วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > On Globalization > เรามาลองคุยกัน

เรามาลองคุยกัน

 
เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังพำนักอยู่ในกรุงโตเกียวเมื่อหลายปีมาแล้ว กิจกรรมหนึ่งที่ช่วยเติมและสานส่งให้ความคิดคำนึงบรรเจิดจนบางครั้งเตลิดเลยเถิดไป หนึ่งในนั้นก็คงเป็น Pecha Kucha นี่ล่ะค่ะ ที่ผู้เขียนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วยความถี่มากเป็นพิเศษ
 
ความน่าสนใจของ Pecha Kucha ในกรุงโตเกียว ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพบเจอ อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งต้องเริ่มจากเจ้าของสถานที่จัดงานและรูปแบบกิจกรรมที่ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับหน่ออ่อนของการแลกเปลี่ยนทางความคิด ที่ก่อให้เกิดการต่อยอด ผลิดอกออกผลในเวลาต่อมา
 
แนวความคิดเกี่ยวกับ Pecha Kucha ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น หากแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ประมาณ chit-chat หรือ “มาคุยกัน” ในภาษาไทยบ้านๆ แบบเรา เกิดขึ้นจาก 2 สถาปนิก Astrid Klein และ Mark Dytham ที่เป็นหุ้นส่วนในบริษัท Klein-Dytham Architecture ที่ต้องการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใน Super Deluxe ไนท์คลับแบบอันเดอร์กราวน์ อีกหนึ่งในธุรกิจที่พวกเขาได้ร่วมกันลงทุนสร้างขึ้นท่ามกลางการแข่งขันสูงในย่าน Roppongi ที่ขึ้นชื่อของกรุงโตเกียว ด้วยการสร้างเอกลักษณ์ให้ Super Deluxe กลายเป็นพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมแนวทดลองที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
 
ไม่น่าเชื่อนะคะว่าจากแนวความคิดด้านการตลาดที่หวังจะสร้างให้คลับอันเดอร์กราวน์ แห่งหนึ่งให้เป็นที่รู้จัก กลายเป็นว่า Pecha Kucha ได้ยกระดับไปสู่การเป็นประหนึ่งแหล่งรวมพลของ “คนมีของ” ที่พร้อมแสดง ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนให้ผู้คนอื่นๆ ได้รับรู้ และทำให้ทั้ง SuperDeluxe และ Pecha Kucha กลายเป็นบ้านหลังใหญ่ให้กับผู้คนที่นิยมวัฒนธรรมกระแสรอง (sub-culture genre) ไปโดยปริยาย
 
กิจกรรม Pecha Kucha ไม่มีสิ่งใดซับซ้อน ใครที่มีเรื่องราว แนวคิด หรือประสบการณ์ดีๆ อยากนำมาแลกเปลี่ยนสู่ผู้คนวงกว้าง ก็เพียงแต่ติดต่อผู้จัดเข้ามา พร้อมกับเตรียมการนำเสนอในรูปแบบของ slide presentation ภายใต้กติกา 20X20 คือแต่ละหนึ่งสไลด์ที่ฉายแสดง ใช้เวลา 20 วินาที ไม่มีการย้อนทางหรือหยุดรอให้นานกว่านี้ 
 
ผู้แสดงงานจะบรรยายถึงผลงานตัวเองอย่างไรก็ได้ แต่รวมความเบ็ดเสร็จผู้แสดงผลงานแต่ละคนจะสามารถใช้เวลาได้ไม่เกิน 400 วินาที หรือ 6 นาที 40 วินาทีเท่านั้น หลังจากแสดงงานจบในแต่ละคน จะมีช่วงวิจารณ์งานมาคั่นอีก 20 วินาที เพื่อให้ผู้แสดงผลงานคนต่อไปเตรียมตัวเข้าประจำที่
 
ทั้งหมดจึงเป็นปรากฏการณ์ทางศิลปะ และความคิดที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรวดเร็วไม่เกิน 7 นาที แต่มีผลให้เกิดการพูดคุยต่อเนื่องยาวนานไปได้อีกค่อนคืน หรืออาจจะมากกว่านั้น ตามแต่ความสนใจของผู้เข้าชมงานแต่ละคน ว่าสนใจจะแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้แสดงงานท่านใดเป็นพิเศษ หรือชวนกันไปสร้างสรรค์ผลงานอย่างจริงจังในโอกาสต่อไป
 
จุดที่ถือเป็นเสน่ห์อย่างมากของ Pecha Kucha ประการหนึ่งอยู่ที่ ผู้แสดงผลงานแต่ละคนจะต้องคิดคำนึง และตกผลึกความคิดที่จะนำเสนอให้สามารถสื่อสารออกมาต่อสาธารณะได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ ภายในกรอบเวลาอันจำกัด ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า พวกเขาต้องคัดสรรแง่มุมที่ดีและเด่นจริงๆ ออกมาแสดง
 
เพราะเวทีที่เปิดกว้างนี้ อาจจะเป็นทั้งเวทีแจ้งเกิดที่เปลี่ยนผ่านชีวิตจากจุดที่ยืนอยู่ไปทั้งชีวิต หรืออาจจะกลบฝังให้จมหายไปกับความมืดของค่ำคืนให้ต้องรอคอยการกลับมาของแสงสว่างในอนาคตกันเลยทีเดียว
 
แม้ว่าในเบื้องต้นผู้คนที่เข้าร่วมในกิจกรรม Pecha Kucha จะมีภูมิหลังเป็นสถาปนิก หรือนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาร่วมกันสร้างเครือข่ายของความคิดสร้างสรรค์ แต่ความนิยมในกิจกรรม Pecha Kucha ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมกระแสรองในญี่ปุ่นเท่านั้นนะคะ หากยังขยายตัวและปลุกให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนะ และประสบการณ์ใหม่ๆ ในหมู่ผู้คนในวัฒนธรรมกระแสรองกระจายไปทั่วทุกมุมโลก
 
หากนับจากจุดเริ่มต้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2003 ที่ Pecha Kucha ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ข้อมูลในช่วง10 กว่าปีที่ผ่านมาก็ปรากฏว่ามีการจัดกิจกรรม Pecha Kucha นี้ไปแล้วมากกว่า 700 ครั้งทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา เอเชีย หรือแม้แต่ประเทศไทย ทำให้ Pecha Kucha กลายเป็นกิจกรรมที่รวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจไว้มากกว่า 3,000 เรื่องราวแล้ว
 
กิจกรรมและเรื่องราวที่ดำเนินผ่านกรอบโครงความคิดของ Pecha Kucha ได้ส่งให้ Pecha Kucha พัฒนาไปไกลกว่าการเป็นเพียงกิจกรรมนัดพบกันของ “คนชอบแสดงความมีตัวตน” หากแต่เป็นประหนึ่งสถาบันทางสังคมที่เปิดกว้างให้ผู้คนต่างภูมิหลังได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ควบคู่กับการเกิดขึ้นของ The PechaKucha Foundation ที่มุ่งหมายจะขยายบริบทของกิจกรรมนี้ให้เติบโตต่อเนื่องต่อไป
 
บางทีจุดเริ่มต้นของความคิดดีๆ อาจเกิดขึ้นง่ายๆ แค่เพียงเราเริ่มด้วยการ “มาลองคุยกัน” ก่อน ก็เป็นไปได้นะคะ