วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > ธนินท์ เจียรวนนท์ ลุยภารกิจใหญ่ ปั้นซีอีโอในอนาคต

ธนินท์ เจียรวนนท์ ลุยภารกิจใหญ่ ปั้นซีอีโอในอนาคต

ธนินท์ เจียรวนนท์ ทุ่มทั้งเวลาและเงินทุนสร้าง “สถาบันผู้นำ” ลุยภารกิจใหญ่ ปั้นผู้นำรุ่นใหม่และซีอีโอในอนาคต เพื่อรองรับอาณาจักรธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่มีการลงทุนในเกือบ 20 ประเทศ มีการค้าระหว่างประเทศอีกมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ใน 8 สายกลุ่มธุรกิจ ทั้งธุรกิจเกษตรอาหาร ธุรกิจการตลาดและลอจิสติกส์ ธุรกิจโทรคมนาคมและมีเดีย ธุรกิจเวชภัณฑ์ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมหนัก ธุรกิจสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจการเงิน มูลค่าเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

“อนาคตของซีพี ที่สำคัญที่สุดคือ คน ซีพีจะยืนหยัดมั่นคงเหมือนดาวฤกษ์ได้ต้องมีผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งจะนำพาให้คนในเครือฯ พร้อมที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกัน”

นั่นถือเป็นวรรคทองและหัวใจสำคัญที่สุด ซึ่งธนินท์เคยกล่าวผ่านสื่อ ย้ำถึงความจำเป็นในการลงทุนเกือบ 4,000 ล้านบาท ตั้งสถาบันเพื่อการพัฒนาผู้นำ C.P. Leadership Institute ในพื้นที่ 145 ไร่ ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยศึกษาข้อมูลเรื่องการสร้างคนที่ดีที่สุดขององค์กรชั้นนำระดับโลก และนำคณะผู้บริหารระดับสูงไปเยี่ยมชมองค์กรชั้นนำเหล่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท จีอี บริษัทซัมซุง และบริษัทโบอิง เพื่อศึกษาและเรียนรู้วิธีการสร้างผู้นำและนำกลับมาทดลองใช้กับเครือฯ ผ่านเวที “ผู้นำสอนผู้นำ” ถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้นำจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

จนกระทั่งเปิดหลักสูตรแรก C.P. Leadership Development Action Learning Program เน้นรูปแบบการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านการทำงานในสถานการณ์จริง และประเมินตนเองผ่านการทำงานนั้น โดยคัดเลือกผู้นำจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือฯ จำนวน 40 คน เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 3 ครั้ง ผู้เข้าร่วมหลักสูตรถูกแบ่งเป็น 6 ทีม ทีมละ 6-7 คน สมาชิกในทีมต้องทำงานร่วมกันในโครงการที่ได้รับมอบหมายและรับผิดชอบงานประจำของตนเองในเวลาเดียวกัน

งานทั้งหมดจะถูกประเมินตามหลักเกณฑ์เพื่อสะท้อนความเป็นผู้นำ ซึ่งธนินท์เคยกล่าวว่า การสร้างผู้นำรุ่นใหม่หมายถึงการสร้างซีอีโอในอนาคตของซีพี และยังถือเป็น “ทุนมนุษย์” หรือ Human Capital ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

จะว่าไปแล้ว เครือซีพีพยายามแก้ปัญหาเรื่อง “คน” ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และเร่งสะสม “ทุนมนุษย์” ไม่ต่างจากเงินลงทุนก้อนใหญ่ โดยเฉพาะช่วงที่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กำลังเร่งปูพรมขยายสาขาร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เมื่อสิบกว่าปีก่อน

เวลานั้นธนินท์เห็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านธุรกิจค้าปลีก จึงเกิดแนวคิดการผลิตบุคลากร ทั้งเปิดโรงเรียน สร้างหลักสูตรที่เป็นระบบรองรับร้านสะดวกซื้อ และหาพนักงานป้อนสาขาที่ผุดขึ้นอย่างรวดเร็วหลายพันสาขา

เริ่มจากกลุ่มซีพี ออลล์ซื้อกิจการจากโรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนท์ และตั้งบริษัท ศึกษาภิวัฒน์ จำกัด เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนท์ เป็น “โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจ” จัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี คือ สร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ เรียนทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตลอดหลักสูตร ก่อนยกฐานะเป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์”

ปี 2550 ต่อยอดเปิด “สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์” เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางที่เน้นการศึกษาและวิจัยด้านธุรกิจค้าปลีก ซึ่งนักศึกษาต้องฝึกเตรียมเข้าทำงานควบคู่กับการเรียนและได้รับค่าตอบแทน รวมทั้งมีโอกาสเข้าทำงานกับสถานประกอบการในกลุ่มซีพี ออลล์ และสถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีก โดยเปิดการเรียนการสอนทั้งหมด 9 คณะ

ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะการจัดการธุรกิจอาหาร คณะศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร คณะศึกษาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และวิทยาลัยนานาชาติ หลักสูตรการศึกษามีตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก หลักสูตรระยะสั้น โปรแกรมภาษาอังกฤษและโปรแกรมภาษาจีน

จนกระทั่ง ปี 2560 เครือซีพีตัดสินใจต่อยอดสร้างโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ “สาธิต PIM” ตั้งเป้าเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในระบบสาธิตที่ดีที่สุดในประเทศไทย

สำหรับ C.P. Leadership Institute ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงที่ธนินท์เข้าลุยด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ ปัจจุบันถือเป็น 1 ในศูนย์พัฒนาผู้นำที่เป็นมาตรฐานระดับโลก ซึ่งนอกจากการจัดหลักสูตรพัฒนาผู้นำแล้ว ธนินท์กำลังเร่งสะสมทุนมนุษย์กลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ อายุไม่เกิน 28 ปี มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นผู้นำ เพื่อค้นหาความเป็นเลิศทางธุรกิจ ภายใต้ “โครงการสร้างผู้นำผ่านธุรกิจเพื่ออนาคต” โดยคัดเลือกคนรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยทั่วโลกและกลุ่มพนักงานในเครือซีพี หรือ Young Talent ที่มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือ “เถ้าแก่น้อย” และก้าวขึ้นไปเป็นซีอีโอในอนาคตด้วย

เหตุผลสำคัญ คือ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีความคิดไม่เหมือนคนในอดีต และปัจจุบันคนรุ่นใหม่ส่วนมากอยากเป็นเถ้าแก่หรือผู้ประกอบการเอง มากกว่าทำงานในบริษัทใหญ่ๆ เกษตรกรหลายรายยังเปลี่ยนไปทำอุตสาหกรรม การเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวเข้ามาทำธุรกิจเดียวกับคนเก่าแต่ทำในวิธีใหม่ เป็นวิธีปรับเปลี่ยนองค์กรแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น คือ ยังให้คุณค่าคนเก่าและวิธีการทำงานของคนเก่า

ขณะเดียวกันเป็นการเตรียมความพร้อมให้คนหนุ่มสาวพร้อมเป็นผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อทดแทนคนเก่าที่จะค่อยๆ เกษียณอายุ

ดร.วรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันผู้นำเครือซีพี กล่าวว่า โครงการสร้างผู้นำในธุรกิจเพื่ออนาคตเริ่มต้นเมื่อปี 2560 และจัดหลักสูตรอบรมแล้ว 2 รุ่น รุ่นละ 6 เดือน ซึ่งการคัดเลือก Young Talent จะมาจาก 2 ส่วน

ส่วนแรกเป็นกลุ่ม Young Talent นอกเครือ ซึ่งคัดเลือกผ่านมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเชิญคณบดีและอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเข้ามาดูการเรียนการสอนและโปรแกรมการสร้างผู้นำ เพื่อส่งนักศึกษาเข้าร่วมโปรแกรม ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นการคัดเลือกจากพนักงานทุกบริษัทในเครือซีพี

ทั้งสองกลุ่มจะเข้าร่วมโปรแกรมการเรียนรู้และคิดพัฒนาร้านอาหารหรือธุรกิจอื่นๆ ซึ่ง Young Talent เหล่านี้จะตั้งโจทย์ หาข้อมูล และเรียนรู้จากสนามจริง เช่น สามารถขอทุนเดินทางไปดูงานร้าน Hema (เหอหม่า) ในฮ่องกง ซึ่งเป็นร้านค้าทดลองของอาลีบาบา ที่คิดค้นขึ้นภายใต้กลยุทธ์ New Retail เพื่อกลับมาสร้างโมเดลธุรกิจร้านอาหารที่มีความเป็นไปได้ในเมืองไทย

“ตอนนี้เรามีโมเดลธุรกิจร้านอาหารที่มีการเปิดกิจการแล้ว 10 แบรนด์ อย่างกรณีร้านไก่ทอดฟรายด์เดส์ก็เป็นผลผลิตหนึ่งจากการเปิดเวที เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาความเป็นผู้นำ เพื่อบุกเบิกธุรกิจใหม่ น้องแต่ละกลุ่มทั้งคนไทยและต่างประเทศ มาเสนอไอเดียการทำร้านอาหารรุ่นใหม่ คอนเซ็ปต์ต่างๆ มีทีมกลางคอยแนะนำแต่ไม่ครอบงำ และต้องบริหารเองทุกขั้นตอน” ดร.วรรณวิรัชกล่าว

ล่าสุด โครงการกำลังคัดเลือก Young Talent รุ่นที่ 3 จาก 2 รุ่นแรก ที่มีผู้ผ่านการอบรมประมาณ 400 คน ซึ่งหมายความว่า เครือซีพีสามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจแนวใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง และเตรียมแผนขยายโครงการสร้างผู้นำไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีฐานการลงทุน เช่น จีน

แม้ด้านหนึ่งดูเหมือนว่า ซีพีต้องใช้เงินลงทุนก้อนโตเพื่อสร้างสถาบันผู้นำ จัดหลักสูตร ออกค่าเล่าเรียนให้กลุ่ม Young Talent รวมถึงการลงทุนเปิดร้านต้นแบบตามโมเดลธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่ง ธนินท์สามารถสะสมทุนมนุษย์ที่มีพลัง มีศักยภาพ เป็นผู้นำรุ่นใหม่ และที่สำคัญ คือ ตัวเลือกซีอีโอในอนาคต ที่ถูกทดสอบชั้นเชิงฝีมืออย่างรอบด้านแล้ว

ใส่ความเห็น