วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > หมากล้อม “ห้างหรู” ประดาบก็เลือดเดือด

หมากล้อม “ห้างหรู” ประดาบก็เลือดเดือด

 
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทอล์คออฟเดอะทาวน์ในหมู่นักชอปและแฟชั่นนิสต้าทั้งหลาย คงหนีไม่พ้นการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อลังการของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่ถือฤกษ์วันดี 8-9 พฤษภาคม สอดรับกับวันพืชมงคลเป็นช่วงเวลาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางกระแสอุณหภูมิร้อนแรงทางการเมืองที่ดูเหมือนกำลังเดินทางเข้าสู่จุดแตกหักสุดท้ายเข้าไปทุกขณะ
 
มิใช่เพียงอุณหภูมิการเมืองเท่านั้นที่ถูกเร่งเร้าให้ร้อนแรง หากแต่ในมิติของสงครามห้างหรูในตลาดบน ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นสันทนาการของผู้มีอันจะกิน ก็มีความร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนกัน และดำเนินไปท่ามกลางการช่วงชิงพื้นที่และเป้าหมายระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งกลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มเดะมอลล์ ที่ต่างพยายามขับเคี่ยวและวางกำลังไม่แตกต่างจากเกมหมากล้อมอยู่ในขณะนี้
 
“คนกลุ่มนี้ต้องการอะไรที่เป็นมากกว่าห้างสรรพสินค้า ประกอบกับเซ็นทรัล ชิดลมยังขาดเรื่องของ Food และ Entertainment แต่เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างจำกัด จึงทำอะไรได้ไม่มากนัก” ทศ จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารของกลุ่มเซ็นทรัล เคยระบุไว้
 
หากประเมินแบบเกมหมากล้อมก็จะเข้าใจได้ทันทีว่าเพราะเหตุใด เซ็นทรัล เอ็มบาสซี จึงมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์สำหรับกลุ่มเซ็นทรัล ถึงขนาดที่ต้องลงทุนครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ ไม่ใช่เพียงเพื่อการเสริมกำลังรักษาฐานที่มั่นให้กับเซ็นทรัลชิดลม ซึ่งถือเป็นเรือธงของกลุ่มเซ็นทรัลเท่านั้น หากยังต้องพร้อมที่จะรุกคืบไปข้างหน้าในการสัประยุทธ์ครั้งใหม่นี้ด้วย
 
เพราะนับตั้งแต่กลุ่มเซ็นทรัลเปิดตัว Central World ซึ่งถือเป็น “อภิมหาโครงการ” ของกลุ่มเซ็นทรัล เมื่อปี 2549 หลังจากนั้นก็ดูเหมือนว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะยังไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่โครงการใดที่มีความสำคัญต่ออนาคตของเครือได้มากมายเท่ากับโครงการ “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี” อีกแล้ว
 
“กลุ่มเซ็นทรัล ไม่เคยลงทุนในโครงการใดที่ใช้เม็ดเงินลงทุนต่อตารางเมตรมากเท่าโครงการนี้มาก่อน” ชาติ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการโครงการ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ขยายความถึงโครงการที่มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1.44 แสน ตร.ม. และงบลงทุนที่ตั้งไว้สูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท
 
ในขณะที่ฝั่งฟากของเดอะมอลล์ กรุ๊ป คู่แข่งขันรายสำคัญบนสมรภูมิค้าปลีกระดับบน ได้ประกาศแผนการลงทุนที่จะใช้เงินลงทุนจำนวนมากถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทในการสร้าง Shopping District ซึ่งนับเป็นความพยายามในการช่วงชิงพื้นที่และสร้างจุดขายครั้งใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเช่นกัน
 
ยุทธศาสตร์การขยายตัวของเดอะมอลล์ กรุ๊ป และเครือเซ็นทรัลเป็นกรณีเปรียบเทียบที่น่าสนใจศึกษาอย่างมาก เพราะในขณะที่เครือเซ็นทรัลโดยเซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN และเซ็นทรัลรีเทลคอร์ป CRC จะดำเนินมาตรการเชิงรุกด้วยการขึงตรึงพื้นที่ในเขตย่านที่มีศักยภาพสูงในทุกทิศทางของเมือง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า พระราม 2 พระราม 3 แจ้งวัฒนะ รามอินทรา รัตนาธิเบศร์ รังสิต พระราม 9 รวมถึงกระจายตัวสู่หัวเมืองต่างจังหวัดอย่างกว้างขวาง
 
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งจากเดิมเคยถูกปรามาสว่าเป็น “ห้างท้องถิ่นหัวเมือง” กลับพยายามเน้นภาพลักษณ์การเป็นผู้ประกอบการศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ หลังจากประสบความสำเร็จในการเบียดแทรกเข้ามาลงทุนในย่านสุขุมวิทด้วย ดิ เอ็มโพเรียม และตอกย้ำด้วยการร่วมลงทุนในสยามพารากอนในเวลาต่อมา
 
ก่อนที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับการขยายการลงทุนใหม่ๆ ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป จะห่างหายไปจากหน้าสื่อหลัก ท่ามกลางความพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและการเสริมสร้างพันธมิตรธุรกิจ ก่อนที่จะเปิดแผนการลงทุนครั้งใหม่ในเวลาต่อมา
 
ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ “กลุ่มเดอะมอลล์” ระบุว่า ด้วยความใหญ่ของพื้นที่จะเป็น “แม่เหล็ก” ของสินค้าและบริการ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็น “ย่านการค้า” ไม่ใช่เพียงแค่ศูนย์การค้า ยิ่งเมื่อบวกกับโมเดลของศูนย์การค้าแห่งใหม่ของเดอะมอลล์ที่เป็นคอนเซ็ปต์ผสมผสานระหว่างรีเทล-ออฟฟิศให้เช่า-เรสซิเดนต์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เธอเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็น “เมืองใหม่” และ “Landmark” แห่งการชอปปิ้งได้ไม่ยาก ตามกำหนดการ โครงการ ดิ เอ็มควอเทียร์ น่าจะเปิดตัวได้ภายในปลายปี 2557 และ ดิ เอ็มสเฟียร์จะเปิดตัวในปี 2559
 
การเปิดตัวเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ จึงเป็นประหนึ่งการโหมโรงของสนามแข่งขันในธุรกิจรีเทลระดับ “เวิลด์คลาส” ที่เชื่อได้ว่าจะร้อนระอุยิ่งๆ ขึ้นเป็นลำดับนับจากนี้ เพราะไม่ลำพังเพียงการแข่งขันจาก 2 กลุ่มหลักอย่างเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ เท่านั้น หากยังมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ พร้อมแทรกตัวเข้ามาร่วมวงไพบูลย์อีกหลายราย
 
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสยามพิวรรธน์ ที่ร่วมมือกับกลุ่มซีพี ซึ่งเตรียมเปิดตัวโครงการหรูในปี 2558 ขณะที่ “เกษร” ก็ทุ่มงบขยายพื้นที่ศูนย์การค้าให้สอดรับกับทั้งภูมิทัศน์ทางธุรกิจการค้ารอบข้างตลอดเส้นทางจากแยกปทุมวัน-ราชประสงค์-เพลินจิต-ชิดลม และสุขุมวิท ที่เป็นย่านการค้าในตลาดระดับกลาง-บนใจกลางเมืองที่จะมีพลวัตและศักยภาพสูงอย่างยิ่ง
 
หากแต่ในบางห้วงขณะ โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์เหตุบ้านการเมืองที่กำลังเขม็งเกลียวและดำเนินเข้าสู่จุดแตกหักครั้งใหญ่ การเกิดขึ้นของห้างหรูระดับ 5-6 ดาวหรือแม้กระทั่ง shopping district ใจกลางเมืองจึงอาจเป็นประหนึ่งสถานที่ลี้ภัย หรือเป็นเพียงแหล่งสันทนาการที่ดำเนินไปท่ามกลางนัยความหมายอันเปล่าเปลือง สำหรับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
 
Relate Story