วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “กันยง” ลุยโรดแมพ 2020 Turn Around รายได้

“กันยง” ลุยโรดแมพ 2020 Turn Around รายได้

 
“กันยง อีเลคทริก” ฉลองครบรอบ 50 ปี อย่างสาหัสสากรรจ์ หลังเจอวิกฤตยอดขายในรอบปี 2556 ติดลบต่ำกว่าเป้าหมาย 20% จนกลายเป็นที่มาของแผนเทิร์นอะราวด์พลิกสถานการณ์ ภายใต้แนวคิด “Growing for The Better Tomorrow” โดยวางยุทธศาสตร์เจาะตลาดใหม่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่เอเชียแปซิฟิก แต่ต้องกระโดดข้ามไปยึดตลาดยุโรปและทวีปอเมริกา ตามแผนโรดแมพ 2020 ของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ประกาศผลักดันยอดขายทะลุ 5 ล้านล้านเยน
 
ตามโรดแมพ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ปักธงให้ 4 ประเทศหลักในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย คือ ไทย อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นฐานการผลิตและฐานการส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก โดยใช้เครือข่ายหรือเน็ตเวิร์คของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค สำนักงานภาคพื้นเอเชียและโอเชียเนีย ซึ่งบริหารเครือข่าย 9 ประเทศ คือ ไทย อินเดีย พม่า เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและออสเตรเลีย จำนวน 28 บริษัท เป็นเน็ตเวิร์คกระจายการขยายตลาดใหม่ ๆ 
 
ในไทยเอง ถือว่ากันยงอีเลคทริกเป็นฐานการผลิตสำคัญ โดยเฉพาะตู้เย็นที่ถือเป็นฐานการผลิตแห่งที่ 2 ของมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น 
 
ดังนั้น ตลาดอาเซียนจึงกลายเป็นจุดสตาร์ทแรก เพื่อบุกตลาดใหม่อย่างเข้มข้น แม้ปัจจุบันมีการส่งออกในทุกประเทศของอาเซียนอยู่แล้ว แต่กันยงอีเลคทริกยังมีสัดส่วนเพียง 10% รวมทั้งเงื่อนไขการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้ปัจจัยการแข่งขันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง มีทั้งโอกาสและคู่แข่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจแบบพุ่งพรวดอย่างพม่า อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
 
“ปี 2558  ประเทศไทยจะเข้าสู่ตลาดร่วมเออีซี เรามั่นใจเน็ตเวิร์คต่างๆ ที่มีอยู่ หรือแม้กระทั่งอาเซียน+6 หรือ+3 เรามั่นใจว่าจะสามารถครองตลาดเหล่านั้นได้ในนาม มิตซูบิชิ อีเล็คทริค เน็ตเวิร์คต่างๆ พร้อมแล้วที่จะลุยออกไป” ประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานกรรมการบริษัท กันยง อีเลคทริก จำกัด (มหาชน) กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม โจทย์ของประพัฒน์ในฐานะแม่ทัพฝ่ายไทย ไม่ใช่แค่การบุกยึดตลาดใหม่ตามโรดแมพของฝ่ายญี่ปุ่น แต่ต้องพลิกฟื้นสถานการณ์บริษัทที่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งยอดขาย รายได้ และผลกำไร
 
ต้องถือว่ายอดขายในปี 2556 ของกันยง อีเลคทริก ซึ่งกำหนดรอบปีตั้งแต่เดือนเมษายน 2556-มีนาคม 2557 สามารถสะท้อนผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ อย่างชัดเจน เพราะเป็นช่วงจังหวะที่เกิดทั้งปัญหาการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากเจอนโยบายค่าเงินเยนอ่อนหรือ “อาเบะโนมิกส์” ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย มีการชุมนุมลากยาวนานหลายเดือน ฉุดกำลังซื้อและถล่มรายได้ยอดขายตกฮวบลงไปอีก 
 
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 บริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด (มหาชน) หรือ KYE ประกาศผลกำไรปี 2556 อยู่ที่ 506.04 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 23.00 บาท ลดลงจากปีก่อนที่กำไร 855.83 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 38.90 บาท     
 
การทำกำไรของบริษัทในรอบปีบัญชี 56 มีอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 12.7 ลดลงร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มีอัตราร้อยละ 16.4 และเมื่อพิจารณาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รายได้อื่น และภาษีเงินได้แล้ว ทำให้กำไรสุทธิในปี 56 มีจำนวน 506 ล้าบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 6.0 ต่อยอดขาย ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีอัตราร้อยละ 9.0 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ยลดลง 
 
ที่สำคัญ ยอดขายของบริษัทลดลงจากปี 2555 ร้อยละ 11.5  จาก 9,554.9 ล้านบาท เหลือ 8,459.6 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 20% ปัจจุบัน บริษัทพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกถึง 70% โดยใน 70% เป็นการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นกว่า 40% แม้มีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 30 ประเทศก็ตาม
 
การลดสัดส่วนตลาดญี่ปุ่นและเพิ่มตลาดใหม่จึงเป็นเป้าหมายที่ประพัฒน์ต้องทำให้ได้ โดยผ่านทั้งตัวแทนจำหน่ายหลักของกันยง อีเลคทริก 8 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม รวมทั้งเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายของบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กระจายทั่วตลาดเอเชียแปซิฟิก เช่น อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ปากีสถาน จีน เกาหลี สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม 
 
ประพัฒน์กล่าวว่า ปี 2557 บริษัทเริ่มผลการดำเนินงานปีใหม่ในเดือนเมษายน สถานการณ์การเมืองเริ่มดีขึ้น และช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทปรับระบบการผลิตเพื่อลดต้นทุน เพราะการเทิร์นอะราวด์ไม่ใช่ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างเดียว มีการเปิดตัวสินค้าไลน์ใหม่และเร่งขยายฐานตลาดใหม่ๆ โดยเริ่มส่งออกสินค้าไปตลาดรัสเซีย สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ซึ่งจากจุดสตาร์ทในอาเซียน บริษัทตั้งเป้าหมายอยู่ที่การเพิ่มยอดการส่งออกจากเดิม การเจาะตลาดรัสเซียเพื่อเป็นประตูเปิดไปตลาดยุโรปและการบุกประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อยอดขยายฐานตลาดอเมริกาทั้งทวีป 
 
มิโนรุ ฮากิวาร่า ผู้อำนวยการสำนักงานภาคพื้นเอเชียและโอเชียเนีย บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น เริ่มธุรกิจในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ด้วยการผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และขยายธุรกิจอีกหลากหลายรายการ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อาคารสำนักงาน Factory  Automation อุปกรณ์ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจด้านการสื่อสาร  
 
ขณะที่กันยง อีเลคทริก ถือเป็นฐานการผลิต 5 กลุ่มสินค้าหลัก คือ  พัดลม กำลังผลิต 1 ล้านยูนิตต่อปี  พัดลมระบายอากาศ 500,000 ยูนิตต่อปี ตู้เย็น 1 ล้านยูนิตต่อปี เครื่องปั๊มน้ำ 500,000 ยูนิตต่อปี และเครื่องเป่ามือ 30,000 ยูนิตต่อปี โดยถือเป็นฐานผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเทียบกับฐานผลิตอีก 4 แห่ง  ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย
 
ทั้งนี้ พัดลมระบายอากาศและเครื่องเป่ามือถือเป็นสินค้าไลน์ใหม่ที่กันยง อีเลคทริก ต้องการปรับขยายตลาดจากตลาดในกลุ่มผู้บริโภคตามบ้านเรือนเป็นระดับอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม ตึกสูงต่างๆ 
 
“เอเชียและโอเชียเนียเติบโตรวดเร็วมาก โดยปีงบประมาณ 2013 มิตซูบิชิ อีเล็คทริค มียอดขายกลุ่มธุรกิจโดยรวม 4 ล้านล้านเยน เราตั้งเป้าหมายสร้างผลสำเร็จในการขายสูงขึ้นอีกในปีงบประมาณ 2020 ให้สูงกว่า 5 ล้านล้านเยน เพื่อบรรลุผลกำไรในอัตราการดำเนินงานสูงกว่า 8%”ฮากิวาร่ากล่าว
 
แน่นอนว่า ช่วง 50 ปี ตั้งแต่ยุคนายห้างสิทธิผล โพธิวรคุณ หรือเอี๊ยบ กิมเหลี่ยง ก่อตั้งร้านสหกันยงวัฒนา สร้างสัมพันธ์กับกลุ่มมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศญี่ปุ่น อย่างยาวนาน จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด (มหาชน) จำนวน 40.81% ส่วนกลุ่มโพธิวรคุณถือหุ้นประมาณ 24.59% ที่เหลือเป็นกลุ่มตัวแทนจำหน่าย 
 
โรดแมพ 2020 เป้าหมายจึงไม่ใช่แค่แผนเทิร์นอะราวด์ของกันยงฯ แต่ยังเป็นภารกิจพลิกฟื้นสถานการณ์ครั้งสำคัญของกลุ่มมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ญี่ปุ่น ด้วย
 
Relate Story