วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > จากแผงค้าบนสะพานเหล็ก สู่เซลล์บล็อกในเมก้า พลาซ่า

จากแผงค้าบนสะพานเหล็ก สู่เซลล์บล็อกในเมก้า พลาซ่า

 
 
หลังจากรัฐบาลมีนโยบายคืนพื้นที่สาธารณะให้แก่ส่วนรวม และภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างสนองนโยบายด้วยความรวดเร็วเข้ากับยุค 4G เราจึงได้เห็นการปรับภูมิทัศน์ตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ทั้งเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น และเพื่อจำกัดกลุ่มอิทธิพลที่มีเส้นสายโยงใยอยู่ทั่วทุกมุมเมือง
 
ทัศนียภาพของสายน้ำในคลองโอ่งอ่างที่ถูกบดบังด้วยแผ่นสังกะสีที่บรรดาร้านรวงย่านสะพานเหล็กใช้กันแดด กันฝน กินเวลามายาวนานกว่า 40 ปี ระยะเวลาล่วงเลยมากระทั่งปัจจุบันย่านสะพานเหล็กจึงเป็นสถานที่ที่รู้จักกันดีว่า เป็นแหล่งที่รวบรวมสินค้าของเล่น และของสะสม เกม มากที่สุด
 
เดิมที กทม. ได้จัดให้มีจุดผ่อนผันกับผู้ค้าย่านคลองถมให้เข้ามาขายสินค้าในบริเวณด้านข้างคลองโอ่งอ่างได้ กระทั่งมีบริษัทเข้ามาประมูลเพื่อขอสัมปทานและจัดสรรพื้นที่ให้กับ กทม. เป็นเวลา 10 ปี จนมีการบุกรุกสร้างโครงเหล็กขึ้นมาคร่อมคลองโอ่งอ่าง ทำให้มีผู้ค้าเข้ามาตั้งร้านจำนวนมากขึ้น จนกลายเป็นสะพานเหล็กที่เห็นอยู่กระทั่งปัจจุบัน
 
และหลังจากบริษัทที่ได้รับสัมปทานหมดสัญญาลง แต่ผู้ค้าในเวลานั้นกลับไม่ย้ายออก จึงเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นระหว่าง กทม. และผู้ค้า แม้ว่า กทม. จะชนะคดีแต่ผู้ค้าก็ยังดื้อดึงที่จะอยู่แบบผิดกฏหมาย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อธิบาย
 
แม้จะสร้างความแปลกใจให้กับผู้ค้าที่แทบจะลงหลักปักฐานค้าขายในย่านสะพานเหล็กมาหลายสิบปี กลายเป็นผู้บุกรุกในเวลาไม่นาน แต่ที่น่าหนักใจไปกว่านั้น คือการต้องย้ายที่ทำกินภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แม้จะมีความพยายามยื่นเรื่องเพื่อขอผ่อนผันระยะเวลาการย้ายออก และเพื่อยืดเวลาในการหาสถานที่ตั้งร้านใหม่ เพราะสถานที่ที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้รองรับ เช่น บริเวณหลังห้างพาต้าปิ่นเกล้า สายใต้เก่า ตลิ่งชัน เอสซีพลาซ่า ไม่มีอะไรสามารถการันตีได้ว่าสถานที่ใหม่เหล่านี้จะเป็นที่รู้จัก หรือสะดวกต่อการเดินทางของลูกค้าขาประจำ
 
ความนิยมในย่านสะพานเหล็ก ความคุ้นชินของบรรดาผู้ค้า เหตุผลดังกล่าวทำให้ห้างสรรพสินค้าเมอรี่คิงส์ วังบูรพา ที่ถูกเทกโอเวอร์และเปลี่ยนชื่อเป็น เมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก กลายเป็นตัวเลือกแรกและถูกจับจองพื้นที่อย่างรวดเร็ว
 
บริษัท บวรพงศ์ จำกัด ทุ่มเงินงบประมาณลงทุนสำหรับการเทกโอเวอร์และรีโนเวตห้างสรรพสินค้าเมอรี่คิงส์ วังบูรพา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้จากทำเลที่ตั้งของศูนย์การค้าเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก ถือได้ว่ามีความโดดเด่น เพราะเมื่อส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแล้วเสร็จ จะทำให้สถานีวังบูรพาเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร ระหว่างสายเฉลิมรัชมงคล ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ที่มีการคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ น่าจะสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางสำหรับลูกค้าไม่น้อย
 
วัลลภ กมลวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท บวรพงศ์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก อธิบายเพิ่มเติมว่า “หลังจาก กทม. เข้ามาปรับภูมิทัศน์บริเวณสะพานเหล็ก ผู้ค้าย้ายขึ้นมาอยู่กับเมก้า พลาซ่า มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และยังได้รับการตอบรับที่ดีจากฐานลูกค้าเก่าที่เคยมาใช้บริการจับจ่ายซื้อสินค้าประเภทของเล่น ของสะสม เกม ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 30,000-50,000 คนต่อวัน สำหรับวันธรรมดา และ 90,000 คนต่อวันสำหรับวันหยุด”
 
นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะและลงตัวทั้งสำหรับผู้ค้าย่านสะพานเหล็ก ที่ยังมีพื้นที่สำหรับค้าขายในทำเลดีต่อไป และห้างเมก้า พลาซ่าจะมีรายได้จากการเช่าเต็มพื้นที่
 
เมก้า พลาซ่า สะพานเหล็กจัดสรรพื้นที่ออกเป็นสองส่วน โดยแบ่งเป็นพื้นที่ขายโฉนด 20 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่สำหรับเช่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนของค่าเช่าตารางเมตรละ 800 บาท แม้ว่าจะถูกกว่าห้างอื่นๆ แต่สำหรับผู้ค้าที่ย้ายเข้ามาใหม่นั้น อาจจะเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย เมื่อครั้งที่อยู่สะพานเหล็กเดิมไม่ต้องเสียค่าเช่าที่จึงสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูก และการปรับตัวในครั้งนี้อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องปรับราคาสินค้าสูงขึ้นไปจากเดิม
 
ทั้งนี้ดูเหมือนความกังวลของผู้ค้าจากลักษณะตลาดที่เปลี่ยนไป ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อยอดขาย ซึ่งผู้บริหารเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็กพร้อมทุ่มงบการตลาดมากถึง 10 ล้านบาท เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ของศูนย์ให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าผู้ค้าที่อยู่ย่านสะพานเหล็กไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่ข้ามฝั่งมาอยู่เมก้า พลาซ่า และหวังจะกระตุ้นกำลังซื้อในปี 2559 โดยเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย “ผู้เช่าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้” 
 
วัลลภอธิบายเพิ่มเติมว่า “โลเกชั่นของเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็กถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญนอกเหนือไปจากนี้คือการที่เราแทบจะไม่มีคู่แข่ง และยังเป็นห้างที่ครบวงจรที่สุด และมั่นใจว่าเมก้า พลาซ่าจะเป็นเบอร์ 1 ของอาณาจักรของเล่นที่พร้อมจะส่งต่อไปจนถึงรุ่นลูก” 
 
อย่างไรก็ตาม ไลฟ์สไตล์การเลือกซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาจเป็นตัวแปรสำคัญของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า เพราะความสะดวกสบายจากการชอปปิ้งผ่านอินเทอร์เน็ตที่กำลังขยายตัวมากขึ้น “ศูนย์การค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าประเภทนี้ ต้องมีการอัพเดตข้อมูลตลอดเวลา การมาเดินศูนย์การค้าเพื่อเลือกหาสินค้าสักชิ้นจำเป็นต้องมีการสร้างอารมณ์ร่วม หรือสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้เกิดขึ้นกับลูกค้าตลอดเวลา เราเชื่อมั่นว่าศูนย์ของเราเป็นศูนย์รวมของเล่น ของสะสมที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ซึ่งส่วนหนึ่งมีการโยกย้ายมาจากร้านค้าในย่านสะพานเหล็กเดิม ที่มีกลุ่มลูกค้าติดตามมายาวนาน ผู้ซื้อจะสามารถเลือกหาสินค้าได้หลากหลายประเภทในแหล่งเดียว”
 
ทั้งนี้หลังจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนมกราคม บริษัท บวรพงศ์ตั้งเป้าหมายของรายได้สูงถึง 120 ล้านบาทในปีแรก อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าจะคืนทุนใน 7-8 ปี เพราะมั่นใจการโตสวนกระแสของตลาดของเล่น ที่ยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นนักสะสมที่ยังคงจับจ่ายอย่างต่อเนื่อง
 
ดูเหมือนว่าการที่ห้างเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็กไม่ได้มีสินค้าเพียงแค่ของเล่น ของสะสม หรือเกมเท่านั้น เพราะอีก 20 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าเป็นสินค้าประเภท เสื้อผ้า จิวเวลรี่ กล้องถ่ายรูป ดูจะมีความเป็นไปได้ว่าการตั้งธงในระดับนั้น “บวรพงศ์” จะสามารถไปสู่จุดนั้นได้  
 
เพราะหากประเมินจากศักยภาพทั้งจากภายนอก ในด้านของโลเกชั่นที่มีการสัญจรที่สะดวก และปัจจัยภายในอย่างการบริหารงานที่แม้ว่าวัลลภ กมลวิศิษฎ์จะยังเป็นเพียงนักบริหารรุ่นใหม่แต่ก็มีเบื้องหลังที่ไม่ธรรมดา น่าจะเป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้เป้าประสงค์ของบริษัท บวรพงศ์ จำกัด ที่ต้องการให้ห้างเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก เป็นที่รู้จักและยอมรับได้ในเร็ววัน 
 
ความลงตัวระหว่างสถานการณ์ของผู้ค้าย่านสะพานเหล็กและผู้ประกอบการห้างเมก้า พลาซ่านั้นต่างส่งผลเกื้อหนุนกันและกัน หากแต่ยังมีความเป็นไปในอนาคตเกี่ยวกับจัดระเบียบทางเท้าที่กำลังจะเกิดขึ้นกับผู้ค้าบริเวณท่าพระจันทร์ และบางลำพู จะมีความเป็นไปได้เพียงใดที่ผู้ค้าริมทางเหล่านี้จะล้มลงบนฟูก เฉกเช่นเดียวกับผู้ค้าย่านสะพานเหล็ก
 
แม้การจัดระเบียบทางเท้าและคืนพื้นที่สาธารณะให้แก่ส่วนรวมจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของภาครัฐก็ตาม แต่คำถามคือ เหตุใดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงละเลยต่อการแก้ไข และปล่อยให้ปัญหาสะสมมานานเช่นนี้ เช่นนั้นแล้วรัฐบาลควรจะมีแนวทางที่ดีกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่