใหม่เชื่อว่าคู่แข่งสำคัญทั้ง 2 ราย คือ CTH และทรูวิชั่นส์ ต่างก็เตรียมเงินทุนเอาไว้แย่งชิงในการประมูลทั้ง 2 รายการนี้ด้วยเช่นกัน โดยเขาเชื่อว่าค่าลิขสิทธิ์ของทั้ง2 รายการ น่าจะถีบตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เท่าของครั้งก่อน

“ในปีนี้ คอนเทนต์ที่เราจะนำมาใช้จัดทัพของเพย์ทีวีจะมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ คอนเทนต์จากเมืองนอก ซึ่งเราก็ซื้อมาเกือบหมดแล้ว อีกส่วนเป็นคอนเทนต์ในประเทศ (local content) ที่เราผลิตเองอีก 1-2 ช่อง ซึ่งเป็นจุดแข็งและเป็น Killer Content ที่คนอื่นไม่มี เราถึงพยายามเร่งพัฒนาคอนเทนต์ดีๆ ที่เราผลิตเองขึ้นมาเพิ่มเติม เพื่อเสริมกำลังให้คอนเทนต์เมืองนอก ที่ทุกคนต่างก็ซื้อมาเหมือนๆ กัน”

ทั้งนี้เมื่อสิ้นปี 2555 แกรมมี่ขายกล่อง GMM Z ได้ถึง 1.5 ล้านกล่อง ขณะที่ปีนี้ฟ้าใหม่ตั้งเป้าจะขายได้เพิ่มอีก 1 ล้านกล่องเป็นอย่างน้อย พร้อมกับเร่งเพิ่มฐานสมาชิกเพย์ทีวีจาก 1 แสนคน เป็น 3 แสนคนภายในสิ้นปี

ตามโรดแมพของการก้าวสู่ธุรกิจรบรอดแคสติ้งในยุคดิจิทัล อากู๋ยอมรับว่า ตลอดช่วงปี 2555 และ 2556 ถือเป็นปีที่น่าตื่นเต้นและน่าเสียวไส้ของแกรมมี่ ซึ่งเป็นช่วงเวลา 2 ปีที่เขาระบุว่า ต้องทำงานหนักที่สุดในชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลักดันธุรกิจทีวีผ่านดาวเทียมและเพย์ทีวี ซึ่งถือเป็นธุรกิจแห่งความหวังครั้งใหม่ของแกรมมี่ แต่ก็เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูงและมีการแข่งขันที่รุนแรง

อย่างไรก็ดี ทั้งอากู๋และฟ้าใหม่เห็นตรงกันว่า ด้วย “รากฐานความเป็นแกรมมี่” คือการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับโลคอลเบอร์ 1 ของในไทย บวกกับ “ความเอาจริง” ในการแสวงหาคอนเทนต์ระดับโลกมาป้อนแพลตฟอร์มของตัวเอง นี่จะเป็นจุดที่ทำให้แกรมมี่เบียดขึ้นมาเป็นแถวหน้าในธุรกิจนี้ได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด อากู๋แห่งแกรมมี่เชื่อว่า ปีหน้าจะเป็นปีที่ธุรกิจเพย์ทีวีของแกรมมี่น่าจะสำแดงฤทธิ์เดชให้เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะตัวเลขรายได้และกำไร พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งเป้าว่า ภายใน 3 ปีจากนี้ (2557-2559) ธุรกิจทีวีดาวเทียมและเพย์ทีวีของแกรมมี่น่าจะสร้างรายได้รวมกันถึง 6-8 พันล้านบาท

“เราเชื่อในการทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เหมือนธุรกิจเพลง เราเริ่มจากหาศิลปินมาจนถึงมีร้านขายซีดีของตัวเอง หลักการเดียวกันกับธุรกิจทีวีดาวเทียม เราคิดตั้งแต่การผลิตคอนเทนต์เอง หรือซื้อคอนเทนต์มา จนถึงการโปรโมต การจัดแพ็กเกจ จนถึงการมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง ฉะนั้นจุดยืนใหม่ของเราคือ เรากำลังขยับจาก Content Provider เข้าสู่ Service Provider เพื่อมุ่งสู่การเป็น Total Solution of Content Management” ฟ้าใหม่สรุป

ฟ้าใหม่เชื่อว่า ด้วยปรัชญาของธุรกิจใหม่ ในอนาคตสัดส่วนรายได้ของแกรมมี่น่าจะเป็นสัดส่วน 50-50 ระหว่างกลุ่มธุรกิจเพลงและกลุ่มธุรกิจบรอดแคสติ้ง  

ความตื่นตัวและเอาจริงเอาจังของค่ายแกรมมี่ ไม่เพียงส่งผลให้คู่แข่งสำคัญในธุรกิจทีวีดาวเทียมและเพย์ทีวี อย่าง CTH และทรูวิชั่นส์ รวมถึงคู่แข่งดั้งเดิมอย่างค่าย RS ต้องปรับตัวขนานใหญ่ แต่ยังส่งผลต่อ “ผู้ผลิตรายการ” ในฟรีทีวีที่ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

โดยล่าสุดค่าย RS เริ่มปรับกลยุทธ์โดยหันไปให้น้ำหนักความร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง PSI มากกว่าที่จะขยายฐานสมาชิกผู้รับกล่อง Sun Box โดยผู้บริหารของ RS ยอมรับว่าคอนเทนต์ของ RS เป็นเพียงคอนเทนต์ตามฤดูกาลที่ไม่สามารถจะออกอากาศได้ตลอดปี และการจับมือกับพันธมิตรจะเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ที่ดีกว่า

ปรากฏการณ์ดังกล่าวดูจะเน้นย้ำแนวความคิดของผู้บริหารของค่าย GMM และข้อเท็จจริงที่ว่า “คอนเทนต์ที่ดี” คือหัวใจของการสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินจากธุรกิจเพย์ทีวี (ดูเท่าไรจ่ายเท่านั้น) ที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท และเม็ดเงินจากการโฆษณาอีกมหาศาล ซึ่งสามารถไหลข้ามไปสู่แพลตฟอร์มใดก็ตามที่มีคอนเทนต์โดนใจลูกค้าเป้าหมายตน ไม่ว่าจะเป็นฟรีทีวี, ทีวีดาวเทียม, เคเบิลทีวี หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ตทีวี รวมถึง ทีวีดิจิตอล ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

เมื่อเวลานั้นมาถึง เชื่อได้ว่าการแข่งขันสูบเงินผ่านจอแก้วบ้านเราคงจะทวีความร้อนแรงกว่านี้อีกหลายเท่า